What is Nostr?
Jakk Goodday
npub1mqc…nz85
2024-05-10 09:35:06

Jakk Goodday on Nostr: ผมพึ่งไปสอย **'Principles of Economics'** ...

ผมพึ่งไปสอย **'Principles of Economics'** ตำราเศรษฐศาสตร์สำนักออสเตรียน ของ อ.เซฟฟาดีน มา.. อ่านแล้วก็ครึกครื้นระรื่นใจ นั่นเป็นสาเหตุที่ผมคลอดลองฟอร์มออกมารัวๆ ปานดอกเห็ด.. นับนิ้วตอนนี้ก็ 4 ตอนเข้าไปแล้ว

หลังจากอ่านผมก็คันปากอยากเล่าต่อ.. แต่เล่ายังไงถึงจะไม่สปอยล์เนื้อหาในหนังสือมากเกินไป เล่ายังไงไม่ให้เหมือนสรุป เล่ายังไงไม่ให้พวกเราหัวบวม ผมรู้สึกว่าเนื้อหามันดี.. ความเข้าใจใหม่มันน่าแชร์ มันมีคุณค่าน่ารัก

ในมุมของผมมันไม่ใช่ตำราวิชาการ เศรษฐศาสตร์มันจำเป็นต้องเข้าใจได้ยากขนาดนั้น เพราะมันคือความเข้าใจใน 'คน' 'สังคม' และ 'โลก' มันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติแทบทั้งนั้น แปลว่ามันก็คือทุกเรื่องในชีวิตประจำวันของพวกเรา

ว่าแล้วผมก็เลยเล่าเรื่องผ่านบทละครมั่วๆ สั้นๆ จากตัวละครที่พวกเราคุ้นเคยกันดี ผ่านฉากที่เข้าใจได้ง่ายและจับต้องได้ไวไว ด้วยการสุ่มหยิบ 'keyword' สักอันมาขยายความตามที่ผมเข้าใจ สอดแทรกแง่คิด ปรัชญาและแนวทางการนำความรู้ไปปรับใช้ในแง่มุมต่างๆ เข้าไปด้วย

เพราะผมเชื่อว่า ความรู้มันจะน่าเรียนก็ต่อเมื่อมันสนุก เมื่อมันย่อยได้ง่าย เมื่อมันไม่น่าเบื่อ ไม่ต้องมานั่งท่องจำกันมากไป แค่เข้าใจมันให้ได้ เอาไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้จริงๆ ก็พอ

คำถามก็คือ.. ผมอยากรู้ว่า.. พวกเราชอบแบบนี้กันไหม? มันยาวไปหรือเปล่า? มันถี่ไปไหม? อยากได้บทละครจริงจังกว่านี้? อยากให้เรียงเนื้อหาไม่เอาแบบสุ่ม.. หรืออยากให้นำเสนอในแนวอื่น หรือเนื้อหาประเภทอื่นกันไปเลย?

Gimme a feedback please #siamstr #jakkstr

1) ทรัพยากรที่ยิ่งใหญ่ที่สุด (เวลา)

## **ทรัพยากรที่ยิ่งใหญ่ที่สุด** (The Ultimate Resource)

> *มนุษย์ทุกคนต่างถูกกำหนดโดยกระแสเวลาที่ไหลผ่านไปไม่หยุดหย่อน เราเริ่มต้นชีวิต, เติบโต, แก่ตัว, และสุดท้ายก็ดับไป ในโลกที่เวลาเป็นสิ่งมีค่าและมีจำกัด การบริหารเวลาอย่างชาญฉลาดจึงเป็นศิลปะสำคัญ ไม่ต่างจากการดูแลทรัพยากรหายากอื่นๆ ลักษณะเฉพาะของการจัดการเวลานั้นเกิดจากคุณสมบัติที่เป็นเอกลักษณ์และไม่สามารถย้อนกลับได้ของมัน*

— ลุดวิก ฟอน มีสเซส (Ludwig von Mises)


> *Man is subject to the passing of time. He comes into existence, grows, becomes old, and passes away. His time is scarce. He must economize it as he economizes other scarce factors. The economization of time has a peculiar character because of the uniqueness and irreversibility of the temporal order.

—Ludwig von Mises

---
การกระทำของมนุษย์นั้นเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ทุกการตัดสินใจทางเศรษฐกิจก็เกิดขึ้นดำเนินผ่านเวลาไป และการผลิตเองก็ต้องใช้เวลา

ซึ่งด้วยความที่มนุษย์มีชีวิตตั้งอยู่บนเวลาที่จำกัด เวลาที่เหลืออยู่บนโลกนี้ของเราจึงมีค่า และความขาดแคลนนั้นก็ทำให้เวลากลายเป็นสินค้าทางเศรษฐกิจที่มีคุณค่า

คุณลักษณะที่ไม่สามารถย้อนกลับได้ของเวลา ทำให้มันกลายเป็นสินค้าทางเศรษฐกิจที่มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร

เพราะคุณไม่สามารถซื้อเวลาที่คุณใช้ไปแล้วกลับคืนมาได้ ไม่สามารถเพิ่มเวลาของคุณได้ไม่จำกัดเหมือนอย่างสินค้าชนิดอื่นๆ

**ลุดวิก ฟอน มีสเซส** (Ludwig von Mises) และนักเศรษฐศาสตร์ออสเตรียน (Austrian economists) ต่างก็เคยได้เขียนถึงความสำคัญของการเข้าใจมิติเวลาในการกระทำของมนุษย์ และลักษณะเฉพาะของเวลาในฐานะสินค้าทางเศรษฐกิจ

นอกจากนี้มันยังถูกขยายความคิดจากงานเขียนในหนังสือ *The Ultimate Resource* ของนักเศรษฐศาสตร์อย่าง **จูเลียน ไซม่อน** (Julian Simon) ว่า.. **เวลาของมนุษย์ คือ ทรัพยากรที่ยิ่งใหญ่ที่สุด และความขาดแคลนทางเศรษฐกิจก็เป็นผลมาจากความขาดแคลนในเวลาของมนุษย์**

การประหยัดเวลาหรือบริหารจัดการเวลา (Economization of time) คือการกระทำทางเศรษฐกิจขั้นสูงสุด ซึ่งการตัดสินใจทางเศรษฐกิจแทบทั้งหมดล้วนไหลออกมาจากจุดนั้น

เพราะถ้ามีเวลามากขึ้น.. มนุษย์ก็จะสามารถผลิตสินค้าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นได้ จะไม่มีข้อจำกัดทางกายภาพที่จะผูกมัดการผลิตสินค้าใดๆ ได้ และด้วยการทุ่มอุทิศเวลาและความพยายามของมนุษย์ ผลผลิตของสินค้าใดๆ ก็สามารถเพิ่มขึ้นได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

เพียงแต่ความขาดแคลนของเวลา.. มันก็ทำให้เราต้องเลือกที่จะผลิตสินค้าต่างๆ สิ่งนี้ก็ไปสร้างความขาดแคลนของพวกมันขึ้นมา



เมื่อเด็กคนหนึ่งลืมตาขึ้นมาดูโลก.. เวลาของเขาบนโลกก็เริ่มขึ้น และเวลานั้นก็ไม่แน่นอน มันอาจจะสั้นเพียงแค่ชั่วโมงเดียว หรืออาจจะยืนยาวได้ถึงศตวรรษ

ไม่มีใครรู้ได้ว่าเขาจะมีชีวิตอยู่บนโลกไปได้นานแค่ไหน แต่ทุกคนก็รู้ว่าคงไม่มีใครอยู่ได้ตลอดไป และสุดท้ายแล้ว.. เวลาของเด็กคนนั้นจะหดหายไปจนหมดสิ้น

ด้วยการเติบโตที่มาพร้อมความตระหนักรู้นี้.. ทำให้มนุษย์เริ่มหันมาประหยัดและบริหารจัดการเวลากันมากขึ้น

เมื่อการเติบโตและการแก่ชราทำให้มนุษย์ตระหนักได้ถึงความสำคัญของ **"เวลา"** บนโลกมากขึ้นเรื่อยๆ

เวลา.. จึงมีค่ามากขึ้นสำหรับมนุษย์

ในตลาดแรงงานก็สามารถเห็นได้ จากการที่ต้องจ่ายให้กับแรงงานมนุษย์เพิ่มขึ้นไปตามเวลาที่ใช้ในการทำงานและการผลิตเพื่อเพิ่มจำนวนวัตถุทางกายภาพ ซึ่งก็ส่งผลให้ "มูลค่า" ของมันลดลงเมื่อวัดด้วยแรงงานมนุษย์

ในหนังสือของไซม่อน (Simon) ได้กล่าวเอาไว้ว่า **"เวลาของมนุษย์"** หรือ **"แรงงานมนุษย์"** คือ ทรัพยากรที่ยิ่งใหญ่ที่สุด (Ultimate Resource) เพราะมันสามารถนำไปใช้ในผลิตสินค้าทางเศรษฐกิจและทรัพยากรทุกประเภทได้

การอุทิศเวลาให้กับกระบวนการผลิตใดๆ จะนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของผลผลิตของมัน

จากข้อโต้แย้งในหนังสือของไซม่อน.. การใช้คำว่า “ทรัพยากร” ในการอธิบายสินค้าทางกายภาพเป็นคำใช้คำที่ไม่ถูกต้อง

เนื่องจากทรัพยากรทางกายภาพเป็นผลิตภัณฑ์จากการใช้ทรัพยากรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือ "เวลาของมนุษย์" ไปในการเปลี่ยนวัตถุดิบที่มีอยู่มากมายไม่สิ้นสุดให้กลายไปเป็นสินค้าทางเศรษฐกิจที่มีประโยชน์

คำว่า “ทรัพยากร” ที่เข้าใจกัน สื่อถึงสิ่งที่จะถูกมนุษย์นำมาใช้ตามการบริโภค แต่แท้จริงแล้ว "ทรัพยากร" ต้องถูกผลิตขึ้นก่อนที่จะถูกบริโภคต่างหากล่ะ (ตามข้อโต้แย้งของไซม่อน)

และการผลิตของมันที่ถูกจำกัด มันไม่ใช่เพราะความอุดมสมบูรณ์ทางกายภาพ (จำนวน) ของมันบนโลก แต่มันเป็นเพราะ.. ปริมาณ "เวลา" ที่มนุษย์อุทิศให้กับการผลิตมัน

จะเห็นได้ว่า.. แนวคิดของไซม่อนได้ชี้แจงถึงธรรมชาติของความขาดแคลนทางเศรษฐกิจในแง่ที่เกี่ยวข้องกับเวลาของมนุษย์ในฐานะทรัพยากรที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ในขณะที่นักเศรษฐศาสตร์โดยทั่วไปได้กำหนดให้ความขาดแคลนของสินค้าทางกายภาพเป็นจุดเริ่มต้นของการวิเคราะห์ทางเศรษฐกิจ

ปริมาณของสินค้าทางกายภาพที่อยู่ในโลกก็เกินกว่าที่เราจะสามารถใช้ประโยชน์ได้ทั้งหมด ปริมาณของวัสดุดิบจึงไม่ใช่สิ่งที่ทำให้มันขาดแคลนสำหรับเรา..

สิ่งที่ทำให้มันขาดแคลน คือ **"เวลา"** ที่จำเป็นในการผลิตมัน ..ซึ่งถูกจำกัดอย่างชัดเจนสำหรับเรา

สรุปได้ว่า.. "เวลามีค่า.. ศึกษาบิตคอยน์"

อ้าว.. ซะงั้น

---

เรียบเรียงขึ้นใหม่ (ไม่ใช่แปล) จากเนื้อหาส่วนหนึ่งในบทที่ 3 ของหนังสือ Principles of Economics ผลงานของ Saifedean Ammous

#siamstr #jakkstr #time #scarcity


2) Marginal utility - ปรัชญาแห่งแก้วเบียร์

## **Marginal utility - ปรัชญาแห่งแก้วเบียร์**
### จากอรรถประโยชน์ส่วนเพิ่มสู่ความสุขที่พอดี 🍻

เสียงดนตรีโฟล์คซองบรรเลงแผ่วเบาภายในร้าน ภายใต้แสงไฟสีส้มนวลซึ่งทอดตัวลงบนโต๊ะไม้ขัดเงา ก่อให้เกิดบรรยากาศที่อบอุ่นและผ่อนคลาย


คืนนี้เป็นคืนพิเศษ.. กลุ่มแก็งค์ Right Shift กำลังสังสรรค์ พูดคุยย้อนความหลัง และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ชีวิต

แก้วเบียร์ใบแรกถูกยกขึ้น.. ฟองสีขาวนวลลอยฟู ส่งกลิ่นฮ็อพหอมกรุ่น ทุกคนจิบมันอย่างช้าๆ ดื่มด่ำกับเนื้อหนัง รสชาติ และความรู้สึกสดชื่นที่แผ่ซ่านไปทั่วร่างกาย

"แก้วแรกนี่มันช่างวิเศษจริงๆ" จิงโจ้เอ่ยขึ้น

"เหมือนทฤษฎีอรรถประโยชน์ส่วนเพิ่มที่เราพึ่งอ่านเลย หน่วยแรกของสินค้ามักให้ความพึงพอใจสูงสุด" ซุปกล่าว

เสียงหัวเราะดังขึ้นเบาๆ ตามมาด้วยบทสนทนาเกี่ยวกับทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ออสเตรียนที่พวกเขาเคยเรียน

“อรรถประโยชน์ส่วนเพิ่ม” หรือ “Marginal Utility” เป็นแนวคิดที่ว่า ความพึงพอใจที่ได้รับจากการบริโภคสินค้าหรือบริการจะลดลงไปเรื่อยๆ เมื่อมีปริมาณการบริโภคเพิ่มมากขึ้น

เหมือนกับเบียร์แก้วแรกที่ให้ความสดชื่นสูงสุด แต่แก้วต่อๆ ไป ความสดชื่นก็จะลดลงและถูกแทนที่ด้วยความเมา..

จากนั้นแก้วที่สองก็ถูกยกขึ้น..

บทสนทนาเริ่มออกรสออกชาติ พวกเขาเล่าถึงประสบการณ์ชีวิต ความสำเร็จ ความล้มเหลว รวมถึงบทเรียนที่ได้รับ

เบียร์แก้วที่สองเปรียบเสมือนตัวช่วยคลายความกังวล เปิดใจให้กว้าง และรับฟังกันและกัน มันช่วยกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ และสร้างบรรยากาศที่เป็นกันเอง

เหมือนที่นักปรัชญากรีกโบราณนิยมดื่มไวน์เพื่อกระตุ้นความคิด และสร้างบทสนทนาเชิงปรัชญา

แก้วที่สาม.. เสียงหัวเราะดังขึ้นบ่อยครั้ง มุกตลกที่เคยแป้ก กลับกลายเป็นเรื่องขบขัน ความคิดอ่านเริ่มเป็นอิสระ ชักจะโลดแล่นไปไกล

เบียร์แก้วที่สามช่วยเปิดมุมมองใหม่ๆ และทำให้มองโลกในแง่ดี เหมือนกับที่ศิลปินหลายคนใช้แอลกอฮอล์เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงาน

แต่… เมื่อถึงแก้วที่สี่

พวกเขาเริ่มรู้สึกมึนหัว.. การสนทนาเริ่มวกวน ความคิดเริ่มไม่ปะติดปะต่อ ร่างกายส่งสัญญาณเตือนว่า "พอได้แล้ว" อรรถประโยชน์จากเบียร์ชักจะลดลง ความสุขเริ่มจางหาย แทนที่ด้วยความรู้สึกไม่สบายตัวสักเท่าไหร่

การฝืนดื่มแก้วที่ห้า หรือหก ไม่ได้ช่วยให้ความสุขกลับคืนมา ความเมาที่กำลังเพิ่ทขึ้นมีแต่จะทำให้แย่ลง เหมือนกับการบริโภคสิ่งต่างๆ ที่มากเกินไป มันมักจะนำมาซึ่งผลเสียมากกว่าผลดี

คืนนั้น.. พวกเขากลับบ้านพร้อมกับความทรงจำดีๆ และบทเรียนอันล้ำค่า พวกเขาเรียนรู้ที่จะ "พอ" และเข้าใจว่าความสุขที่แท้จริงไม่ได้อยู่ที่ปริมาณแต่อยู่ที่ความพอดี และความสมดุล

เหมือนกับปรัชญา "ทางสายกลาง" ของพระพุทธเจ้า ที่สอนให้เราดำเนินชีวิตโดยไม่ตึงหรือหย่อนจนเกินไป เพื่อให้เกิดความสุขที่ยั่งยืน

"อรรถประโยชน์ส่วนเพิ่ม" และ "แก้วเบียร์" สอนให้เรารู้ว่า ความสุขไม่ได้อยู่ที่การไขว่คว้า หรือการบริโภคแต่อยู่ที่การรู้จักพอ และดื่มด่ำกับสิ่งที่มีอยู่อย่างมีสติ


รุ่งเช้า.. แสงแดดอ่อนๆ ส่องลอดผ้าม่านเข้ามา ปลุกให้ทุกคนตื่นจากภวังค์ ความทรงจำจากค่ำคืนที่ผ่านมาค่อยๆ ผุดขึ้น พร้อมกับอาการปวดหัวตุ๊บๆ

บทสนทนาเกี่ยวกับ "อรรถประโยชน์ส่วนเพิ่ม" และ "แก้วเบียร์" ยังคงก้องอยู่ในหัว พวกเขาเริ่มตระหนักว่า หลักการนี้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่การดื่มเบียร์ แต่มันสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการตัดสินใจบริโภคและการจัดสรรทรัพยากรในชีวิตประจำวันได้

"เมื่อวาน แก้วที่สี่ของผมมันไม่คุ้มค่าเลย ทั้งรสชาติ ความรู้สึก และเงินที่เสียไป" ขิงพูดขึ้น

"ถ้ารู้แบบนี้ สั่งแค่สามแก้วก็พอ" อิสระกล่าว

"จริง เหมือนกับตอนเราซื้อเสื้อผ้า รองเท้า หรือของสะสมต่างๆ ชิ้นแรกๆ มักจะให้ความสุข และความตื่นเต้น แต่พอมีมากขึ้น ความรู้สึกเหล่านั้นก็จะลดลง สุดท้ายก็กลายเป็นของรกบ้าน" อาร์มเสริม

พวกเขาเริ่มวิเคราะห์พฤติกรรมการบริโภคของตัวเอง และพบว่าหลายครั้งที่พวกเขาตัดสินใจซื้อสินค้าหรือบริการ โดยไม่ได้คำนึงถึง "อรรถประโยชน์ส่วนเพิ่ม" ปล่อยให้อารมณ์ ความอยาก และการตลาดชี้นำ ส่งผลให้สิ้นเปลืองเงิน และทรัพยากรไปกับสิ่งที่ไม่จำเป็น

"เราควรจะฉลาดกว่านี้ในการใช้เงิน" เจ้าหลามเสนอขึ้นมา

"ก่อนจะซื้ออะไร ลองถามตัวเองก่อนว่า เราต้องการมันจริงๆ ไหม มันจะช่วยเพิ่มความสุข หรือคุณภาพชีวิตของเราจริงหรือเปล่า และมันคุ้มค่ากับเงินที่เสียไปไหม" เทนโด้เสนอบ้าง

"ใช่.. และเราควรจะให้ความสำคัญกับประสบการณ์และความสัมพันธ์ มากกว่าวัตถุ" จิงโจ้เสริม

"การไปเที่ยว การเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ การใช้เวลากับคนที่เรารัก มักจะให้ความสุขที่ยั่งยืนกว่าการซื้อของ" หมอนิวกล่าวสมทบ

พวกเขาตกลงกันว่า จะนำหลักการ "อรรถประโยชน์ส่วนเพิ่ม" ไปปรับใช้ในการตัดสินใจบริโภคและการจัดสรรทรัพยากร เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด และมีความสุขที่ยั่งยืน

"อรรถประโยชน์ส่วนเพิ่ม" สอนให้เราเป็นผู้บริโภคที่ชาญฉลาด รู้จักจัดลำดับความสำคัญและใช้ทรัพยากรได้อย่างคุ้มค่า เพื่อสร้างความสุขและคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างแท้จริง

## **จากภาพรวมสู่รายละเอียด**
ลองนึกภาพว่าเบียร์ทั้งขวดคือ "อรรถประโยชน์" (Utility) หรือความพึงพอใจทั้งหมดที่เราได้รับจากการดื่มเบียร์ขวดนั้น

ส่วน "อรรถประโยชน์ส่วนเพิ่ม" (Marginal utility) คือความพึงพอใจที่เราได้รับจากการดื่มเบียร์เพิ่มแต่ละแก้ว หรือแต่ละอึก

### แก้วแรก.. ความสุขเต็มเปี่ยม
อรรถประโยชน์รวมสูง เพราะเราเริ่มจากความสดชื่นเป็นศูนย์ และความผ่อนคลายที่ได้รับจากแก้วแรกสร้างความพึงพอใจเป็นอย่างมาก

อรรถประโยชน์ส่วนเพิ่มสูงสุด เพราะเป็นแก้วแรกที่ดับกระหายและคลายร้อน

### แก้วที่สอง.. ความสุขเพิ่มขึ้น
อรรถประโยชน์รวมเพิ่มขึ้น แต่ไม่ได้มากเท่ากับแก้วแรก เพราะความสดชื่นชักเริ่มจะลดลง

อรรถประโยชน์ส่วนเพิ่มลดลง แต่ยังคงเป็นบวก เพราะยังคงให้ความสุขและความผ่อนคลาย

### แก้วที่สาม.. ความสุขคงที่
อรรถประโยชน์รวมเพิ่มขึ้นเล็กน้อย หรืออาจจะคงที่ เพราะเริ่มรู้สึกเมาๆ ตึงๆ

อรรถประโยชน์ส่วนเพิ่มใกล้ศูนย์ หรืออาจจะติดลบ เพราะความสุขจากการดื่ม (คนละเรื่องกับความสุขจากการสนทนาหรือบรรยากาศบนโต๊ะ) เริ่มน้อยลง และอาจรู้สึกอึดอัดจากความกระอักกระอ่วน

### แก้วที่สี่.. ความสุขลดลง
อรรถประโยชน์รวมเริ่มลดลง เพราะความรู้สึกไม่สบายจากการดื่มมากเกินไป ..เมาแล้วนั่นแหละ

อรรถประโยชน์ส่วนเพิ่มติดลบ เพราะการดื่มต่อไม่ได้ให้ความสุข มีแต่จะทำให้แย่ลง เริ่มจะมวนท้อง

### แก้วที่ห้า.. ความทุกข์มาเยือน
อรรถประโยชน์รวมลดลงอย่างมาก เพราะความรู้สึกไม่สบายเนื้อไม่สบายตัว และอาจจะเมาหนักข้อขึ้น

อรรถประโยชน์ส่วนเพิ่มติดลบอย่างมาก เพราะการดื่มต่อมีแต่จะสร้างความทุกข์ เริ่มอ้วกพุ่ง เริ่มเดินโซซัดโซเซ

สรุปว่า.. "อรรถประโยชน์" (Utility) คือ ภาพรวมของความสุขหรือความพึงพอใจที่ได้รับจากการบริโภคสินค้าหรือบริการ

ส่วน "อรรถประโยชน์ส่วนเพิ่ม" (Marginal utility) คือ ความสุขหรือความพึงพอใจที่ได้รับจากหน่วยเพิ่มเติมของสินค้าหรือบริการนั้น (เมื่อบริโภคสินค้านั้นเพิ่มขึ้น)

> โดยทั่วไป.. อรรถประโยชน์ส่วนเพิ่มจะลดลง เมื่อมีปริมาณการบริโภคเพิ่มมากขึ้น

การเข้าใจความแตกต่างระหว่าง "อรรถประโยชน์" และ "อรรถประโยชน์ส่วนเพิ่ม" ช่วยให้เราตัดสินใจบริโภคได้อย่างชาญฉลาดและรู้จัก "พอ" ก่อนที่ความสุขจะกลายเป็นความทุกข์

## **เข็มทิศนำทางสู่การตัดสินใจอย่างชาญฉลาด**
บทสนทนาของกลุ่ม Right Shift ยังคงดำเนินต่อไป.. พวกเขาเริ่มมองเห็นความเชื่อมโยงระหว่าง "อรรถประโยชน์ส่วนเพิ่ม" กับหลักการทางเศรษฐศาสตร์อื่นๆ ที่ส่งผลต่อการตัดสินใจของผู้บริโภค..

"อรรถประโยชน์ส่วนเพิ่ม" ช่วยให้เราเข้าใจว่า ผู้คนจะเลือกบริโภคสินค้าและบริการ ตามลำดับความสำคัญของความต้องการและความจำเป็น สินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต เช่น อาหาร น้ำ ที่อยู่อาศัย มักจะมีอรรถประโยชน์สูง ในขณะที่สินค้าฟุ่มเฟือย เช่น ของแบรนด์เนม รถหรู จะมีอรรถประโยชน์ลดหลั่นลงมา

ทรัพยากรของเรามีจำกัด ไม่ว่าจะเป็นเงิน เวลา หรือพลังงาน "อรรถประโยชน์ส่วนเพิ่ม" ช่วยให้เราจัดสรรทรัพยากรเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเลือกบริโภคสินค้าและบริการที่ให้ความพึงพอใจสูงสุด และลดการบริโภคสิ่งที่ให้ความพึงพอใจต่ำ

"อรรถประโยชน์ส่วนเพิ่ม" ช่วยอธิบายว่า ทำไมผู้คนถึงตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของราคา และปัจจัยอื่นๆ เช่น เมื่อราคาสินค้าลดลง อรรถประโยชน์ส่วนเพิ่มของมันจะเพิ่มขึ้น (น่าซื้อ มันไม่แพง) ทำให้ผู้คนต้องการบริโภคมากขึ้น หรือ เมื่อมีสินค้าทดแทนที่ให้ความพึงพอใจมากกว่า ผู้คนก็จะหันไปบริโภคสินค้าทดแทนนั้น

“อรรถประโยชน์ลดหลั่น” ซึ่งหลักการนี้เป็นหัวใจสำคัญของ "อรรถประโยชน์ส่วนเพิ่ม" มันอธิบายว่า ยิ่งเรามีสินค้าหรือบริการมากขึ้น ความพึงพอใจที่ได้รับจากหน่วยเพิ่มเติมเหล่านั้นก็มักจะลดลง

ดังนั้น.. เราควรบริโภคในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อให้ได้รับประโยชน์สูงสุด

มันเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เราเข้าใจพฤติกรรมของผู้บริโภค และนำไปประยุกต์ใช้ในการตัดสินใจต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการใช้เงิน การลงทุนหรือแม้แต่การใช้ชีวิต
มันสอนให้เรารู้จัก "เลือก" "จำกัด" และ "พอ" เพื่อให้เกิดความสุขและความสมดุล ในทุกๆ ด้านของชีวิต

ก็เหมือนกับการดื่มเบียร์.. แก้วแรกอาจจะสดชื่น แต่แก้วที่ห้าอาจจะเริ่มทำให้ปวดหัว การบริโภคทุกอย่าง ล้วนมี "จุดพอดี" ที่ให้ความสุขสูงสุด และ "อรรถประโยชน์ส่วนเพิ่ม" ก็คือเข็มทิศที่ช่วยนำทางเราไปสู่จุดนั้น


## **มองข้ามแก้วเบียร์ สู่ความหมายที่ลึกซึ้ง**
หลังจากถกเถียงกันอย่างออกรส.. กลุ่ม Right Shift ก็เริ่มตระหนักได้ว่า "อรรถประโยชน์ส่วนเพิ่ม" สามารถนำไปนิยามในบริบทอื่นๆ นอกเหนือจากการบริโภคสินค้าและบริการได้อีกมากมาย

### อรรถประโยชน์ส่วนเพิ่มของเวลา
เวลาเป็นทรัพยากรที่มีค่าและมีจำกัด การใช้เวลาแต่ละนาที แต่ละชั่วโมง ล้วนมี "อรรถประโยชน์ส่วนเพิ่ม"

เช่น การใช้เวลา 1 ชั่วโมงแรกในการอ่านหนัง อาจจะให้ความรู้และความเพลิดเพลิน แต่การอ่านต่อเนื่องเป็นชั่วโมงที่ 5 อาจจะทำให้เกิดความเบื่อหน่ายและเหนื่อยล้า ดังนั้น.. เราควรจัดสรรเวลาให้เหมาะสมเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

### อรรถประโยชน์ส่วนเพิ่มของความรู้
การเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เป็นสิ่งที่ดี แต่การเรียนรู้มากเกินไป โดยไม่มีการนำไปใช้ หรือ การเรียนรู้แบบหว่านแห ไม่เจาะลึก อาจจะไม่ได้ให้ประโยชน์เท่าที่ควร

ดังนั้น.. เราควรเลือกเรียนรู้สิ่งที่จำเป็นและสามารถนำไปใช้ได้จริง เพื่อให้เกิด "อรรถประโยชน์ส่วนเพิ่ม" สูงสุด

### อรรถประโยชน์ส่วนเพิ่มของความสัมพันธ์
ความสัมพันธ์ที่ดีนั้นสร้างความสุขและความมั่นคง ให้กับชีวิต แต่การใส่ใจและให้เวลากับคนทุกคน มากเกินไป อาจจะทำให้เราเหนื่อยล้าและละเลยความสัมพันธ์ที่สำคัญ

ดังนั้น.. เราควรให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดและมีคุณค่า เพื่อให้เกิด "อรรถประโยชน์ส่วนเพิ่ม" ที่ยั่งยืน

### อรรถประโยชน์ส่วนเพิ่มของการพักผ่อน
การพักผ่อนเป็นสิ่งจำเป็น แต่การพักผ่อนมากเกินไป อาจจะทำให้เราขาดความกระตือรือร้นและเสียโอกาสหลายๆ อย่าง

ดังนั้น.. เราควรจัดสรรเวลาพักผ่อนให้เหมาะสม เพื่อให้ร่างกายและจิตใจได้รับการฟื้นฟู และพร้อมที่จะทำงานหรือทำกิจกรรมต่างๆ อย่างเต็มที่

จะเห็นได้ว่ามันเป็นหลักการที่สามารถนำไปปรับใช้ได้กับทุกแง่มุมของชีวิต มันช่วยให้เราเข้าใจว่า ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนมี "จุดพอดี" ที่ให้ประโยชน์สูงสุด และการรู้จัก "พอ" คือหนทางสู่ความสุข และความสำเร็จที่ยั่งยืน

## **คำแปลอื่นที่เป็นไปได้ของ "Marginal Utility" นอกเหนือจาก "อรรถประโยชน์ส่วนเพิ่ม" **
บทสนทนาของกลุ่ม Right Shift เริ่มเข้มข้นขึ้น.. พวกเขาไม่เพียงแต่ถกเถียงถึงความหมายและการประยุกต์ใช้ "อรรถประโยชน์ส่วนเพิ่ม" แต่ยังสนใจที่จะหาคำแปลภาษาไทยที่เหมาะสม และแสดงถึงความหมายได้อย่างครบถ้วน นอกเหนือจากคำว่า "อรรถประโยชน์ส่วนเพิ่ม" ที่อาจจะฟังดูแข็งและเป็นทางการจนเกินไป

"เราลองมาคิดคำแปลอื่นๆ ที่ฟังดูเป็นธรรมชาติ และเข้าใจง่ายกว่านี้ไหม" ขิงเสนอ

"อืม... ลองดูสิ" จิงโจ้ส่งสัญญาณทุกคนเริ่มระดมความคิดและเสนอคำแปลต่างๆ

“ประโยชน์ส่วนเพิ่ม” คำนี้ตรงตัวและเข้าใจง่าย แต่ยังคงความเป็นทางการอยู่บ้าง

“ผลตอบแทนส่วนเพิ่ม” เน้นที่ผลที่ได้รับ ซึ่งอาจจะเป็นความสุข ความพึงพอใจ หรือประโยชน์อื่นๆ

“ความคุ้มค่าส่วนเพิ่ม” เน้นที่การเปรียบเทียบระหว่างผลที่ได้รับกับต้นทุน หรือทรัพยากรที่เสียไป

“ความสุขส่วนเพิ่ม” เน้นที่ความรู้สึก และประสบการณ์ที่ได้รับจากการบริโภค

“ผลลัพธ์ส่วนเพิ่ม” เป็นคำกลางๆ ที่สามารถใช้ได้ในหลายบริบท

“กำไรส่วนเพิ่ม” ใช้ในบริบททางธุรกิจ เน้นที่ผลกำไรที่ได้รับจากการขายสินค้าหรือบริการ

“ผลที่เพิ่มขึ้น” เน้นที่การเปลี่ยนแปลง หรือการเพิ่มขึ้นของผลลัพธ์

“ความพอใจส่วนเพิ่ม” เน้นที่ความรู้สึกพึงพอใจ ที่ได้รับจากการบริโภค

“การเลือกใช้คำแปลจึงขึ้นอยู่กับบริบทและความเหมาะสม บางครั้งเราอาจจะต้องใช้คำอธิบายเพิ่มเติม เพื่อให้ผู้อ่านหรือผู้ฟัง เข้าใจความหมายได้อย่างถูกต้อง” จิงโจ้ให้คำแนะนำทิ้งท้ายกับน้องๆ

“อ้าว.. แล้ว ‘ความเมาส่วนเพิ่ม’ ล่ะพี่.. ใช้กับอะไรดี?” อิสระเอ่ยถามขึ้นมาอย่างกวนๆ

ก่อนที่ซุปจะตัดบทขึ้นมาว่า..

“เอาบิตคอยน์ไปซื้อเบียร์ดีเจต้ากันเถอะป่ะ..”

#jakkstr #siamstr #AustrianEconomy #MarginalUtility


3) Time preference กับเสต็คเนื้อแห่งอนาคต

## **Time preference กับ เสต็คเนื้อแห่งอนาคต**
กลิ่นหอมกรุ่นของเนื้อย่างโชยแตะจมูก.. ภายในร้านเสต็คเนื้อบรรยากาศสุดคลาสสิค แสงไฟสลัวส่องกระทบผนังอิฐเปลือย ภาพวาดวัวกระทิงแขวนเรียงราย บ่งบอกถึงความเป็น "Meat Lover" ของเจ้าของร้าน ทีมงาน Right Shift 3 หน่อกำลังนั่งล้อมโต๊ะไม้ขัดเงา ..รอคอยเมนูจานหลัก



"นี่มันเหมือน Marshmallow Test ชัดๆ"

itssara (npub1z7k…xre4) เอ่ยขึ้นพลางจ้องมองเสต็คเนื้อริบอายชิ้นโตตรงหน้า..

"จะกินเลยตอนนี้มันก็ฟิน แต่ถ้านั่งรออีกสักพักก็จะได้เวลล์ดันที่สุกกำลังดี"

"มันคือ Time Preference ล้วนๆ" SOUP (npub16hp…tu5f) เสริม

"เราให้คุณค่ากับความสุขตอนนี้ทันทีมากกว่าผลตอบแทนในอนาคตมากแค่ไหน"

Time Preference หรือ ความเห็นแก่เวลา เป็นแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ พฤติกรรมศาสตร์ และจิตวิทยา ที่อธิบายว่าคนเรามีมุมมองต่อ "คุณค่าของเวลา" แตกต่างกัน บางคนให้ความสำคัญกับปัจจุบันมากกว่าอนาคต (High Time Preference) ในขณะที่บางคนมองการณ์ไกล ยอมรอผลตอบแทนในระยะยาว (Low Time Preference)

Jingjo (npub15l5…7rgk) บก. พี่ใหญ่ของทีมขมวดคิ้ว.. "พวกที่เห็นแก่เวลามากๆ (High Time Preference) ก็เหมือนตอนเด็กๆ ที่เลือกกินมาร์ชเมลโลว์ทันทีแทนที่จะรอสองชิ้นนั่นแหละ"

"ก็ชีวิตมันไม่แน่นอนอะครับ" อิสระเสริม

"ใครจะไปรู้ว่าพรุ่งนี้จะเกิดอะไรขึ้น ก็กินมันเลยตอนนี้แหละชัวร์สุด"

ความไม่แน่นอนของชีวิต เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อ Time Preference เมื่ออนาคตยิ่งดูเลือนลาง คนก็ยิ่งอยากไขว่คว้าความสุขในปัจจุบันให้มากที่สุดเอาไว้ก่อน

"แต่ถ้ารอหน่อย ก็ได้ความสุขที่มากขึ้นนะ" ซุปโต้แย้ง

"เหมือนเสต็คเวลล์ดันที่สุกทั่วถึง รสชาติมันเข้มข้นกว่ากันเยอะ"

"ก็เหมือนกับการออมเงินนั่นแหละ" จิงโจ้เสริม

"มันก็คือการรู้จักอดเปรี้ยวไว้กินหวาน"

การออม และ การลงทุน เป็นตัวอย่างของพฤติกรรมที่แสดงถึง Low Time Preference (ไม่เห็นแก่เวลา) ซึ่งก็คือการยอมเสียสละความสุขในปัจจุบัน เพื่อรอผลตอบแทนที่มากขึ้นในอนาคต

บทสนทนาของทีม Right Shift เริ่มเข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ พวกเขาเริ่มมองเห็นความเชื่อมโยงระหว่าง Time Preference กับการตัดสินใจในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่การกินเสต็คเนื้อไปจนถึงการวางแผนอนาคต

"แต่มันก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่างเหมือนกันนะครับ" อิสระแย้ง

"เพราะถ้าอนาคตมันดูไม่แน่นอน ใครจะไปกล้ารอล่ะครับพี่"

ความไม่แน่นอน (Uncertainty) คือ ยิ่งอนาคตดูเลือนลาง มีความเสี่ยงสูง คนก็ยิ่งมีแนวโน้มเลือกความสุขในปัจจุบัน เพราะไม่มั่นใจว่าจะได้รับผลตอบแทนในอนาคตจริงหรือเปล่า



"ก็เหมือนกับร้านนี้" ซุปชี้ไปที่ครัวเปิด

"ถ้าเห็นเชฟทำเนื้อไหม้อยู่ตลอด ใครจะกล้าสั่งเวลล์ดันล่ะ"

ความเชื่อมั่น (Trust) คือ หากมีความเชื่อมั่นว่าจะได้รับผลตอบแทนในอนาคตอย่างแน่นอน คนก็จะมีแนวโน้มยอมรอ แต่ถ้าเชื่อว่ามีความเสี่ยงสูง (อย่างกรณีนี้คือสั่งเวลล์ดันแล้วได้เนื้อไหม้ตลอด) ก็คงไม่มีใครอยากรอ

"ความเชื่อมั่นก็สำคัญแหละ" จิงโจ้กล่าว

"ถ้ารู้ว่าผลตอบแทนในอนาคตมันดีจริง คนก็ยอมรอ"

อีกปัจจัยก็คือ อายุ (Age) โดยทั่วไป เด็กและวัยรุ่นมักจะมี High Time Preference เน้นความสุขระยะสั้น ในขณะที่ผู้ใหญ่และผู้สูงอายุมักมี Low Time Preference มองการณ์ไกลและให้ความสำคัญกับอนาคตมากขึ้น

"เหมือนการลงทุนระยะยาว" ซุปเสริม

"ต้องเชื่อมั่นในศักยภาพของมัน ถึงจะยอมรอผลตอบแทนได้"

การลงทุนระยะยาว เช่น กองทุนรวม, หุ้น, อสังหาริมทรัพย์ รวมไปถึงการเก็บออมในบิตคอยน์ ก็ล้วนต้องการ Low Time Preference เพื่อรอผลตอบแทนที่งอกเงยในอนาคต

"Time Preference มันสะท้อนในการตัดสินใจทุกอย่างเลยเนอะ" อิสระกล่าว

"ตั้งแต่การใช้เงิน การดูแลสุขภาพ การเรียน การทำงาน"

จิงโจ้ได้กล่าวเสริมอิสระไปว่า..

“Time Preference ส่งผลต่อการตัดสินใจในชีวิตประจำวันมากมาย เช่น การใช้จ่าย ซื้อของฟุ่มเฟือยทันที vs. ออมเงินเพื่อซื้อของที่ต้องการในอนาคต”

“หรือจะเรื่องสุขภาพ อย่างการกินอาหาร Fast Food vs. เลือกอาหารเพื่อสุขภาพ”

“หรือการศึกษา ที่ต้องเลือกระหว่างเรียนจบเร็วๆ เพื่อทำงาน vs. ศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น”

“ทีนี้การทำงาน ก็ต้องเลือกงานที่เงินเดือนสูง แต่เครียด vs. เลือกงานที่เงินเดือนน้อย แต่มีความสุข”



คราวนี้ซุปยกตัวอย่างบ้าง.. "เหมือนการเลือกเสต็ค"

"จะเน้นปริมาณ หรือเน้นคุณภาพ จะกินเนื้อติดมัน หรือเนื้อสันใน"

เน้นปริมาณ (High Time Preference) เลือกเสต็คเนื้อติดมันราคาถูก กินให้อิ่มในปัจจุบัน

เน้นคุณภาพ (Low Time Preference) เลือกเสต็คเนื้อสันในราคาแพง เพื่อรสชาติและประสบการณ์ที่ดีกว่า

Time Preference กับปรัชญาการใช้ชีวิต

"มันคือปรัชญาในการใช้ชีวิต" จิงโจ้สรุป

"เราจะใช้ชีวิตแบบวันต่อวัน หรือจะวางแผนเพื่ออนาคต"

“Time Preference ไม่ใช่แค่แนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ แต่มันสะท้อนถึงปรัชญาการใช้ชีวิตของแต่ละคนด้วย

Carpe diem (High Time Preference) ใช้ชีวิตให้เต็มที่ในปัจจุบัน

Delayed Gratification (Low Time Preference) ยอมเสียสละความสุขในปัจจุบัน เพื่อผลตอบแทนที่มากขึ้นในอนาคต..”

3 หน่อ Right Shift เริ่มเข้าใจ Time Preference มากขึ้นหลังการถกเถียง พวกเขาตระหนักว่าการหาจุดสมดุลระหว่างปัจจุบันและอนาคต เป็นสิ่งสำคัญในการสร้างความสุขและความสำเร็จ

"แต่ก็ต้องหาจุดสมดุลให้เจอ" อิสระเสริม

"ถ้ามัวแต่รออนาคต ก็อาจพลาดความสุขปัจจุบัน มัวแต่สนุกในวันนี้ ก็อาจจะลำบากในวันหน้าเอาได้"

การหาจุดสมดุลระหว่าง High Time Preference และ Low Time Preference เป็นสิ่งสำคัญ

High Time Preference ใจเร็วด่วนได้มากเกินไป อาจนำไปสู่การใช้จ่ายเกินตัว, ปัญหาสุขภาพ, ขาดความมั่นคงในอนาคต

Low Time Preference อดเปรี้ยวไว้กินหวานมากเกินไป อาจทำให้พลาดโอกาสในการสร้างความสุขในปัจจุบัน, เครียด จนกดดันตัวเองมากเกินไป

"เหมือนการกินนั่นแหละ" ซุปกล่าว

“การกินอาหาร เป็นตัวอย่างที่ดีของการหาจุดสมดุลระหว่างความสุขและสุขภาพ..”

“ถ้ากินแต่ของอร่อย (High Time Preference) อร่อยถูกปาก แต่จะส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาว”

“ในขณะที่ถ้ากินแต่อาหารเพื่อสุขภาพ (Low Time Preference) ดีต่อสุขภาพ แต่อาจจะขาดความสุขในการกิน”



"Time Preference มันเหมือนเข็มทิศ" จิงโจ้สรุปอีกครั้ง

"มันช่วยให้เราวางแผนชีวิต เลือกเส้นทางที่เหมาะสม"

“Time Preference ช่วยให้เราเข้าใจตัวเอง รู้ว่าเราให้คุณค่ากับอะไร ปัจจุบัน หรือ อนาคต ตัดสินใจได้อย่างมีสติ เลือกสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับเราในระยะยาว”

“วางแผนอนาคต กำหนดเป้าหมาย และ วางแผนการเงิน การศึกษา อาชีพ สร้างสมดุลชีวิต มีความสุขกับปัจจุบัน พร้อมกับเตรียมพร้อมสำหรับอนาคต”
.
.
.
เสียงช้อนส้อมกระทบจานดังขึ้น.. เสต็คเนื้อถูกหั่นเป็นชิ้นพอดีคำ ทีม Right Shift ดื่มด่ำกับรสชาติและบทสนทนาที่ชวนขบคิด พวกเขาเรียนรู้ที่จะ "**เลือก**" "**รอ**" และ "**พอ**" เพื่อสร้างความสุขและความสำเร็จในแบบฉบับของตัวเอง

เพราะชีวิตก็เหมือนเสต็คเนื้อ เลือกสรรอย่างมีสติ ค่อยๆ ย่างอย่างพิถีพิถัน เพื่อให้ได้รสชาติที่สมบูรณ์แบบ

Time Preference ไม่ใช่แค่แนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ แต่มันคือ.. **ศิลปะในการใช้ชีวิต**

การเข้าใจ Time Preference ของตัวเอง ช่วยให้เราวางแผนชีวิต เลือกเส้นทางที่เหมาะสมและสร้างความสุขที่ยั่งยืนได้

- - -

## **มาร์ชเมลโล่เทสต์** บททดสอบ Time Preference

การทดลอง "มาร์ชเมลโล่ เทสต์" ที่อิสระกล่าวถึงในช่วงต้น เป็นการทดลองทางจิตวิทยา ที่ศึกษาเรื่อง "Time Preference" หรือ "ความเห็นแก่เวลา" ในเด็ก

โดยให้เลือกระหว่างจะกินมาร์ชเมลโล่ 1 ชิ้นในทันที หรือจะรอ 15 นาที เพื่อได้รับ 2 ชิ้น

ผลการทดลองพบว่า เด็กที่สามารถรอได้ มีแนวโน้มจะประสบความสำเร็จในชีวิตได้มากกว่า ทั้งในด้านการเรียน การงาน และความสัมพันธ์

เหตุผลที่เป็นเช่นนั้น.. เพราะการรอคอย แสดงถึงความสามารถในการยับยั้งชั่งใจ (Self-control) ควบคุมอารมณ์และความต้องการของตัวเอง, การวางแผน (Planning) คิดถึงผลลัพธ์ในอนาคต, ความอดทน (Patience) รอคอยผลตอบแทนที่ดีกว่า

มาร์ชเมลโล่เทสต์ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของ Time Preference ต่อการดำเนินชีวิต

การตัดสินใจทุกอย่างในชีวิต ล้วนเกี่ยวข้องกับ Time Preference ไม่ว่าจะเป็นการใช้จ่าย การทำงาน การเรียน หรือแม้แต่การเลือกรับประทานอาหาร

ดังนั้น.. การทำความเข้าใจ Time Preference ของตัวเอง จึงเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างความสุขและความสำเร็จที่ยั่งยืน

ครั้งต่อไปที่ต้องตัดสินใจ ลองถามตัวเองว่า
กำลังเลือกความสุขในปัจจุบัน หรือ ผลตอบแทนในอนาคต?

กำลังเลือกมาร์ชเมลโล่ 1 ชิ้น หรือ 2 ชิ้น?

คำตอบนั้น.. อยู่ที่ตัวคุณเอง

#jakkstr #siamstr #AustrianEconomy #TimePreference


4) The Burgest ปรัชญาเบอร์เกอร์กับ Human action

## **The Burgest ปรัชญาเบอร์เกอร์กับ Human Action**
เสียงหัวเราะดังขึ้นภายในร้านเบอร์เกอร์ ‘The Burgest’ สาขาใหม่ใจกลางห้าง Central World ท่ามกลางการตกแต่งสไตล์อินดี้ 4 หนุ่มกำลังสนทนากันอย่างออกรส หัวข้อที่ดูเหมือนจะหนัก แต่กลับถูกถ่ายทอดออกมาได้อย่างมีสีสันผ่านบทสนทนาของพวกเขา



“เออ... นี่พวกนายรู้ป่ะว่าจริงๆ แล้วมนุษย์เราต่างจากลิงยังไง?” Somnuke (npub1xzh…e7dt) เจ้าของร้านเอ่ยขึ้นพลางนั่งหมุนเก้าอี้ไปมาอย่างอารมณ์ดี

อิสระ น้องเล็กของกลุ่มมองสมนึกแบบเอือมๆ พลางพูดว่า.. “พี่นึก.. จะเล่นมุกอะไรอีกล่ะเนี่ย?”

ซุป หนุ่มเมืองแกลง ยิ้มบางๆ ก่อนจะพูดขึ้นมาว่า

“ผมว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับเรื่อง Human Action ที่เราเคยคุยกันไว้นะ”

จิงโจ้ บก. พี่ใหญ่ของกลุ่ม มองทุกคนด้วยสีหน้าจริงจัง

“Human Action มันไม่ใช่เรื่องเล่นๆ นะเว้ย มันคือรากฐานของเศรษฐศาสตร์ออสเตรียน ถ้าเข้าใจหลักการนี้แล้วชีวิตมึงจะเปลี่ยน!”

สมนึกทำท่าครุ่นคิด..

“อืม... เหมือนลิงที่มันหยิบกล้วยมากิน กับคนเราที่ปลูกกล้วยเก็บเกี่ยวผลแล้วเอาไปขายในตลาด ต่างกันตรงที่คนเรารู้จักวางแผน คิดขั้นตอนได้เยอะกว่าลิง ใช่มั้ย?”

ซุปพยักหน้า.. “ใช่ครับ.. มนุษย์เรากระทำสิ่งต่างๆ ด้วยเหตุผล มีจุดประสงค์ ไม่ใช่แค่ตอบสนองต่อสิ่งเร้าเท่านั้นแบบสัตว์”

อิสระเสริม.. “พูดง่ายๆ คือ เราใช้สมองในการคิด วิเคราะห์แล้วลงมือทำ เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย”

“ถูกต้อง!” จิงโจ้เน้นเสียง “และ "การกระทำ" ของแต่ละคนมันส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจทั้งหมด เหมือนผีเสื้อขยับปีกทำให้เกิดพายุ”

“โคตรคม!” อิสระเผลออุทานออกมา

จิงโจ้หันไปมองซุป.. “คิดดูนะ.. เวลาพวกมึงทำคลิปสักอัน มันต้องเริ่มจาก "การกระทำ" ตั้งแต่คิดคอนเท้นต์ ถ่ายทำ ตัดต่อ ตรวจงาน จนกระทั่งเผยแพร่”

ซุปพยักหน้า.. “แต่ละขั้นตอนมันคือ "การตัดสินใจ" ที่ใช้ "เหตุผล" เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด”

“แม้กระทั่งการเลือกมุมกล้อง ใส่ซาวด์ มันก็สะท้อนความคิดของคนทำ”

หลังจากนั้นสมนึกพูดขึ้นมาอย่างกวนๆ ว่า..

“เหมือนตอนผมเลือกเสื้อผ้ามาทำงาน ก็ต้องคิดแล้วคิดอีก ว่าชุดไหนจะเหมาะกับการอัดคลิปวันนี้”

จิงโจ้มองทุกคนด้วยแววตาจริงจัง..

“Human Action มันบอกเราว่า เราเป็น "ผู้กำหนด" ชะตาชีวิตตัวเอง ไม่ใช่ "เหยื่อ" ของโชคชะตา”

ซุปพยักหน้าเห็นด้วย.. “ทุกการกระทำของเรามีความหมาย เราทุกคนเป็น ‘ผู้กระทำ’ ที่ใช้ ‘เหตุผล’ ในการตัดสินใจและสร้างโลกของเราเอง.. เหมือนกับที่สมนึกสร้าง The Burgest ขึ้นมาจากความฝัน ความมุ่งมั่น และการลงมือทำ”

“เราจึงต้อง "รับผิดชอบ" ต่อการกระทำของตัวเอง เพราะทุกการกระทำล้วนส่งผลกระทบ ไม่ใช่แค่กับตัวเรา แต่กับคนอื่นๆ และสังคมโดยรวม”..อิสระช่วยสรุป

“จำไว้ พวกมึงอยากได้อะไร มึงต้องลงมือทำ อย่ามัวแต่นั่งรอโชคชะตา” ..จิงโจ้กำชับขึ้นมาอย่างหนักแน่น

“ใช้เหตุผลให้มาก คิด วิเคราะห์ ก่อนลงมือทำ และที่สำคัญ รับผิดชอบต่อผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นด้วย!”

จากนั้น สมนึกก็พูดแทรกขึ้นมา..

“สรุปก็คือ มนุษย์ต่างจากลิงตรงที่ เราใส่เสื้อผ้าเป็น ใช้สมองได้ เลยต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่ตัวเองทำสินะ”

ทุกคนหัวเราะพร้อมกันแบบเจื่อนๆ จิงโจ้ส่ายหัวให้กับความสองสลึงของสมนึก แต่ในใจก็อดภูมิใจในความเฉลียวฉลาดของน้องๆ แต่ละคนไม่ได้



“Human Action” หรือ “การกระทำของมนุษย์” ที่พวกเขาพูดถึง เป็นทฤษฎีสำคัญของนักเศรษฐศาสตร์สำนักออสเตรียนอย่าง “ลุดวิก ฟอน มิเซส” (Ludwig von Mises) ซึ่งมองว่าการกระทำของมนุษย์เป็นรากฐานของเศรษฐกิจ ทุกการตัดสินใจ ทุกการเลือก ล้วนส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจทั้งโดยตรงและโดยอ้อม เปรียบเสมือน คลื่นเล็กๆ ที่เกิดจากการโยนหินลงน้ำ แม้จุดเริ่มต้นจะเล็ก แต่แรงกระเพื่อมสามารถแผ่ขยายเป็นวงกว้างได้

ลองจินตนาการถึงการตัดสินใจง่ายๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น การที่คุณเลือกจะทานอาหารเช้าเป็นข้าวเหนียวหมูปิ้ง การตัดสินใจนี้ส่งผลกระทบต่อร้านขายข้าวเหนียวหมูปิ้ง ร้านขายวัตถุดิบ เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ผู้เลี้ยงหมู และอื่นๆ อีกมากมาย เป็นลูกโซ่

หรือ.. หากคุณตัดสินใจซื้อรถยนต์ไฟฟ้าสักคัน การตัดสินใจนี้ส่งผลต่อผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ผู้ผลิตแบตเตอรี่ ผู้ผลิตชิ้นส่วนต่างๆ สถานีชาร์จไฟฟ้า และอาจส่งผลต่อราคาน้ำมันในระยะยาว

การกระทำของมนุษย์แต่ละคน ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ ล้วนส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ เหมือนฟันเฟืองเล็กๆ ที่ทำงานร่วมกัน ขับเคลื่อนกลไกขนาดใหญ่

Human Action จึงไม่ใช่แค่ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ แต่มันคือการมองโลก มองสังคม และมองความสัมพันธ์ของมนุษย์ในมุมมองที่ต่างออกไป

นักเศรษฐศาสตร์ออสเตรียนอย่างมิเซส มองว่า.. การทำความเข้าใจเศรษฐกิจ ไม่ใช่การศึกษาตัวเลข กราฟ หรือสูตรคำนวณ แต่มันคือการศึกษา "มนุษย์" ศึกษาแรงจูงใจ ความต้องการ และการกระทำของมนุษย์

เพราะในท้ายที่สุด **เศรษฐกิจก็คือเรื่องของ "คน"**

### **Human Action กำหนดชะตาชีวิต**

เสียงหัวเราะค่อยๆ เบาลง สมนึกยักคิ้ว ก่อนจะถามต่อด้วยท่าทีจริงจังขึ้น

“แล้วพวกเราคิดว่า Human Action มันเกี่ยวอะไรกับชีวิตพวกเรา นอกจากเรื่องทำคลิป ทำเบอร์เกอร์?”

อิสระยกมือขึ้น “ขอตอบครับ!”

“จริงๆ แล้วมันคือปรัชญาที่บอกว่า มนุษย์เราเป็นผู้กำหนดชะตาชีวิตตัวเอง ไม่ใช่แค่ปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามยถากรรม เราเลือกที่จะลงมือทำอะไรบางอย่าง เพราะเราเชื่อว่ามันจะนำไปสู่สิ่งที่ดีกว่า เหมือนกับที่ ลุดวิก ฟอน มิเซส นักเศรษฐศาสตร์ออสเตรียนชื่อดังเคยกล่าวไว้ว่า ‘มนุษย์กระทำ (Man acts)’ การกระทำของเรานี่แหละ ที่สร้างโลกที่เราอยู่”

“ใช่ และ การกระทำทุกอย่างมันมีต้นทุน” ซุป เสริม

“มิเซสเรียกมันว่า ‘ต้นทุนค่าเสียโอกาส’ (opportunity cost) คือสิ่งที่เราต้อง ‘สละ’ ไป เมื่อเราเลือกทำอย่างหนึ่ง แทนที่จะทำอีกอย่าง สมมุติว่าวันนี้เราเลือกมาฉลองเปิดร้าน เราก็เสียโอกาสที่จะนอนอยู่บ้าน ดู Netflix หรือไปเที่ยวที่อื่น การตัดสินใจของเรามันสะท้อนถึงสิ่งที่เราให้คุณค่า สิ่งที่เราต้องการจริงๆ”

“แค่เริ่มจาก ‘คิด’ ก่อน ‘ทำ’ ทุกการกระทำ ทุกการตัดสินใจล้วนมี ‘ต้นทุนค่าเสียโอกาส’ เพราะฉะนั้น เราต้องใช้ ‘เหตุผล’ ในการวิเคราะห์ ว่าอะไรสำคัญที่สุด อะไรคือเป้าหมายที่เราต้องการบรรลุและเราจะลงมือทำอย่างไร เพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้นโดยเสีย ‘ต้นทุน’ น้อยที่สุด”

จิงโจ้พยักหน้า.. “และ Human Action มันไม่ได้มองแค่ตัวบุคคล แต่มองไปถึงระบบเศรษฐกิจทั้งหมด การกระทำของคนคนหนึ่ง มันส่งผลกระทบต่อคนอื่นๆ เหมือนกับทฤษฎี ‘Domino Effect’ ที่ เมอร์เรย์ รอธบาร์ด อีกหนึ่งนักเศรษฐศาสตร์สำนักออสเตรียนพูดถึง ผลกระทบเล็กๆ มันสามารถขยายวงกว้างและส่งผลต่อภาพรวมได้”

สมนึกทำท่าครุ่นคิด.. “อืม... เหมือนเวลาที่ลูกค้าคนหนึ่งเข้ามาซื้อเบอร์เกอร์ มันก็ส่งผลต่อรายได้ของร้าน ส่งผลต่อเงินเดือนพนักงาน ส่งผลต่อร้านขายวัตถุดิบ และอื่นๆ อีกมากมาย”

“ใช่เลย” จิงโจ้ตอบ “เพราะฉะนั้น Human Action มันสอนให้เรามองโลกแบบ ‘เชื่อมโยง’ มองเห็นความสัมพันธ์ของทุกสิ่ง ทุกการกระทำ ทุกการตัดสินใจที่ล้วนมีความหมาย”

อิสระยิ้ม.. “และที่สำคัญ มันสอนให้เรารับผิดชอบต่อการกระทำของตัวเอง เพราะเราเป็นผู้กำหนดชะตาชีวิตของเราเองครับ”

“สรุปก็คือ...” สมนึกพูดขึ้นพร้อมทำท่าทางประกอบ

“...อยากได้อะไร ต้องลงมือทำ! คิดให้รอบคอบ ตัดสินใจ ลงมือทำ และรับผิดชอบ! เหมือนกับการทำเบอร์เกอร์ ต้องเลือกวัตถุดิบ ปรุงรส จัดวาง และเสิร์ฟ ทุกขั้นตอนสำคัญหมด”

จิงโจ้ยิ้มมุมปาก “ไอ้นี่... เปรียบเทียบได้ดีนี่หว่า”

บทสนทนาของทั้งสี่หนุ่มดำเนินต่อไป เสียงหัวเราะและความคิดที่แลกเปลี่ยนกัน สะท้อนถึงความเข้าใจใน Human Action ปรัชญาที่ไม่เพียงอธิบายเศรษฐกิจ แต่ยังอธิบายชีวิต และสอนให้เรามองโลกในมุมมองที่ต่างออกไป

“การกระทำ ไม่ใช่คำพูด ที่กำหนดตัวตนของเรา” – ลุดวิก ฟอน มิเซส

Human Action เส้นทางสู่ความสำเร็จ
สมนึกเอนหลังพิงพนักเก้าอี้ “ถ้าอย่างนั้น Human Action มันช่วยให้เราประสบความสำเร็จได้ยังไง?”

ซุปยิ้ม.. “มันช่วยให้เรามี ‘mindset’ ที่ถูกต้อง คือเข้าใจว่าความสำเร็จมันไม่ได้มาจากโชค แต่มาจากการกระทำของเราเอง มิเซส เขาเชื่อว่ามนุษย์มีความสามารถในการเรียนรู้ ปรับตัว และสร้างสรรค์ เราสามารถใช้ ‘เหตุผล’ ในการวิเคราะห์ วางแผน และลงมือทำ เพื่อบรรลุเป้าหมายเหมือนกับที่นายสร้าง The Burgest ขึ้นมา”



“และมันยังช่วยให้เรามี ‘วินัย’ ในการลงมือทำด้วยนะ” จิงโจ้เสริม

“รอธบาร์ด เขาเคยพูดถึง ‘ระดับความเห็นแก่เวลา’ หรือ ‘Time Preference’ คือ มนุษย์เรามักจะให้คุณค่ากับสิ่งที่อยู่ ‘ตรงหน้า’ มากกว่าสิ่งที่อยู่ ‘ในอนาคต’ เพราะฉะนั้น การที่จะประสบความสำเร็จเราต้องมีวินัยในการ ‘อดเปรี้ยวไว้กินหวาน’ ยอมลำบาก ยอมเหนื่อยเพื่อผลลัพธ์ที่ดีกว่าในอนาคต”

“เหมือนกับการออกกำลังกาย หรือการเก็บออมเงินใช่ไหมครับ?” อิสระถาม

“ใช่เลย” ซุปตอบ “มันคือการลงทุนใน ‘ตัวเอง’ เพื่อผลตอบแทนที่ดีกว่าในอนาคต”

“และ Human Action ยังสอนให้เรามี ‘ความรับผิดชอบ’ ไม่โทษคนอื่น ไม่โทษโชคชะตา เมื่อเกิดความผิดพลาด” จิงโจ้กล่าว

“มิเซส เขาเชื่อว่า ‘ความผิดพลาด’ คือบทเรียนสำคัญ มันช่วยให้เราเรียนรู้ ปรับปรุง และพัฒนาตัวเอง”

สมนึกพยักหน้า.. “เหมือนตอนที่ผมลองทำเบอร์เกอร์สูตรใหม่ใช้เนื้อแมวสด บางครั้งมันก็ออกมาอร่อย บางครั้งก็... พังไม่เป็นท่า แต่เราก็ได้เรียนรู้จากความผิดพลาด และพัฒนาสูตรให้ดีขึ้น”

“นั่นแหละ Human Action” จิงโจ้สรุป “มันไม่ใช่แค่ทฤษฎี แต่มันคือ ‘แนวทางในการใช้ชีวิต’ ที่ช่วยให้เราเข้าใจตัวเอง เข้าใจโลก และก้าวไปสู่ความสำเร็จ”

อิสระมองไปรอบๆ ร้าน “เหมือนกับร้าน The Burgest ของพี่นึก ที่เกิดจาก Human Action ของคนที่เกี่ยวข้องทุกคน”

“ใช่” สมนึกรับ “และมันจะเติบโตต่อไป ด้วย Human Action ของพวกเราและของทุกคนที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ The Burgest นายที่กำลังแดกอยู่ก็มีส่วนด้วยเหมือนกัน.. อิสระ”

“ทุกคนที่นี่กำลัง ‘กระทำ’ บางอย่าง เพื่อบรรลุเป้าหมายของตัวเอง ลูกค้าต้องการอิ่มท้อง พนักงานต้องการเงินเดือน เจ้าของร้านต้องการกำไร และทุกการกระทำมันส่งผลกระทบต่อกันและกัน สร้างระบบเศรษฐกิจที่เราเห็นอยู่”

จิงโจ้โพล่งขึ้นมาเพื่อกล่าวทิ้งท้าย..

“โลกนี้มันก็เปรียบเสมือนผืนผ้าใบ ที่รอให้เราสร้างสรรค์งานศิลปะลงไป”

“และ Human Action คือพู่กัน ที่ช่วยให้เราแต่งแต้มสีสันและสร้างสรรค์ผลงานชิ้นเอก ที่เรียกว่า ‘ชีวิต’”

“The world is but the canvas to our imagination” – Henry David Thoreau

บทสนทนาของพวกเขาดำเนินต่อไป เต็มไปด้วยความหวังและความมุ่งมั่นที่จะสร้างสรรค์ และกำหนดชะตาชีวิตของตัวเองด้วยพลังของ Human Action

> “มนุษย์มีแต่ ‘การกระทำ’ เท่านั้นที่เป็นของพวกเขา ไม่ใช่ ‘ผลลัพธ์’” – ลุดวิก ฟอน มิเซส

> “การกระทำ คือกระจกสะท้อนตัวตน” – เมอร์เรย์ รอธบาร์ด

- - -

ประโยคนี้ของ เฮนรี เดวิด ธอโร นักเขียนและนักปรัชญาชาวอเมริกัน สื่อถึงพลังอันไร้ขีดจำกัดของจินตนาการมนุษย์ และความสามารถในการสร้างสรรค์โลกของเราเอง

ธอโร เชื่อว่า.. โลกภายนอกเป็นเพียงวัตถุดิบ และจินตนาการของเรานี่เองที่เป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนแปลงและสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ

จินตนาการเป็นสิ่งที่ทรงพลัง มันสามารถพาเราไปยังที่ที่ไม่เคยไป สร้างสิ่งที่ไม่เคยมี และเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ได้ โลกนี้มันเต็มไปด้วยความเป็นไปได้ เราสามารถสร้างสรรค์และกำหนดชีวิตของเราเองด้วยจินตนาการและการลงมือทำ

และเนื่องจากเราเป็นผู้สร้างสรรค์โลกของเราเอง เราจึงต้องรับผิดชอบต่อการกระทำและผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น

ประโยคนี้จึงเป็นการย้ำเตือนให้เราตระหนักถึงพลังของจินตนาการ และความสามารถในการสร้างสรรค์โลกของเราเอง เราไม่ใช่เพียงแค่ “ผู้ชม” แต่เป็น “ผู้สร้าง” ที่สามารถเปลี่ยนแปลง และกำหนดชะตาชีวิตของตัวเอง ด้วยจินตนาการและการลงมือทำ

#jakkstr #siamstr #AustrianEconomic #HumanAction
Author Public Key
npub1mqcwu7muxz3kfvfyfdme47a579t8x0lm3jrjx5yxuf4sknnpe43q7rnz85