What is Nostr?
ritto / RiTTo
npub15wt…7s62
2024-03-01 04:15:48

ritto on Nostr: Perfect Days: ...

Perfect Days: การบำบัดจิตใจคือการได้ใช้ชีวิตในแบบของตัวเอง และการเจอคนที่เข้าใจ

Perfect Days หรือชื่อในภาษาไทย “หยุดโลกเหงาไว้ตรงนี้” เป็นภาพยนตร์ของผู้กำกับระดับตำนานที่ห่างหายจากวงการไปนานชาวเยอรมันอย่าง วิม เวนเดอร์ (Wim Wenders) และนำแสดงโดย โคจิ ยาคุโช (Kōji Yakusho) ที่ได้รางวัลนักแสดงชายยอดเยี่ยม และ Prize of the Ecumenical Jury ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้กับหนังที่สร้างสรรค์ให้คุณค่าแห่งความเป็นมนุษย์จากเทศกาลหนังเมืองคานส์ (Cannes Film Festival) นอกจากนั้นยังได้เสนอชื่อชิงรางวัลใหญ่อย่างออสการ์ (Oscars หรือ The Academy Awards) ในสาขาภาพยนตร์ต่างประเทศอีกด้วย



เนื้อเรื่องของภาพยนตร์เรื่องนี้ก็คล้ายสารคดีที่ติดตามชีวิตประจำวันของตัวเอก คุณลุงฮิรายามะ (แสดงโดย โคจิ ยาคุโช) เป็นพนักงานทำความสะอาดห้องน้ำสาธารณะวัยชราในเขตชิบูย่าของเมืองโตเกียว โดยที่ชีวิตของแกนั้นก็แสนจะเรียบง่าย ไม่หวือหวา ตั้งแต่ตอนตื่นนอน แปรงฟัน รดน้ำต้นไม้ กดกาแฟกระป๋องจากตู้ ขับรถไปทำงานและเปิดฟังเทปเพลงจากยุค 60–70’s ไปด้วยระหว่างทาง ทำงานอย่างขะมักขะเม้น พักกินข้าว พร้อมกับการถ่ายรูปธรรมชาติจากกล้องฟิล์มขาวดำ ทำงานเสร็จกลับมาอาบน้ำไปกินข้าว อ่านหนังสือนิยายก่อนนอน และก็นอนหลับไป แม้กระทั่งในวันหยุดก็ตื่นมาก็แปรงฟัน เอาผ้าไปซัก ไปอาบน้ำ ไปร้านซื้อหนังสือนิยายลดราคา ไปบาร์ที่ตัวเองคุ้นเคย และในเรื่องก็จะมีเหตุการณ์ที่แกได้พบเจอคนใหม่ ๆ หรือคนที่เคยรู้จักมาเป็นตัวแปรในชีวิตประจำวันของแกวนลูปไปจนจบ



ส่วนการแสดงก็เต็มไปด้วยความน้อยแต่มาก โดยเฉพาะคุณลุงฮิรายามะซึ่งในเรื่องก็เป็นคนไม่ค่อยพูดจากับคนอื่นอยู่แล้ว แต่การแสดงด้วยสีหน้าและสายตานั้นแสดงถึงอารมณ์ที่แกรู้สึกขณะนั้นได้เป็นอย่างดี ส่วนการถ่ายทำนั้นก็อาจจะไม่ได้หวือหวาแต่ก็สวยงามปราณีตามสไตล์ญี่ปุ่น และยังแอบซ่อนนัยยะบางอย่างไว้ ยกตัวอย่างเช่นการใช้ภาพซ้อน (Superimpose) แนวขาวดำคล้ายภาพฟิล์มที่ตัวเองได้ถ่ายไว้ มาแทรกในช่วงที่คุณฮิรายามะหลับและกำลังจะเริ่มวันใหม่ ซึ่งอาจจะเป็นภาพความฝันหรือเป็นการรำลึกถึงวันวานก็เป็นไปได้



และอีกหนึ่งตัวเอกที่ไม่กล่าวถึงไม่ได้ก็คือ “ห้องน้ำสารถารณะ” ที่มีการออกแบบได้อย่างสวยงามและมีเอกลักษณ์สะท้อนบรบทของพื้นที่ตั้งนั้น ๆ ได้เป็นอย่างดี ผิดกับบ้านเราลิบลับ
ที่ไม่ค่อยจะแยแสและให้ความสำคัญกับพื้นที่สาธารณะของประชาชนคนทั่วไปซักเท่าไหร่
ห้องน้ำเหล่านี้เป็นโครงการที่เรียกว่า THE TOKYO TOILET ซึ่งเป็นความร่วมมือของ The Nippon Foundation ซึ่งเป็นมูลนิธิเอกชนที่ไม่แสวงหากำไรของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเน้นให้การสนับสนุนพัฒนาแง่มุมต่างๆ ทั้งด้านมนุษยธรรม สวัสดิการสังคม การสาธารณสุข และการศึกษาไปทั่วโลก และ TOTO ผู้ผลิตสุขภัณฑ์ห้องน้ำของประเทศญี่ปุ่นที่เราน่าจะรู้จักกันดี



โครงการ THE TOKYO TOILET นั้นเป็นการสร้างห้องน้ำสาธารณะจำนวน 17 แห่งในเขตชิบุย่าที่มีประชากรหนาแน่น โดยแต่ละแห่งจะถูกออกแบบโดยสถาปนิกและนักออกแบบชื่อดังระดับโลกของประเทศญี่ปุ่นที่บ้านเราน่าจะรู้จักกันดี ยกตัวอย่างเช่น ทาดาโอะ อันโดะ (Tadao Ando) ชิเกรุ บัน (Shigeru Ban) เคนโกะ คุมะ (Kengo Kuma) โซ ฟูจิโมโตะ (Sou Fujimoto) โตโย อิโตะ (Toyo Ito) โดยเป้าหมายคือเป็นการก้าวสู่สังคมที่โอบรับในความหลากหลาย ซึ่งสะท้อนออกมาในงานออกแบบที่เป็นเอกลักณ์เฉพาะตัวของห้องน้ำในแต่ละที่



จากการที่นักวิจารณ์และบทความเกี่ยวกับเรื่องนี้หลาย ๆ ขิ้นเอ่ยชมภาพยนตร์เรื่องนี้ว่าเป็นภาพยนตร์ที่สะท้อนถึงการใช้ชีวิตอยู่ด้วยความพอเพียง เรียบง่าย และการได้ทำในสิ่งที่ตัวเองต้องการ นั่นแหละคือการใช้ชีวิตที่ประสบความสำเร็จในแบบของตัวเอง ดังเช่นที่เราพบเห็นได้จากวิถีชีวิตของคนสูงวัยในญี่ปุ่นดังที่เห็นได้จากตามสารคดี ที่ประกอบอาชีพเดิมตั้งแต่เด็กจนโตก็ยังคงทำในสิ่งที่ตัวเองรักและถนัดที่สุดไปจนกว่าที่ตนเองจะทำไม่ไหว ซึ่งสังคมญี่ปุ่นนั้นก็ได้เข้าสู่การเป็นสังสูงวัย (Aging Society) มาตั้งแต่ปี 1970 แต่เมื่อได้สัมผัสภาพยนตร์เรื่องนี้มาด้วยตัวเองแล้วก็พบว่ามีอีกนัยยะนึงที่อาจจะไม่ได้ถูกกล่าวถึงนัก ซึ่งอาจจะเป็นทางผู้กำกับเองจงใจหรือไม่ได้จงใจนำมาไว้ในภาพยนตร์ก็ได้ ซึ่งก็คือเรื่อง “แอสเพอร์เกอร์ ซินโดรม” (Asperger Syndrome)



แอสเพอร์เกอร์ ซินโดรม เป็นโรคที่เกี่ยวกับความบกพร่องทางพัฒนาการที่มีลักษณะเฉพาะตัว เช่น บกพร่องด้านทักษะในการเข้าสังคม หรือบกพร่องด้านทักษะการใช้ภาษา การสื่อสารและการแสดงออก ชอบทำอะไรซ้ำ ๆ มักหมกมุ่นกับสิ่งที่ชอบเป็นเวลานาน แต่ไม่ใช่กลุ่มบกพร่องทางสติปัญญา เช่นโรคออทิสติก (Autistic) ซึ่งคนนั้นจะมีความเฉลียวฉลาดเป็นพิเศษในสิ่งที่ตนเองชอบอีกด้วย ในปัจจุบันยังไม่ทราบแน่ชัดว่าอะไรคือสาเหตุที่ชัดเจนของกลุ่มอาการแอสเพอร์เกอร์ ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่ามีหลายปัจจัยร่วมกัน ทั้งการทำงานที่ผิดปกติทางสมอง พันธุกรรมสิ่งแวดล้อม แต่ไม่ได้เกิดจากการเลี้ยงดูของผู้ปกครอง และในปัจจุบันยังไม่มียารักษาอาการเหล่านี้ให้หายเป็นปกติ โดยผู้ที่เป็นโรคนี้ที่เรารู้จักกันดีก็น่าจะเป็น เกรต้า ธันเบิร์ก (Greta Thunberg) นักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมวัยรุ่นชื่อดังชาวสวีเด็นที่ออกมาเรียกร้องความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมของโลกจากรัฐบาลและผู้มีอำนาจทางการปกครองของประเทศต่าง ๆ ที่ออกมายอมรับว่าเป็นแอสเพอร์เกอร์ และยังมีภาพยนตร์และซีรีย์ที่ถูกนำเสนอด้วยการเป็นโรคนี้อย่างเช่นเรื่อง Rain Man, Adam, The Accountant, Atypical เป็นต้น



ในเรื่องนั้นคุณฮิรายามะก็มีลักษณะนิสัยที่จะดูเข้ากับการเป็นโรคนี้อย่างน่าสนใจ ซึ่งในเรื่องนั้นคุณลุงฮิรายามะก็เป็นคนไม่ค่อยพูดกับคนอื่น แม้จะเป็นคนที่ทำงานด้วยก็ตามที แต่เมื่อเขาได้เจอคนที่สนใจในสิ่งเดียวกับเขา และเป็นคนที่เข้าใจการกระทำของเขา ชอบในสิ่งที่เขาทำ เขาก็จะแสดงออกด้วยท่าทีที่เป็นมิตร และมีแสดงออกทางอารมณ์ได้ชัดเจนว่าเขามีความสุขที่จะอยู่กับคนแบบนี้ ซึ่งจะตีภาพยนตร์เรื่องนี้ได้อีกแบบว่าการกระทำที่เป็นกิจวัตรของคุณลุงฮิรายะมะในเรื่องนั้นอาจจะเลือกจะใช้ชีวิตอยู่แบบนี้ เพื่อเป็นการบำบัดจิตใจของตัวเองมากกว่า ด้วยการที่มีเลือกที่จะมีความสุขด้วยตัวคนเดียว (Being alone ≠ Being lonely) โดยสุดท้ายนั้นไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม การเอาใจเขามาใส่ใจเรา อย่ามองว่าเขาทำตัวไม่เหมือนคนอื่นหรือมีพฤติกรรมที่แตกต่างจากคนทั่วไปโดยไม่มีเหตุผล คอยสนับสนุนและให้กำลังใจเขา ก็จะสามารถช่วยให้เขา “หยุดโลกเหงาไว้ตรงนี้” ได้เป็นอย่างดี



Resources
*https://architizer.com/blog/inspiration/stories/perfect-days-tokyo-toilets-japanese-architects/
*https://www.manarom.com/blog/let_learn_asperger_syndrome.html
*https://thaipublica.org/2020/08/series-society02/
*https://www.nationwidechildrens.org/conditions/aspergers-syndrome#:~:text=Asperger's%20Syndrome%20is%20a%20form,a%20narrow%20range%20of%20interests.



#film #perfectdays #wimwanders #japanesefilms #aspergers #siamstr


Author Public Key
npub15wteale5c3zruyjan4qrur60ptyc2maa85hm24l4dn3g0mgzjzgsxp7s62