What is Nostr?
Libertarian.realpolitik / Libertarian Studies
npub187f…tz9m
2023-08-07 21:12:22

Libertarian.realpolitik on Nostr: 10 กฎพื้นฐานทางเศรษฐศาสตร์ . ...

10 กฎพื้นฐานทางเศรษฐศาสตร์

.
เศรษฐศาสตร์คือวิชาที่ว่าด้วยเรื่องการศึกษาการกระทำของมนุษย์ (human action) ที่นำไปสู่การจัดสรรทรัพยากรที่มีความขาดแคลน การผลิต การบริโภค และกลไกทางเศรษฐกิจนี้เองก็ขึ้นอยู่กับมนุษย์เป็นผู้ปฏิบัติสิ่งต่าง ๆ อย่างหลากหลาย โดยศัพท์ทางการจะเรียกกันว่า "การแบ่งงาน" (division of labor) ทั้งนี้การปฏิบัติของผู้คนจำนวนมากในเศรษฐกิจก็ย่อมมีกฎที่สามารถคาดการณ์ได้ว่าถ้าทำอะไรจะส่งผลแบบไหนผ่านการพิสูจน์ด้วย “สัจพจน์” (axioms) ถือเป็นกฎทางเศรษฐศาสตร์ที่ถูกค้นพบขึ้นจากธรรมชาติของสังคมมนุษย์ เช่น ‘กลไกราคา’ ‘มูลค่า’ ‘เงินเฟ้อ’ และอื่น ๆ ในบทความนี้จะเป็นการสรุป 10 กฎอันเป็นพื้นฐานทางวิชาเศรษฐศาสตร์ที่ใครหลายคนจะต้องรู้กัน

.
(1).การผลิตจะต้องมาก่อนการบริโภคเสมอ (Production precedes consumption) เนื่องจากการจะบริโภคใด ๆ ก็ตามจะต้องมีสิ่งที่จะต้องอยากบริโภคเกิดขึ้นก่อน (ถ้าอยากกินปลาก็ต้องมีปลา, ถ้าอยากกินแอปเปิ้ลก็ต้องมีแอปเปิ้ลก่อน) แนวคิดนี้เองก็นำไปสู่การกระตุ้นการบริโภคเพื่อที่จะขยายการผลิตไปให้มากที่สุด แต่ว่าการบริโภคสินค้าและบริการไม่ใช่สิ่งที่ "ตกมาจากฟ้า" การบริโภคนี้เป็นจุดสุดท้ายของห่วงโซ่ของกระบวนการผลิตที่ใช้เวลาหรือที่เรียกว่า "โครงสร้างการผลิต" (structure of production) หรือ ก็คือการจะผลิตสิ่งใด ๆ ก็ตามจะต้องมีส่วนประกอบที่ใช้ในกระบวนการผลิตที่สำคัญ เช่น หากจะผลิต "ปากกา" (pen) ก็ต้องทราบที่มาของวัสดุที่ใช้ทำปากกาซึ่งจะต้องใช้ 'เวลา' ในการค้นหาวัสดุเพื่อเข้าสู่กระบวนการผลิตต่อไป

.
(2).การบริโภคคือเป้าหมายสุดท้ายของการผลิต (Consumption is the final goal of production) เนื่องจากการบริโภคคือรูปธรรมของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และเป้าหมายของการผลิตเอง การประเมินคุณค่าของสินค้าบริโภคโดยผู้บริโภคจะเป็นการกำหนดมูลค่าของสินค้าที่ผลิต หรือก็คือ การบริโภคในปัจจุบันเป็นผลลัพธ์จากกระบวนการผลิตที่เป็นขั้นตอนก่อนหน้านั้น ดังนั้นด้วยกระบวนการนี้เองจะทำให้ผู้บริโภคกลายเป็นเป็นเจ้าของสินค้าและบริการที่ถูกผลิตออกมาในขั้นตอนสุดท้ายของเศรษฐกิจแบบทุนนิยม

.
(3).สิ่งต่าง ๆ จะต้องมีต้นทุนเสมอ (Production has costs) เพราะว่าในโลกใบนี้ไม่มีอะไรที่ฟรีมันจำเป็นจะต้องมีการแลกเปลี่ยนเพื่อให้ได้มาเสมอ (รวมไปถึงการผลิตสิ่งใด ๆ ก็ตาม) แม้ว่าการจัดทำ "รัฐสวัสดิการ" ที่ใครหลายคนบอกดีเลิศหนักหนาก็ต้องมีต้นทุนจากการเก็บภาษี ในขณะที่ผู้จ่ายภาษีก็มองว่ารัฐบาลเป็นผู้ยึดรายได้จากคน ๆ หนึ่งที่พวกเขาก็ไม่ได้เต็มใจจะจ่ายให้ตั้งแต่แรก โดยที่การจ่ายภาษีของพวกเขาก็เป็นรายได้ของรัฐบาลที่นำเงินของคนจ่ายภาษีไปทำสิ่งต่าง ๆ อย่างสิ้นเปลือง

.
(4).มูลค่าเป็นเรื่องของจิตวิสัยเสมอ (value is subjective) การประเมินคุณค่า/มูลค่าขึ้นอยู่กับจิตวิสัยของแต่ละคนตามแต่ละสถานการณ์ อย่างเช่น น้ำดื่มอาจมีมูลค่าที่แตกต่างกันตามแต่ละคนและสถานการณ์ หากคนอยู่ในทะเลทราย น้ำก็จะกลายเป็นสิ่งที่มีมูลค่าสูง ในขณะที่หากอยู่ในตามเมืองหรือร้านสะดวกซื้อมันก็กลายเป็นสิ่งที่ไม่มีค่ามากเท่ากับในทะเลทราย หรือ แม้แต่อุณหภูมิของห้องหลังจากปรับแอร์อยู่ที่ 21 องศา ความรู้สึกของคนก็อาจจะมีบ่นว่าร้อน หรือ บางคนก็บอกหนาวแตกต่างกันออกไป

.
(5).ผลิตภาพจะต้องกำหนดอัตราค่าแรง (Productivity determines the wage rate) คือการที่ผลิตผล (output) ต่อชั่วโมงเป็นการกำหนดอัตราค่าแรง โดยเฉพาะในสภาวะการแข่งขันภายในตลาดแรงงาน กลุ่มธุรกิจจะแข่งขันเรื่องอัตราค่าแรงที่เหมาะสมกับแรงงาน และผลผลิตส่วนเพิ่มที่สูงกว่าอัตราค่าแรง กล่าวได้ว่าการแข่งขันของบริษัทเอกชนจะเป็นการทำให้อัตราค่าแรงตรงกับผลิตภาพของแรงงานทำได้

.
(6).การใช้จ่ายคือรายได้กับต้นทุน (Expenditure is income and costs) หลายคนอาจเข้าใจว่า "การใช้จ่าย = รายได้" ของอีกคนเท่านั้น แต่ที่จริงแล้วมันยังรวมถึงต้นทุนด้วย กล่าวคือ การใช้จ่ายนับเป็นต้นทุนสำหรับผู้ซื้อ และ รายได้สำหรับผู้ขาย (รายได้ = ต้นทุน) ดังนั้น กลไกที่เรียกว่า "ตัวคูณทางการเงิน" ที่ภาครัฐชอบใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจนั้นก็จะส่งผลทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นพร้อมกับรายได้ได้เช่นกัน (ถ้าทำให้รายได้เกิดตัวทวีคูณเพิ่มขึ้น ต้นทุนก็จะต้องเกิดตัวทวีคูณตามเช่นกัน) ในขณะที่เศรษฐศาสตร์สำนักเคนส์ละเลยผลกระทบต่อต้นทุนที่เกิดขึ้น มันจึงทำให้นักเศรษฐศาสตร์สำนักคิดนี้ไม่สามารถเข้าใจได้ว่าปรากฏการณ์อย่างเงินเฟ้อมันถึงทำให้ต้นทุนมันเพิ่มขึ้นพร้อมกับรายได้ที่เพิ่มขึ้นตาม เพราะพวกเขาตัดผลกระทบด้านต้นทุนในสมการของกระตุ้นเศรษฐกิจออกไป

.
(7.) เงินไม่เท่ากับความมั่งคั่ง (Money is not wealth) กล่าวคือ มูลค่าของเงินจะแสดงออกผ่านสิ่งที่เรียกว่า "กำลังการซื้อ" และเงินนี้เองเป็นเพียงเครื่องมือในการแลกเปลี่ยน ความมั่งคั่งของคนจะเห็นได้ว่ามีก็ต่อเมื่อการเข้าถึงสินค้าและบริการที่เขาต้องการ และบนโลกใบนี้เราจะไม่สามารถเพิ่มความมั่งคั่งให้แก่ชาติของตนเองเพียงแค่การเพิ่มธนบัตร สินเชื่อ หรือการพิมพ์เงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจ

.
(8.) แรงงานไม่ได้เป็นผู้สร้างมูลค่า (Labor does not create value) แรงงานถือเป็นปัจจัยหนึ่งในการผลิตสินค้าและบริการก็จริง แต่ "มูลค่าของสินค้า" ขึ้นอยู่กับอรรถประโยชน์ของปัจเจกแต่ละคน หมายความว่าสินค้าและบริการจะมีมูลค่าอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับบริโภคจะประเมินมัน (ให้คุณค่า) ซึ่งการประเมินมูลค่าตรงนี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับมูลค่าแรงงานตามทฤษฏีของมากซ์ที่เข้าใจกัน (Karl Marx)

.
(9.) กำไรเป็นเพียงโบนัสสำหรับผู้ประกอบการ (Profit is the entrepreneurial bonus) ในระบบตลาดเสรีทุนนิยมนั้นกำไรทางเศรษฐกิจคือโบนัสสำหรับธุรกิจที่มีความพยายามในการปรับตัว ถ้าหากธุรกิจอยู่ในสภาวะเศรษฐกิจที่ไม่มีความเปลี่ยนแปลงใด ๆ ก็จะไม่มีเรื่องของกำไรหรือขาดทุน ตรงกันข้ามกับระบบเศรษฐกิจที่มีการเติบโตเรื่อย ๆ ความเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นและความเปลี่ยนแปลงนี้เองก็เป็นที่มาของ "กำไรทางเศรษฐกิจ" แต่ธุรกิจนั้นจะต้องคาดการณ์ถึงอุปสงค์ในอนาคตที่เขาจะได้รับจากผู้บริโภค แต่ถ้าธุรกิจนั้นไม่สามารถทำสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการได้แล้วก็จะต้องเผชิญหน้ากับการล้มละลายหรือปิดตัวลงในที่สุด

.
(10.) กฎทางเศรษฐศาสตร์ที่แท้จริงทั้งหมดเป็นกฎเชิงตรรกะ (All genuine laws of economics are logical laws) กฎทางเศรษฐศาสตร์ถือเป็นเรื่องก่อนประสบการณ์เชิงสังเคราะห์ (synthetic a priori reasoning) หรือก็คือมันไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าผิดเพราะมันคือกฎที่เป็นข้อเท็จจริงในตัวเอง (self-evident) ดังนั้นโดยพื้นฐานของกฎทางเศรษฐศาสตร์แล้วนั้นไม่มีความจำเป็นต้องใช้การพิสูจน์เชิงประจักษ์เข้ามาช่วย การอ้างอิงถึงข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์เป็นเพียงตัวอย่างประกอบที่ไม่ได้แสดงหลักการใด ๆ ทั้งสิ้น แต่ทั้งนี้มันก็เปิดทางให้ใครหลายคนเมินเฉยหรือละเมิดกฎพื้นฐานทางเศรษฐศาสตร์ยังไงก็ได้ แต่ในขณะเดียวกันกฎทางเศรษฐศาสตร์เหล่านั้นจะไม่ทางเปลี่ยนแปลงมันได้อยู่ดี

.
บรรณานุกรม

Mueller, Antony P. Ten Fundamental Laws of Economics. Auburn, AL: Mises Institute. 2016.

Author Public Key
npub187fs6hc9k2ase93v54h9qzx3zz5rrhwc89gstjdextprzlxcee9sdltz9m