What is Nostr?
Libertarian.realpolitik / Libertarian Studies
npub187f…tz9m
2023-08-07 21:14:03

Libertarian.realpolitik on Nostr: ทำไมเราควรอ่าน “อันโตนีโอ ...

ทำไมเราควรอ่าน “อันโตนีโอ กรัมชี” ยุทธศาสตร์ฝ่ายซ้ายเพื่อมุ่งยึดครองสถาบันทางสังคม

.
“หากรู้เขา รู้เรา แม้นรบกันตั้งร้อยครั้งก็ไม่มีอันตรายอันใด ถ้าไม่รู้เขาแต่รู้เพียงเรา แพ้ชนะย่อมก้ำกึ่งอยู่ หากไม่รู้ในตัวเขาตัวเราเสียเลย ก็ต้องปราชัยทุกครั้งที่มีการยุทธ์นั้นแล” –Sun Tzu

.
ทราบหรือไม่ว่าในสังคมประเทศไทยหรือสังคมตะวันตกกำลังเผชิญหน้ากับอะไรตอนนี้? หลายคนอาจตอบว่าอาจจะเป็นพวกลัทธิตื่นรู้ (wokism) ก็ถือเป็นคำตอบที่ถูกต้อง แต่มันก็ยังไม่ถูกต้องทั้งหมด บางคนก็ไม่ทราบคำตอบ บ้างก็มองว่า “มันก็ปกตินิไม่เห็นมีอะไรแปลก หรือ แตกต่างไปจากเดิม” ... ในปัจจุบันเรากำลังเผชิญหน้ากับภัยคุกคามที่ชื่อว่า "ฝ่ายซ้าย" (leftism) ซึ่งขอบเขตของคำว่าฝ่ายซ้ายนั้นจะเป็นซ้ายกลางหรือซ้ายจัดก็ได้ ทั้งนี้นั้นผู้ศึกษาประวัติศาสตร์กระแสหลักอาจหลงคิดไปว่ามันได้สูญสลายไปตั้งแต่สหภาพโซเวียตล่มสลายไปในปี ค.ศ.1991 แต่นั้นมันเป็นเพียงซ้ายเก่าเท่านั้นทว่าก่อนหน้าสหภาพโซเวียตล่มสลายก็ได้มีขบวนการฝ่ายซ้ายในชื่อ "ซ้ายใหม่" (new left)ในช่วงยุคทศวรรษ 1960s ได้ก่อกำเนิดขึ้นและพวกเขารับแนวความคิดทฤษฏีเชิงวิพากษ์มาจากสำนักแฟรงเฟิร์ด (Frankfurt school) อันได้แก่ อุดมการณ์ความหลากหลายทางเพศ หรือ การปลูกฝังเพศวิถี (gender study), ทฤษฏีคเวียร์ศึกษา (queer study), ทฤษฏีหลังอาณานิคม (post-colonialism) และอื่น ๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนมีอิทธิพลในการสร้าง "ความเป็นมวลชน" (mass) ที่ทำให้เกิด 'สื่อเพื่อมวลชน' (mass media) 'วัฒนธรรมต่ำ' (low culture) 'ศิลปะแบบมวลชน' (mass art) และอื่น ๆ ได้ถูกลดทอนคุณค่าทางจิตวิญญาณ ความตั้งใจสร้างสรรค์ลงแล้วในยุคสมัยใหม่นี้ ปรากฏการณ์เหล่านี้เรียกว่า “การต่อต้านวัฒนธรรม” (counterculture) ซ้ายใหม่ได้ทิ้งมรดกเอาไว้มากมาย หนึ่งสิ่งที่จะเห็นได้ในทุกวันนี้ก็คือ "ลัทธิตื่นรู้" ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ สถาบันการศึกษา และที่ต่าง ๆ ที่กลายเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ทั่วไป

.
หลายคนต้องการคำตอบอย่างแน่ชัดว่า “อ่าวแล้วมันเป็นปัญหาอย่างไร?” ทางผู้เขียนจำเป็นจะต้องบอกถึง "วัตถุประสงค์ที่แท้จริง" ของพวกเขาก่อนว่าแท้จริงแล้วมันคือ หนทางที่นำไปสู่การก้าวข้ามขีดจำกัดธรรมชาติ (ฝืนธรรมชาติ) ผ่านการเรียกร้อง "ความเท่าเทียม" (equality) ตั้งแต่ความเท่าเทียมอันเป็นจุดเริ่มตันอย่าง 'ความเท่าเทียมภายใต้กฎหมาย' (equality before the law) จนถึง 'ความเท่าเทียมเชิงผลลัพธ์' (equality of outcome) แนวทางของพวกเขาเองยัง 'แพร่กระจาย' [แทรกซึม] ไปสู่องค์ความรู้ต่าง ๆ อันนำไปสู่การบิดเบือน-แก้ไขความจริงที่ดำรงอยู่อย่างปกติ หรือ ก็คือการสร้างกระบวนทัศน์ในโลกใหม่ที่เป็นประโยชน์ต่อกลุ่มพวกเขาเองจะเห็นได้ชัดจากตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริง เช่น การแก้ไขนิยามทางเพศของผู้ชายและผู้หญิง, การทำให้ผู้ชายข้ามเพศมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมเหมือนกับผู้หญิง, การให้ความชอบธรรมกับการล่วงละเมิดทางเพศเด็ก หรือ การปลูกฝังคุณค่าสากลตามแบบฝ่ายซ้ายที่เชื่อว่าประชาธิปไตย สังคมนิยม สิทธิมนุษยชน คือ ทางออกของทุกอย่างของสังคมต่าง ๆ ในโลก รวมไปถึงประเด็นต่าง ๆ ที่พวกเขาจำต้องฝังหัวคนอื่นให้มองโลกว่ามีมโนทัศน์เพียงแค่เรื่องของ “ผู้กดขี่-ผู้ถูกกดขี่” เท่านั้น สำหรับประเทศไทยและทั่วโลกความคิดเหล่านี้ล้วนถูกฝังอยู่ในกลไกเชิงอุดมการณ์ของรัฐที่เป็นเรื่องระดับใหญ่ในเชิง ‘โครงสร้าง’ และจะขยับไปให้เล็กลงในระดับ ‘บุคคล’ ยกตัวอย่างเช่น ในมหาวิทยาลัย ในโรงเรียนรัฐ ในหลักสูตรการเรียนการสอน สถาบันศาสนา สถาบันครอบครัว หรือ ความสัมพันธ์ระหว่างคนต่าง ๆ ที่มีการรับความคิดแบบนี้เข้าไปโดยปราศจากภูมิคุ้มกันและจะต้องเรียกร้องว่าทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวเป็นปัญหาอยู่ตลอดเวลา

.
สิ่งที่กล่าวไปข้างต้นนี้เองคือตัวอย่างผลกระทบที่มาจากแนวคิดของ “อันโตนีโอ กรัมชี” เขาคือนักปรัชญามาร์กซิสต์ชาวอิตาลีที่ถูกขังในคุกสมัยรัฐบาลเผด็จการฟาสซิสต์ของอิตาลีในช่วงค.ศ.1926 และจนเขาเสียชีวิตในคุกปี ค.ศ.1937 กรัมซี่ได้ทิ้งงานเขียนมากมายบนโลกที่เปลี่ยนกระบวนทัศน์ของมาร์กซิสต์จากเดิมที่เสนอให้ "ปฏิวัติทางชนชั้นด้วยความรุนแรง" (ทางกายภาพ) ไปสู่ "การปฏิวัติทางชนชั้นผ่านการยึดอำนาจนำทางสังคม" โดยสิ่งที่เรียกว่า 'อำนาจนำ' (cultural hegemony) เป็นวัฒนธรรมที่ถูกกำหนดโดยผู้ปกครองอันส่งผลต่อบรรทัดฐาน ค่านิยม ความคิด การศึกษาของผู้ถูกปกครอง แนวคิดของกรัมซี่พยายามสร้างความจริงใหม่ในพื้นที่ของ 'อำนาจอ่อน' (soft power) เช่น งานศิลปะ, ดนตรี, ภาพยนตร์, สื่อและอื่น ๆ ที่เพื่อครองพื้นที่ทางความคิดสาธารณะให้กลายเป็น "ฝ่ายซ้าย" หรือก็คือ สถานภาพทางสังคม (status quo) เป็นซ้าย (ในประเทศไทยปัจจุบันเป็นเช่นนั้น) สิ่งเหล่านี้เองล้วนเปิดทางให้ “พรรคการเมืองฝ่ายซ้าย” สามารถขึ้นมามีอำนาจได้อย่างไม่มีอุปสรรคเกี่ยวกับ “จำนวน” (อันเป็นตัวแปรสำคัญในการชนะกติกาใด ๆ ก็ตาม) หมายความว่าสิ่งที่ฝ่ายซ้ายได้รับจากการยึดครองอำนาจนำก็คือ “การครองใจผู้คน” ได้สำเร็จ จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่หากใครต้องการทราบว่ายุทธศาสตร์ของพรรคฝ่ายซ้ายเป็นอย่างไรและทำไมมันถึงประสบความสำเร็จก็ควรอ่านงานของอันโตนีโอ กรัมชี

.
ผลผลิตทางความคิดของกรัมซี่ปรากฏให้เห็นในเหตุการณ์การต่อต้านวัฒนธรรมในปีทศวรรษ 1960s และแพร่กระจายในประเทศตะวันตกและประเทศในเอเชีย เราจะเห็นได้ว่าในโลกสมัยใหม่หลังจบสงครามโลกครั้งที่สองจะมาพร้อมกับ 'ความก้าวหน้าทางสังคม' อย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นขบวนการเคลื่อนไหวแรงงาน อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเรื่องทางเพศ (ยาคุมกำเนิด-ถุงยางอนามัย) การเรียกร้องสิทธิต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นทั่วโลก (รวมถึงไทย) กล่าวได้ว่าสังคมยิ่งก้าวหน้ามากก็จะนำไปสู่ความเสื่อมทรามถดถอยทางศีลธรรม ซึ่งแน่นอนมันหลีกเลี่ยงไม่ได้ ขบวนการฝ่ายซ้ายที่นำยุทธศาสตร์แบบกรัมซี่มาใช้ในชื่อ "Long march through the institutions" เพื่อแสดงให้เห็นถึงชัยชนะและการมองภาพความสำเร็จทางการเมืองในระยะยาวมากกว่าระยะสั้น พวกเขาพร้อมทำลายประเพณี รากเง้าของประเทศไปจนหมดให้เหลือแต่คุณค่าแบบความก้าวหน้าที่สำคัญอย่างยิ่งแนวทางของพวกเขายังใช้ประโยชน์จากแนวคิดเสรีนิยม-เสรีนิยมประชาธิปไตยในการเป็น "ประตู" สู่ชัยชนะอย่างยั้งยืน เมื่อใดที่พวกเขาไม่แสดงการกระทำออกที่จะรุกล้ำเข้ามาถึงสิทธิ์ในทรัพย์สิน สิทธิ์ในชีวิต และสิทธิ์ในร่างกายแล้ว หลักการไม่รุกรานใครก่อนก็จะไม่สามารถใช้ได้ โดยใช้กับศัตรูที่มีความคิดที่มุ่งทำลายสิทธิ์เหล่านี้ แต่ก็ไม่สามารถทำอะไรได้ หรือ แนวคิดความเท่าเทียมภายใต้กฎหมาย เสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง ทางวาจา ทางความคิดต่าง ๆ ก็ล้วนอนุญาตให้พวกเขาแสดงออกได้อย่างอิสระ แม้ว่าการแสดงออกของพวกเขามีวัตถุประสงค์เพื่อ "ละเมิดสิทธิ์ของผู้อื่น" ก็ตามที

.
มิหน่ำซ้ำในโลกสมัยใหม่ที่แนวคิดกรัมซี่เป็นยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนการเมืองแบบมวลชน (mass politics) ได้นำพาความไร้เหตุผล (irrational) และทำให้อารมณ์ความโกรธเคืองต่อสิ่งต่าง ๆ มีความรุนแรงขึ้น, นำพาเรื่องที่เป็น 'วัฒนธรรมแบบต่ำ' ปฏิเสธการให้ความสำคัญเชิงคุณค่าและความตั้งใจของอัตลักษณ์ ศิลปะ ภาพยนตร์ งานเขียนและอื่น ๆ ให้กลายเป็นเรื่องทั่วไปมากกว่าการตั้งอกตั้งใจเข้าใจถึงแก่นแท้ และอื่น ๆ ที่ถูกขับเคลื่อนด้วยอารมณ์เป็นส่วนสำคัญในการแสดงออกทางการเมือง แต่ในอีกแง่มุมหนึ่งการเมืองแบบมวลชนถือเป็นเครื่องมือของการสถาปนาชนชั้นนำใหม่ โดยเฉพาะชนชั้นนำฝ่ายซ้ายที่อาศัยประโยชน์จากมวลชนที่ใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผลเพื่อการครอบครองอำนาจ และการเมืองสมัยใหม่นี้เองที่เป็นผลผลิตของ "ฝ่ายซ้าย" จะพาเราทุกคนลงสู่เหวนรกที่ไม่สามารถกลับขึ้นมาได้อีก
.

อย่างไรก็ตาม กำแพงที่เรียกว่า "โลกสมัยใหม่" มันนำไปสู่ความเสื่อมเสมอ ยิ่งก้าวหน้าก็ยิ่งเสื่อมและอันตราย และแน่นอนว่ามันคือกลียุคที่แท้จริง หากคิดจะต่อกรกับมันก็จงสดับฟังคำเตือนของนิทเช่ที่ว่า “ผู้สู้กับปีศาจพึงระวัง มิฉะนั้นเขาอาจกลายเป็นปีศาจไปด้วย และถ้าคุณจ้องมองลงไปในนรกนานๆ นรกก็จ้องมองมายังคุณด้วย” การที่จะทำความเข้าใจปีศาจ (กรัมซี่) ก็จำเป็นจะต้องไม่ให้ตัวเองเป็นปีศาจซะเอง แต่แน่นอนว่าในท้ายที่สุด เราก็มีตัวอย่างบนโลกใบนี้ที่เป็นผู้ปราศจากการควบคุมจากมายาคติ ปราศจากความทุกข์ ผู้ที่ก้าวข้ามลัทธิบริโภคนิยมและสูญนิยมได้มีเพียงแค่ “พระมหาบุรุษ” เท่านั้นที่เป็นผู้ความเข้าใจถึงแก่นของปัญหาและความเสื่อมของสังคมเรียกว่าเป็น “กลียุค” (Kali Yuga) และมหาบุรุษนั้นนำพาเราไปสู่การปลดปล่อยจากโลกที่เต็มไปด้วยความเสื่อมถอย ...

Author Public Key
npub187fs6hc9k2ase93v54h9qzx3zz5rrhwc89gstjdextprzlxcee9sdltz9m