Tendou on Nostr: ผมอุทานคำว่า ไอ้เหี้e ...
ผมอุทานคำว่า ไอ้เหี้e ทุกย่อหน้า พี่จะโหดเกินไปแล้วววววว อ่านไปยิ้มไป5555555555555555555555
เมื่อตัวผมได้ใช้ชีวิตที่ิอยากใช้แล้ว ตัวผมนี่แหละคือรางวัลของตัวผมเอง
#เนื้อสายฟ้า #เทนโด้รูต่าย #TendouRabbitHole
ปล. อยากอ่านฉบับ #Yakihonne เลยครับ จะได้แชร์ให้เพื่อนอ่านได้ง่ายๆ โคตรรร มีความสุขเลย😭🧡
เมื่อตัวผมได้ใช้ชีวิตที่ิอยากใช้แล้ว ตัวผมนี่แหละคือรางวัลของตัวผมเอง
#เนื้อสายฟ้า #เทนโด้รูต่าย #TendouRabbitHole
ปล. อยากอ่านฉบับ #Yakihonne เลยครับ จะได้แชร์ให้เพื่อนอ่านได้ง่ายๆ โคตรรร มีความสุขเลย😭🧡
quoting note1l79…ezpm## **เนื้อสายฟ้า ⚡ “แรงงาน” (Labor) ไม่ใช่แค่ “งาน”**
ใต้ถุนบ้านไม้ ณ เมืองร้อยเอ็ด..
แดดบ่ายส่องลอดช่องลมใต้ถุนบ้านไม้ยกสูงหลังใหญ่ ลมพัดเอื่อยๆ พัดพาเอากลิ่นหอมอ่อนๆ ของต้นไม้ และทุ่งนา โชยมาแตะจมูก สร้างบรรยากาศสบายๆ แบบบ้านๆ
รถเก๋งคันเก่าสีแดงแล่นเข้ามาจอดเทียบท่าใต้ต้นมะม่วงข้างบ้าน ประตูรถเปิดออก “ Jingjo (npub15l5…7rgk) ” ในชุดเสื้อยืดสีดำพิมพ์ลายปิรันย่า กางเกงยีนส์สีซีดกับแว่นกันแดดทรง Rayban ที่เสียบไว้กับคอเสื้อ มันเป็นธีมวงร็อคยุค 70s เขาเดินลงมาจากรถด้วยท่าทางเท่ๆ ตามแบบฉบับของเขา ตามมาด้วย Somnuke (npub1xzh…e7dt) เพื่อนที่เป็นถึง CEO ของ RS ที่ก็แต่งตัวสบายๆ ไม่แพ้กัน เสื้อเชิ้ตฮาวายสีสันสดใส กางเกงขาสั้นและรองเท้าแตะ
“อ้าว! มาถึงแล้วเหรอพี่จิงโจ้ พี่สมนึก ผมกำลังรออยู่เลยครับ”
เสียงสดใสของ npub1ju8la595yg7h90qm8lm95hvqajgdgu2c6f9mf8uwwe7lurrxarcsycsv5w (npub1ju8…sv5w) ดังออกมาต้อนรับแขกผู้มาเยือน ร่างล่ำๆ ของเทนโด้ ในชุดเสื้อยืดสีขาว พิมพ์ลายโลโก้ Bitcoin กางเกงยีนส์สีเข้ม วิ่งออกมาจากใต้ถุนบ้านด้วยความรวดเร็ว ใบหน้าเปื้อนไปด้วยรอยยิ้ม
“เออ.. เหนื่อยชิบหาย กว่าจะมาถึง” จิงโจ้บ่นอุบ พลางเดินเข้าไปนั่งบนแคร่ไม้ไผ่ใต้ถุนบ้านที่ปูทับด้วยเสื่อกก
“ขับรถมาตั้งไกล ไปรับสมนึกจากกรุงเทพฯ วนกลับมาถึงร้อยเอ็ด ไม่จัดอะไรเด็ดๆ มาต้อนรับหน่อยรึไงวะไอ้เทนโด้?” จิงโจ้ พูดติดตลกแต่ก็ยังคงท่าทางขึงขัง
“จัดให้สิครับพี่! วันนี้ผมเตรียมน้ำเก็กฮวยเย็นๆ ฟองฟอดๆ กับ “เนื้อสายฟ้า” สูตรเด็ดของที่บ้านมาต้อนรับพี่ๆ โดยเฉพาะ” เทนโด้ตอบรับด้วยความกระตือรือร้น พลางส่งสายตาไปทางพี่ชายที่กำลังสาละวนอยู่กับการแล่เนื้อบนเขียงไม้ด้วยท่าทางสุดชำนาญ
“นี่แหละ ทีเด็ดของบ้านเรา “เนื้อสายฟ้า!!”” พี่ชายของเทนโด้พูดด้วยน้ำเสียงภาคภูมิใจ พลางยกจานสแตนเลสที่บรรจุเนื้อตากแห้งสีน้ำตาลเข้ม ตัดเป็นชิ้นพอดีคำ วางลงบนโต๊ะไม้ กลิ่นหอมของเนื้อรมควัน โชยฟุ้งไปทั่วใต้ถุนบ้าน
“เนื้อส่วนท้องติดมัน คัดพิเศษ หั่นสดๆ หมดพังผืด ตากแดดเปรี้ยงๆ กลางแดดเมืองร้อยเอ็ด ย่างนาน 3 ชั่วโมง เนื้อนุ่ม เคี้ยวสนุก รับรองความอร่อย สะอาด ปลอดภัย!!”
“โห… ยืดยาวเชียว แค่ฟังวิธีทำก็น้ำลายไหลแล้ว” สมนึกพูดตาเป็นประกาย “แหม… ดูพิถีพิถันทุกขั้นตอนเลยนะ ไม่แปลกใจเลย ทำไมถึงขายดีเป็นเทน้ำเทท่า”
“ใช่ครับ คุณพี่ชายผมเค้าใส่ใจในทุกรายละเอียด ตั้งแต่เลือกเนื้อ ปรุงรส ไปจนถึงการบรรจุภัณฑ์ เพื่อให้ลูกค้าได้ลิ้มรส “เนื้อสายฟ้า” ที่สดใหม่ อร่อย และสะอาดที่สุด” เทนโด้ เสริมอย่างภาคภูมิใจไม่แพ้กัน
จิงโจ้ หยิบชิ้นเนื้อขึ้นมาพิจารณา เนื้อแห้ง มีสีน้ำตาลเข้ม ตัดเป็นชิ้นสี่เหลี่ยม ขนาดพอดีคำ มันวาว น่ารับประทาน..
“แล้วเรื่องบรรจุภัณฑ์ล่ะ? เก็บรักษายังไง ให้คงความอร่อยได้นานๆ” สมนึกถามต่อด้วยความสนใจ ในขณะที่หยิบชิ้นเนื้อขึ้นมาลองชิมอีก 1 กรุบ
“เราซีลสูญญากาศอย่างดี เพื่อคงความสดใหม่และรสชาติ ส่งผ่านห้องเย็น -15 องศาเซลเซียส เพื่อหยุดการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย เก็บได้นานหลายเดือนในช่องฟรีซ สะดวกต่อการจัดเก็บและประหยัดพื้นที่” เทนโด้ตอบอย่างคล่องแคล่ว
“ไอ้หนุ่มนี่มันครบเครื่องเรื่องการตลาดจริงๆ” สมนึก พยักหน้าอย่างพอใจ
“ใส่ใจทุกขั้นตอนแบบนี้ ก็น่าจะขายดีเป็นธรรมดา”
การบรรยายถึงกรรมวิธีการผลิต และการบรรจุภัณฑ์ของเนื้อสายฟ้า สะท้อนให้เห็นถึงความเอาใจใส่ในรายละเอียด การเลือกใช้วัตถุดิบและการควบคุมกระบวนการผลิต ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการสร้างผลผลิตที่มีคุณภาพ
สอดคล้องกับแนวคิดเรื่องการผลิต ของ Ludwig von Mises ที่เน้นการเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ ตามแบบแผนของเหตุผลเพื่อให้ได้มาซึ่งผลผลิตที่มีมูลค่า การใส่ใจในรายละเอียดทุกขั้นตอน แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการสร้างสรรค์สินค้าที่ไม่เพียงแต่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค แต่ยังคำนึงถึงคุณภาพและความปลอดภัยอีกด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ “เนื้อสายฟ้า” แตกต่างและโดดเด่นกว่าเนื้อตากแห้งทั่วไป..
"โอ้ย.. อร่อยจริงๆ ว่ะ เนื้ออะไรเนี่ย นุ่ม หอม เคี้ยวเพลิน เข้ากับเบียร์ชิบหาย!" จิงโจ้ เอ่ยชมอย่างติดใจ หลังจากจัดการเนื้อสายฟ้าไปหลายชิ้น "แพ็คเกจจิ้งก็ดูดีมีชาติตระกูล ขายดิบขายดีเป็นเทน้ำเทท่าเลยสิเนี่ย ว่าแต่เอ็งขายยังไงวะไอ้เทนโด้?"
"ผมมีรับออเดอร์ผ่านทางออนไลน์ด้วยครับพี่ แล้วก็ส่ง EMS ไปให้ลูกค้าทั่วประเทศ" เทนโด้ อธิบาย
"แล้วเรื่องจ่ายเงินล่ะ? ชาวบ้านร้านช่องเค้าจะสะดวกโอนเงินออนไลน์กันเรอะ?" สมนึก ถามต่อด้วยความสงสัย
"นี่เลยครับ ทีเด็ดของร้านเรา รับชำระด้วย Bitcoin Lightning!" เทนโด้ พูดด้วยความภาคภูมิใจ พลางหยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมา “สำหรับบิตคอยเนอร์อย่างพวกพี่นะ.. ง่ายมากๆ เลยครับ แค่สแกน QR Code นี้ แล้วกดยืนยัน แป๊บเดียวก็เรียบร้อย ไม่ต้องวุ่นวายโอนเงินผ่านธนาคารให้เสียเวลา"
> “Bitcoin เป็นมากกว่าสกุลเงิน มันคือการปฏิวัติ ทางการเงินที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้"
## ทางเลือกของชีวิต แรงงาน เสรีภาพและความหมาย
สมนึกหันไปทางพี่ชายของเทนโด้.. “แล้วหนุมล่ะ ว่าไงบ้างเรื่องขายของรับ Bitcoin เนี่ย โอเคมั้ย?”
"แทน" พี่ชายของเทนโด้ยักไหล่ “ตอนแรกก็งงๆ เหมือนกัน ไม่รู้เรื่องอะไรกับเค้าหรอกครับ แต่พอเห็นน้องมันทำ มันก็อธิบายให้ฟัง เห็นว่ามันสะดวกดี ก็เออ… ดีเหมือนกัน อย่างน้อยก็ไม่ต้องไปธนาคารให้เสียเวลา”
“ใช่.. ไม่ต้องพึ่งระบบเฮงซวยที่เราไม่ชอบ” จิงโจ้ พูดเสริมด้วยน้ำเสียงขึงขัง
“พูดถึงเรื่องนี้.. ทำไมไอ้เทนโด้ ถึงไม่ไปหางานบริษัททำวะ? งานดีๆ เงินเดือนเยอะ สวัสดิการเพียบ อนาคตไกล ทำไมไม่อยากทำล่ะ?”
“ผมทนเห็นระบบบริษัทไม่ไหวครับพี่” เทนโด้ ตอบ “มันอึดอัด ไม่อิสระ ผมอยากลองเป็นนายตัวเองก่อน เพราะที่บ้านก็มีอะไรให้สานต่อพอดีด้วย อยากลองทำในสิ่งที่ตัวเองรักมากกว่า อย่างน้อยก็ขอลองดูก่อนครับ”
การเลือกเส้นทางชีวิตของเทนโด้ในการทดลองเป็นเจ้าของกิจการ สะท้อนถึงแนวคิดเรื่อง “แรงงาน” ที่ Ludwig von Mises เคยกล่าวไว้ว่า.. “แรงงานเป็นวิธีการ ไม่ใช่จุดจบในตัวเอง แต่ละคนมีพลังงานจำกัดที่จะใช้จ่าย และแรงงานแต่ละหน่วยสามารถก่อให้เกิดผลกระทบเพียงจำกัดเท่านั้น"
เทนโด้ เลือกที่จะใช้แรงงานของเขาในการสร้างธุรกิจที่เขาเป็นเจ้าของเองและหลงใหล แทนที่จะทำงานประจำที่เขาไม่เห็นด้วยกับระบบและรู้สึกอึดอัด ไม่อิสระ การตัดสินใจของเทนโด้สะท้อนให้เห็นว่ามนุษย์ให้คุณค่ากับช่วงเวลาปัจจุบันของพวกเขา มากกว่าที่พวกเขาจะให้คุณค่ากับช่วงเวลาในอนาคต
และมนุษย์สามารถเลือกที่จะใช้เวลาของพวกเขาได้ 2 วิธี คือ “เวลาว่าง” (leisure) ซึ่งเป็นการทำสิ่งที่เราปรารถนา ชอบ และต้องการทำเพื่อประโยชน์ของตนเอง และ “แรงงาน” (labor) ซึ่งเป็นการทำสิ่งต่างๆ เพื่อผลลัพธ์และผลผลิต
“เออ… พี่เข้าใจ กูเองก็ลาออกจาก 21th Century Fox เพราะเหตุผลเดียวกันนั่นแหละ” จิงโจ้พูด “แต่กูเลือกที่จะมาเลี้ยงไก่แบบพอเพียง อยู่กับธรรมชาติสบายใจกว่าเยอะ ไม่ต้องรับคำสั่งใคร ไม่ต้องแข่งขันกับใคร”
การเลือกเส้นทางชีวิตของจิงโจ้ ในการใช้ชีวิตแบบพอเพียง สะท้อนให้เห็นถึงอีกแง่มุมของแนวคิด “แรงงาน” ตามที่ Mises อธิบายว่า..
“แรงงาน (labor) เองมีประโยชน์ติดลบหรือไม่มีประโยชน์ตามคำจำกัดความ มันลดความพึงพอใจของมนุษย์ที่จะทำงาน แต่มนุษย์ก็ยังทำงานเพราะเขาคาดหวังว่ามันจะสร้างผลผลิตที่ให้ประโยชน์ในอนาคตมากกว่า ประโยชน์ในปัจจุบันของเวลาว่าง (leisure) ถูกเสียสละเพื่อสนับสนุนประโยชน์ในอนาคตที่คาดหวังจากผลลัพธ์ของแรงงาน"
จิงโจ้เลือกที่จะลดความต้องการของตัวเอง ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายและพึ่งพาตนเอง ลดการพึ่งพาระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม การเลือกของจิงโจ้แสดงให้เห็นว่าความหมายของ “แรงงาน” นั้น แตกต่างกันไปสำหรับแต่ละคน และ “ต้นทุนค่าเสียโอกาส (opportunity cost) ของแรงงาน ก็คือ เวลาว่าง (leisure) ที่เสียไปนั่นเอง”
สมนึกจิบน้ำเก๊กฮวยชื่นใจ พลางเอ่ยถาม “แล้วไม่คิดถึงชีวิตออฟฟิศกันบ้างเหรอ?”
“ไม่เลย” เทนโด้ตอบทันที
“ผมว่า.. การได้ลองเป็นนายตัวเอง ได้ทำในสิ่งที่ชอบ มันคุ้มค่ากว่ากันเยอะ ถึงเงินเดือนอาจจะไม่มากเท่าคนที่ทำงานประจำ แต่ผมก็มีความสุขกับการได้ใช้เวลาไปกับสิ่งที่ผมให้คุณค่ามากกว่าครับ”
“ใช่.. เวลา เป็นสิ่งที่มีค่าที่สุด” จิงโจ้พูด พลางมองออกไปยังทุ่งนากว้างใหญ่
“ทุกคนมีเวลาเท่ากัน 24 ชั่วโมง แต่เราเลือกที่จะใช้มันต่างกัน บางคนเลือกที่จะใช้เวลาไปกับการทำงาน เพื่อเงิน เพื่อความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน บางคนเลือกที่จะใช้เวลาไปกับครอบครัว เพื่อนฝูง งานอดิเรกหรือการพักผ่อน มันไม่มีถูกหรือผิด ขึ้นอยู่กับว่า.. อะไรที่สำคัญกับชีวิตเรามากกว่ากัน”
ตามที่ Mises อธิบายไว้ในหนังสือ Human Action
“เวลาของมนุษย์เป็นทรัพยากรสูงสุดและหายากที่สุด การใช้จ่ายมันไม่สามารถย้อนกลับได้ และปริมาณของมันก็ไม่สามารถเพิ่มขึ้นได้เอง ความขาดแคลนและความไม่แน่นอนของเวลา สร้างระดับความเห็นแก่เวลา (time preference) ที่เป็นบวกในตัวมนุษย์ (เกิด High time preference) การเลือกบางอย่างในปัจจุบันมากกว่าจะรอในอนาคต ..สิ่งนี้ก็ใช้กับเวลาด้วย"
การที่เทนโด้และจิงโจ้เลือกที่จะไม่ทำงานประจำเพื่อมาทำในสิ่งที่ตนเองรัก สะท้อนให้เห็นว่าพวกเขาต่างก็ให้คุณค่ากับเวลา และการได้ใช้ชีวิตตามความต้องการของตนเองมากกว่าผลตอบแทนทางวัตถุ และแน่นอนว่าพวกเขาก็พร้อมจะยอมรับผลของมัน ไม่ว่ามันจะออกมาบวกหรือลบ
“แต่การใช้ชีวิตแบบพอเพียงอย่างพี่จิงโจ้มันก็เสี่ยงเหมือนกันนะ” สมนึกแย้ง “ถ้าเกิดวันหนึ่งเจ็บป่วยได้ไข้ขึ้นมา ไม่มีสวัสดิการรองรับจะทำยังไง?”
“กูสีเขียว.. กูก็มีเงินเก็บบ้าง และที่สำคัญ กูก็ดูแลสุขภาพตัวเองอย่างดี กินอาหาร ดีๆ ออกกำลังกายเป็นประจำ ถึงจะแดกเบียร์เยอะก็เหอะ กูไม่เครียด ไม่วิตกกังวล กูว่ามันก็เพียงพอแล้วสำหรับการใช้ชีวิตอย่างมีความสุข” จิงโจ้ตอบ
สมนึกมองว่าการมีงานประจำที่มั่นคง และมีสวัสดิการรองรับเป็นสิ่งสำคัญ ในขณะที่ จิงโจ้ เชื่อว่าการมี สุขภาพกายและใจที่ดี การใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายและไม่เบียดเบียนตนเอง เป็นพื้นฐานของความมั่นคงและความสุขที่แท้จริง ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของ Mises ที่ว่า..
“มนุษย์สามารถใช้เวลาของพวกเขาได้ 2 วิธี วิธีแรกเกี่ยวข้องกับการทำสิ่งที่เราปรารถนา ชอบ และต้องการทำ เพื่อประโยชน์ของตนเอง กิจกรรมเหล่านี้มีคุณค่าเชิงอัตวิสัย (Subjective) สำหรับบุคคลที่เข้าร่วม พวกเขามอบประโยชน์ในแบบของพวกเขาเอง พวกเขาเป็นรางวัลของตัวเอง ในแง่หนึ่ง.. นักเศรษฐศาสตร์อ้างถึงการใช้เวลาเช่นนี้ว่าเวลาว่าง (leisure) ซึ่งรวมถึงการพักผ่อน เวลาที่ใช้กับคนที่คุณรัก ความบันเทิง สันทนาการ และสิ่งอื่น ๆ ที่แต่ละคนเพลิดเพลิน"
“ผมว่า.. ทั้งพี่จิงโจ้และเทนโด้โชคดีนะที่สามารถเลือกเส้นทางชีวิตของตัวเองได้” สมนึกพูด “หลายคนอยากจะ ลาออกจากงานมาทำธุรกิจของตัวเอง หรือใช้ชีวิตแบบพอเพียง แต่ก็ติดภาระหน้าที่หลายอย่าง ไม่สามารถเลือก ได้อย่างอิสระ”
“จริงครับ” เทนโด้พยักหน้าเห็นด้วย
“ผมโชคดี ที่มีครอบครัวสนับสนุน มีธุรกิจที่บ้านให้ต่อยอดได้ แต่อย่างที่พี่ Jakk เคยบอกพวกเรา.. ไม่ว่าเราจะเลือกเส้นทางไหน ขอแค่เรามีความสุขกับมัน และใช้ชีวิตอย่างมีความหมายก็เพียงพอแล้ว”
## การตกงาน คือ ทางเลือกหรือวิกฤต?
"แล้วไอ้ข่าวคนตกงานกันเยอะๆ นี่มันยังไงวะ?" จิงโจ้พูดขึ้นด้วยน้ำเสียงขึงขัง
"เศรษฐกิจแบบนี้ ใครจะอยากตกงานวะ?"
เทนโด้วางชามเนื้อสายฟ้าลง "จริงๆ แล้วพี่ ..การตกงานในระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเสรี มันเป็นทางเลือกของคนงานเองนะครับ"
"ห๊า? ทางเลือกยังไงวะ? ใครอยากตกงาน" จิงโจ้ทวนคำพูดของเทนโด้ ทำหน้ามึนงง
“คืออย่างนี้ครับพี่..” เทนโด้อธิบาย
“ในระบบตลาดเสรี.. คนเราเลือกได้ว่าจะทำงานในเรทค่าจ้างที่ได้รับเสนอหรือไม่ ไม่มีใครตกงานแบบไม่เต็มใจหรอกครับ ในระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเสรีที่แท้จริง เงินออมจะเพิ่มมูลค่าในตลาดตามกาลเวลา บุคคลมีอิสระในการเลือกที่จะทำงานหรือไม่และสามารถเรียกร้องค่าจ้างตามที่ต้องการได้ นายจ้างก็มีอิสระในการจ่ายค่าจ้างตามที่ต้องการเช่นกัน”
"แล้วไอ้ที่เค้าประท้วงกันเรื่องค่าแรงขั้นต่ำนั่นมันยังไง?" สมนึกถามขึ้น
"นั่นแหละครับปัญหา.." เทนโด้พูดต่อ
"ผมมองว่า.. เงินเฟ้อกับกฎหมายค่าแรงขั้นต่ำนี่แหละตัวปัญหา เงินเฟ้อมันทำให้ราคาสินค้าแพงขึ้น คนงานก็ต้องเรียกร้องค่าแรงที่สูงขึ้นเพื่อให้ครอบคลุมค่าครองชีพ แต่นายจ้างก็จ่ายไม่ไหว สุดท้ายก็ต้องปลดคนงานหรือไม่ก็ปิดกิจการไปเลย
การขยายสินเชื่อแบบเงินเฟ้อ (inflationary credit expansion) ที่รัฐบาลชอบทำ มันทำให้ราคาสินค้าแพงขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าทรัพยากรทางเศรษฐกิจมันจะเพิ่มขึ้นตาม การเพิ่มปริมาณเงินในระบบมันไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นจริง แถมยังเป็นต้นเหตุของวงจรธุรกิจ (Business cycle) บูมจากเงินเฟ้อ มันทำให้เกิดการลงทุนแบบไม่ยั่งยืน พอมันล่มสลายก็ลากเอาทั้งภาคเศรษฐกิจลงไปด้วย เกิดภาวะล้มละลาย คนงานโดนปลดเป็นเบือ แถมทักษะที่มีก็ดันไม่เป็นที่ต้องการในตลาดอีก”
จิงโจ้ เริ่มจะอินเลยสมทบขึ้นมาบ้าง..
“จริง.. แทนที่จะแก้ปัญหาเงินเฟ้อ รัฐบาลกับนักเศรษฐศาสตร์หัวควยที่ทำงานให้รัฐบาลก็โยนขี้ให้ระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเสรีหรือนายทุนจอมโลภไปซะงั้น หรือไม่ก็หาข้ออ้างอื่นๆ ที่มันฟังไม่ค่อยขึ้น สุดท้ายก็เสนอมาตรการที่ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอะไรเลย อย่างเช่น กฎหมายค่าแรงขั้นต่ำ แทนที่จะเป็นคำสั่งให้นายจ้างจ่ายเงินให้คนงานมากขึ้น กฎหมายค่าแรงขั้นต่ำมันเหมือนเป็นการห้ามไม่ให้คนงานเลือกราคาแรงงานของตัวเอง มันขัดขวางไม่ให้ตลาดปรับตัวตามเงินเฟ้อ ผลก็คือเกิดคลื่นของการว่างงานที่สอดคล้องกับวงจรธุรกิจแบบไม่จบไม่สิ้น”
เทนโด้หยิบเนื้อสายฟ้าเข้าปาก เคี้ยวอย่างเอร็ดอร่อย..
"ในตลาดเสรี คนที่หางานในเรทค่าจ้างปัจจุบันไม่ได้ ก็แค่ไม่สามารถหาคนที่เห็นคุณค่าของผลผลิตส่วนเพิ่มจากแรงงานของเขา ในราคาที่สูงกว่ามูลค่าเวลาว่างของคนงานคนนั้นได้ ปรากฏการณ์การว่างงานหมู่แบบไม่เต็มใจในยุคปัจจุบันจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีกฎหมาย กฎ หรือข้อจำกัดที่ทำให้การจ้างงานในอัตราค่าจ้างที่กำหนดนั้นผิดกฎหมายและมีโทษ
ในบริบทของการแลกเปลี่ยนอย่างเสรี ไม่มีสิ่งที่เรียกว่า "การว่างงาน" ในหมู่คนที่เต็มใจจะทำงาน
เพราะนั่นหมายความว่าพวกเขามีสิทธิ์ได้รับค่าจ้างที่ไม่มีใครเต็มใจจ่าย คนงานสามารถหางานทำได้เสมอโดยการเพิ่มผลผลิตหรือลดค่าจ้างที่ร้องขอ การว่างงานแบบไม่เต็มใจเป็นไปไม่ได้ในระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเสรี มันเป็นทางเลือกของคนงาน ที่จะเรียกร้องค่าจ้างที่ไม่มีใครเต็มใจจ่าย ดังนั้นจึงเป็นทางเลือกของพวกเขาที่จะยังคงอยากให้ตัวเองว่างงาน"
“อย่างสวิตเซอร์แลนด์ ก่อนที่เค้าจะเลิกใช้มาตรฐานทองคำแทบจะไม่มีการว่างงานเลยนะครับ แต่พอเข้าร่วมวงการเงินเฟ้อก็ประสบกับภาวะการว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้น เหมือนประเทศอื่นๆ ที่ใช้เงินเฟ้อ" เทนโด้ยกตัวอย่าง
“แล้วไอ้พวกนักเศรษฐศาสตร์มันไม่รู้เรื่องพวกนี้รึไงวะ?” จิงโจ้ถามอย่างหัวเสีย
“พวกนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ ไม่เข้าใจเรื่องพวกนี้หรอกครับพี่” เทนโด้ตอบ
“พวกเค้าคิดว่ารัฐบาลต้องเข้าไปแทรกแซง ทั้งๆ ที่รัฐบาลนั่นแหละที่เป็นต้นเหตุของปัญหา”
“แล้วถ้าไม่มีรัฐบาลมาควบคุม งานจะหมดไปจากโลกมั้ยวะ?” จิงโจ้ถามต่อ
"ไม่มีทางครับพี่" เทนโด้ส่ายหัว
“คนเราต้องตัดสินใจเกี่ยวกับการใช้เวลาของตัวเองเสมอ ไม่ว่าจะมีของมากมายแค่ไหน ก็ต้องเลือกระหว่างความสุขในปัจจุบันกับอนาคต ปัญหาทางเศรษฐกิจมันเป็นเรื่องธรรมชาติ ไม่มีทางหายไปจากโลกหรอกครับ
Keynes เคยเขียนไว้ในช่วงทศวรรษ 1930 ว่าผลผลิตจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งถึงปี 2030 มนุษย์จะต้องทำงานเพียงสัปดาห์ละ 15 ชั่วโมงเท่านั้นเพื่อผลิตสิ่งที่ต้องการ
Keynes จินตนาการว่าความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจะนำไปสู่การว่างงานทางเทคโนโลยี ซึ่งเขาให้คำจำกัดความว่า 'การว่างงานเนื่องจากการค้นพบวิธีการประหยัดการใช้แรงงานที่รวดเร็วกว่าการที่เราจะหาวิธีการใช้แรงงานแบบใหม่ๆ
แต่เขาคิดผิดครับ.. การตัดสินใจว่าจะใช้เวลาของตนอย่างไรเป็นปัญหาทางเศรษฐกิจที่เป็นนิรันดร์และเป็นสากลของมนุษย์ เพราะเวลาเป็นสิ่งหายาก ไม่มีทางออกสุดท้ายสำหรับปัญหาทางเศรษฐกิจ มีเพียงการแทนที่ทางเลือกที่แย่ด้วยทางเลือกที่ดีกว่าเท่านั้น
ตราบใดที่มนุษย์ยังมีชีวิตอยู่และจำเป็นต้องตัดสินใจว่าจะทำอะไรกับเวลาของตน ปัญหาทางเศรษฐกิจก็ยังคงอยู่ และมนุษย์พยายามแก้ไขด้วยการทำงาน ไม่มีทางออกสุดท้ายสำหรับปัญหาทางเศรษฐกิจ มีเพียงการแทนที่ทางเลือกที่แย่ด้วยทางเลือกที่ดีกว่าเท่านั้นเอง"
"แล้วเรื่องนายทุนเอาเปรียบลูกจ้างนี่มันยังไงวะ" สมนึกถามบ้าง
"อย่างร้านเบอร์เกอร์ผม ผมจ้างแต่แรงงานต่างด้าว เพราะค่าแรงถูกกว่าเยอะเลย แบบนี้ผมเอาเปรียบพวกเค้ารึเปล่า?"
"การจ้างงานในตลาดเสรี มันเป็นไปโดยสมัครใจครับพี่" เทนโด้อธิบาย "นายทุนไม่ได้บังคับให้ใครมาทำงาน คนงานเลือกที่จะทำงาน เพราะมันเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับพวกเค้า ถ้าไม่ชอบ ก็ลาออกไปทำอย่างอื่นได้"
“การที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงที่จะแลกเปลี่ยนแรงงานกับค่าตอบแทน เงื่อนไขของการแลกเปลี่ยนต้องเป็นที่น่าพอใจสำหรับทั้งสองฝ่าย สำหรับแรงงาน.. นี่หมายความว่าค่าตอบแทนของเขาสูงกว่าการประเมินค่าที่เขากำหนดไว้สำหรับการใช้เวลาแบบอื่น ซึ่งเป็นเวลาว่าง (leisure) หรืองานอื่นที่ดีที่สุดถัดไป
มูลค่าของแรงงานของลูกจ้างต่อนายจ้างต้องมากกว่าค่าจ้างที่จ่าย มิฉะนั้นนายจ้างจะไม่จ้างแรงงาน ตามคำจำกัดความคือข้อตกลงร่วมกันระหว่างลูกจ้างและนายจ้าง”
"และนายทุนก็ไม่ได้เอารัดเอาเปรียบแรงงาน แต่ช่วยเพิ่มผลผลิตให้คนงานต่างหาก" เทนโด้พูดต่อ
“นายทุนลงทุนจัดหาเครื่องมือ วัสดุ สถานที่ให้กับคนงาน ทำให้คนงานทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น มีรายได้มากขึ้นในทุกช่วงเวลา นายทุนเลือกที่จะละทิ้งการบริโภคเพื่อจัดหาทุนให้กับคนงาน นายทุนสามารถขายสินทรัพย์ทุนของพวกเขาและนำเงินที่ได้ไปใช้จ่ายเพื่อการบริโภคได้
การเลือกที่จะละทิ้งการบริโภคและจัดหาทุนให้กับคนงาน นายทุนกำลังยอมให้คนงานมีระดับผลผลิตที่สูงขึ้น ผลผลิตที่สูงขึ้นนี้ทำให้คนงานพอใจที่จะได้รับเพียงส่วนหนึ่งของรายได้ สำหรับทางเลือกอื่นนอกจากการเอารัดเอาเปรียบของนายทุน ไม่ใช่แค่ว่าคนงานจะได้รับรายได้ทั้งหมดจากการขายสินค้าที่พวกเขาผลิต แต่มันคือรายได้ที่ต่ำกว่ามากถ้าไม่มีทุน"
“อย่างคนขับแท็กซี่ ถ้าไม่มีรถ เค้าก็ต้องแบกคนไว้บนหลัง งานก็จะหนัก ได้เงินก็น้อย แต่พอมีรถก็ทำงานได้สะดวกขึ้น มีรายได้มากขึ้น เพราะนายทุนลงทุนซื้อรถให้เค้าขับ"
“ดังนั้น.. นายทุนไม่ได้เอาเปรียบคนงาน แต่เป็นการแลกเปลี่ยนที่สมประโยชน์ทั้งสองฝ่าย” เทนโด้สรุป “คนงานได้งาน ได้รายได้ นายทุนได้ผลกำไร มันเป็นความสัมพันธ์ที่ช่วยให้เศรษฐกิจเติบโต”
จิงโจ้พยักหน้าพึงพอใจที่เห็นน้องเริ่มเข้าใจมากขึ้น "เออ.. กูว่ามึงพูดถูก การที่กูเลือกเลี้ยงไก่เอง ก็เป็นทางเลือกของกู ไม่มีใครบังคับกู ส่วนไอ้เทนโด้มันก็เลือกทำธุรกิจเนื้อสายฟ้า มันก็มีความสุขของมัน เพียงแต่กูก็ยังชอบชีวิตแบบพอเพียง อยู่กับธรรมชาติ ไม่ต้องวุ่นวายกับระบบทุนนิยม"
"นั่นก็เป็นทางเลือกที่ดีครับพี่" เทนโด้พูดพร้อมรอยยิ้ม “ขอแค่เรามีความสุขกับเส้นทางที่เราเลือก และใช้ชีวิตอย่างมีความหมายก็พอแล้วครับ"
สมนึกพยักหน้าครุ่นคิด "พี่ว่า.. พี่คงต้องกลับไปคิดเรื่องแรงงานต่างด้าวที่ร้านพี่ใหม่แล้วล่ะ ว่าจริงๆ แล้ว พี่ได้ให้ทางเลือกที่ดีที่สุดกับพวกเค้ารึเปล่า.. พี่อยากให้ร้านเบอร์เกอร์ของพี่เป็นมากกว่าแค่ธุรกิจ ให้มันเป็นสถานที่ที่สร้างโอกาส สร้างความสุข ให้กับทุกๆ คน"
พี่ชายของเทนโด้ที่นั่งฟังเงียบๆ มาตลอดก็พูดขึ้นบ้าง.. "Bitcoin เนื้อสายฟ้า ตลาดเสรี ผมฟังพวกพี่พูดเรื่องพวกนี้มาตั้งนาน ผมก็ยังงงๆ อยู่เลยนะ แต่ผมว่าเนื้อสายฟ้านี่อร่อย มันต้องขายดีแน่ แค่นั้นผมก็พอใจแล้ว"
ทุกคนพากันหัวเราะ บรรยากาศใต้ถุนบ้านไม้อบอุ่นและเป็นกันเอง แม้จะมีความเห็นต่างกันบ้าง แต่ทุกคนต่างเคารพในทางเลือกของกันและกัน บนเส้นทางชีวิตที่แต่ละคนเลือกเดิน.. บทสนทนาจบลงพร้อมกับแสงอาทิตย์ที่ลาลับขอบฟ้า ทิ้งไว้เพียงความสงบ และความหวังสำหรับวันใหม่
มันชวนให้เราตั้งคำถามถึงคุณค่าและความหมายของชีวิต การทำงาน และการเลือก ในโลกที่เต็มไปด้วยความหลากหลายและความซับซ้อน แนวคิดเรื่องตลาดเสรี แรงงาน และทุน กระตุ้นให้เรามองเห็นความเชื่อมโยง ระหว่างการกระทำของเรากับผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น ทั้งในระดับบุคคลและระดับสังคม
บทความนี้ไม่ได้ให้คำตอบ แต่ชวนให้เราตั้งคำถามและค้นหาคำตอบด้วยตัวเอง เพราะชีวิตไม่ใช่สมการที่มีสูตรสำเร็จ แต่เป็นการเดินทางที่เราต้องเรียนรู้ ปรับตัว และเติบโตไปพร้อมกับประสบการณ์
สุดท้าย.. สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การใช้ชีวิตอย่างมีความหมายตามแบบฉบับของตัวเอง ด้วยความตระหนักรู้ ความรับผิดชอบ และความเคารพ ในคุณค่าและความแตกต่างของกันและกัน
# ภาคผนวก
บทความนี้นำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับแรงงานในกรอบของเศรษฐศาสตร์สำนักออสเตรียน โดยเน้นย้ำถึงบทบาทของการเลือก, ตลาดเสรี, ผลผลิต และความสัมพันธ์ระหว่างนายทุนกับลูกจ้าง
### สรุปประเด็นสำคัญ:
1. แรงงานคือการเลือก - ในระบบตลาดเสรี บุคคลมีอิสระในการเลือกว่าจะทำงานหรือไม่และสามารถเรียกร้องค่าจ้างตามที่ตนเองเห็นสมควร การตัดสินใจทำงานหมายความว่าบุคคลนั้นเห็นว่าผลตอบแทนจากการทำงานมีค่ามากกว่าเวลาว่าง
2. เงินเฟ้อและกฎหมายค่าแรงขั้นต่ำบิดเบือนตลาดแรงงาน - เงินเฟ้อทำให้ราคาสินค้าแพงขึ้น บังคับให้ลูกจ้างเรียกร้องค่าแรงที่สูงขึ้น ในขณะที่นายจ้างอาจไม่สามารถจ่ายได้ นำไปสู่การปลดคนงานหรือปิดกิจการ กฎหมายค่าแรงขั้นต่ำแทนที่จะช่วยเหลือคนงานกลับเป็นการจำกัดสิทธิในการเลือกค่าแรงของตนเองและขัดขวางกลไกตลาด
3. นายทุนไม่ได้เอาเปรียบแรงงาน - ความสัมพันธ์ระหว่างนายทุนและลูกจ้างในตลาดเสรี เป็นการแลกเปลี่ยนที่สมประโยชน์ทั้งสองฝ่าย นายทุนลงทุนจัดหาทุน เครื่องมือ และทรัพยากรต่างๆ เพื่อเพิ่มผลผลิตของแรงงาน ทำให้แรงงานมีรายได้สูงขึ้น ในขณะที่นายทุนได้รับผลกำไร ทั้งสองฝ่ายต่างได้รับประโยชน์จากการแลกเปลี่ยนนี้
4. การว่างงานเป็นผลมาจากการเลือก - ในตลาดเสรีไม่มีใครตกงานโดยไม่เต็มใจ คนที่ว่างงาน เป็นเพราะพวกเขาเลือกที่จะไม่ทำงานในอัตราค่าจ้างที่ตลาดเสนอให้ ซึ่งอาจเป็นเพราะพวกเขามีมูลค่า “เวลาว่าง” สูงกว่า หรือมองไม่เห็นโอกาสที่คุ้มค่าในการทำงาน
5. งานจะไม่หมดไปจากโลก - มนุษย์ต้องตัดสินใจเกี่ยวกับการใช้เวลาของตนเองอยู่เสมอ ไม่ว่าจะมีความมั่งคั่งมากแค่ไหน การเลือก และปัญหาทางเศรษฐกิจ เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติมนุษย์ ไม่มีทางหายไปจากโลก
### เสียงจากอีกฟากฝั่ง
ต่อไปนี้คือข้อโต้แย้งที่อาจเกิดขึ้นจากผู้ที่เห็นต่าง:
1. “ตลาดเสรีไม่ได้สมบูรณ์แบบ การเอารัดเอาเปรียบแรงงานมีอยู่จริง!”
นักเศรษฐศาสตร์สาย Keynesian (เคนส์) และ Marxist (มาร์กซ์) อาจโต้แย้งว่า ตลาดเสรีในโลกแห่งความเป็นจริงไม่ได้สมบูรณ์แบบอย่างที่ทฤษฎีกล่าวอ้าง อำนาจต่อรองที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างนายทุนและลูกจ้างอาจนำไปสู่การเอารัดเอาเปรียบแรงงาน เช่น การกดขี่ค่าแรง สภาพการทำงานที่ย่ำแย่ หรือการละเมิดสิทธิแรงงาน
2. "รัฐบาลจำเป็นต้องแทรกแซง เพื่อปกป้องผู้ด้อยโอกาส"
แนวคิดของรัฐสวัสดิการ (Welfare state) เน้นย้ำบทบาทของรัฐบาลในการดูแลประชาชน และลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ รัฐบาลจำเป็นต้องเข้าไปแทรกแซงในตลาดแรงงาน เพื่อกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ สร้างมาตรฐานความปลอดภัยในการทำงาน และจัดสวัสดิการให้กับผู้ว่างงาน เพื่อสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำ
3. "การว่างงานไม่ใช่แค่ทางเลือก แต่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง"
นักเศรษฐศาสตร์บางกลุ่มมองว่าการว่างงานไม่ใช่แค่ผลมาจากการเลือกของแต่ละบุคคล แต่เป็นผลมาจากปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น การขาดแคลนทักษะ เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว หรือภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ รัฐบาลจำเป็นต้องเข้ามาแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างเหล่านี้ เพื่อสร้างงานและลดอัตราการว่างงาน
4. "การสะสมทุน นำไปสู่ความเหลื่อมล้ำและความไม่ยุติธรรม"
นักเศรษฐศาสตร์สาย Marxist (มาร์กซ์) วิพากษ์วิจารณ์ระบบทุนนิยม ว่าเป็นระบบที่เอื้อประโยชน์ให้กับนายทุน นำไปสู่การสะสมทุนและความเหลื่อมล้ำในสังคม พวกเขาเสนอแนวคิดเรื่องการกระจายความมั่งคั่งและการควบคุมระบบทุน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างสังคมที่เป็นธรรม
นานาจิตตัง..
#siamstr #jakkstr #AuatrianEconomic #labor #leisure