What is Nostr?
Libertarian.realpolitik / Libertarian Studies
npub187f…tz9m
2023-08-01 04:54:13

Libertarian.realpolitik on Nostr: https://nostrcheck.me/media/public/nostrcheck.me_8816195653024077401690865638.webp ...



เศรษฐศาสตร์คือ "วิทยาศาสตร์สังคม" การคำนวณทางคณิตศาสตร์ไม่สามารถเข้าใจแก่นแท้ของสังคมได้

.
“ประสบการณ์ที่ศาสตร์แห่งการกระทำของมนุษย์มักเป็นปรากฏการณ์ที่ซับซ้อนเสมอ ไม่มีการทดลองใด ๆ ในห้องปฏิบัติการที่คำนึงถึงการกระทำของมนุษย์” –Ludwig von Mises

.
หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมเศรษฐศาสตร์ถึงเรียนยากมากและเต็มไปด้วยสูตรคณิตศาสตร์ประยุกต์ที่เป็นโจทย์ในการหาคำอธิบายเศรษฐกิจว่ามันทำงานอย่างไร แม้แต่บางคนอาจส่งต่อความเชื่อที่ว่าเศรษฐศาสตร์ไม่ควรมาเข้าเรียนเพราะมันยากและซับซ้อนเกินไป แต่มันจะเป็นจริงอย่างที่เขากล่าวมาจริงไหม?

.
เราจะต้องเริ่มทำความรู้จักกับเศรษฐศาสตร์กันก่อนว่ามันคืออะไร? นิยามของเศรษฐศาสตร์คือ "วิทยาศาสตร์สังคมที่มีเป้าหมายในการจัดสรรทรัพยากรให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด" โดยมุ่งเน้นไปที่ภาพรวมทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นการบริโภค การผลิต การกระจายทรัพยากรต่าง ๆ จะเกี่ยวข้องกับชีวิตของ "คน" และเมื่อมันเกี่ยวกับ "คน" คำถามที่ตามมาก็คือ แล้วเศรษฐศาสตร์มันเกี่ยวกับการคำนวณทางคณิตศาสตร์ด้วยใช่ไหม? แน่นอนว่า "ใช่" แต่มันไม่เสมอไป เพราะเศรษฐศาสตร์ทุกวันนี้เป็นหลักสูตรการเรียนการสอนที่บ่มเพาะบนฐานคิดทางปรัชญาแบบ "ปฏิฐานนิยม" (positivism) ที่เชื่อว่าปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจ ทฤษฏีหลักการและเหตุผลใด ๆ ในทางเศรษฐศาสตร์จะสามารถถูกพิสูจน์ได้ด้วยวิทยาศาสตร์ หรือ การพิสูจน์ทางคณิตศาสตร์ (แนวคิดทางปรัชญาแบบ "ปฏิฐานนิยม" พยายามทำให้วิทยาศาสตร์สังคมจะต้องใช้วิธีการแบบเดียวกันแบบวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ) เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว มันเป็นเหตุผลว่าทำไมการพัฒนาโมเดลทางคณิตศาสตร์ที่ซับซ้อนเพื่ออธิบายเศรษฐกิจจึงเป็นเรื่องปกติในทุกวันนี้ แม้ว่าโมเดลเหล่านั้นจะละเลยกฎทางเศรษฐศาสตร์แบบดั้งเดิมเท่าไหร่ก็ตามความนิยมในการใช้โมเดลคณิตศาสตร์ก็ยังโดดเด่นเหมือนเดิม

.
ตัวอย่างที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุดว่าเป็นผลพวงของแนวคิดปฏิฐานนิยมในวิชาเศรษฐศาสตร์ก็คือ "เศรษฐมิติ" (econometric) ที่เป็นการจับตัวแปรทางเศรษฐกิจที่สัมพันธ์กันมาอธิบาย หรือ นำมาคาดการณ์เศรษฐกิจล่วงหน้า ยกตัวอย่างเช่น คาดการณ์ผลกระทบของรายได้ (income effect) จากข้อมูลที่เก็บมาอย่าง การเพิ่มขึ้นของรายได้ของคนจะทำให้การใช้จ่ายยิ่งเพิ่มขึ้นตามรายได้ตาม หรือนอกจากเศรษฐมิติก็คือ ทฤษฏีมูลค่าแรงงานของมากซ์ที่นำแรงงานมาเป็นหน่วยวัดมูลค่าของสินค้าและบริการ (ถูกตีตกไปแล้วในงานของ Eugen von Böhm-Bawerk) เป็นต้น ซึ่งสาเหตุที่นักเศรษฐศาสตร์บางสำนักคิดวิพาก์วิจารณ์การใช้คณิตศาสตร์ในวิชาเศรษฐศาสตร์ (รวมไปถึง "เศรษฐมิติ") หลัก ๆ ก็คือ "การนำวิธีวิทยาของวิทยาศาสตร์ธรรมชาติมาใช้กับวิทยาศาสตร์สังคม" ที่ตัวแปรและความสัมพันธ์ของทั้งสองศาสตร์มีความแตกต่างกัน แต่ก็มีบางจุดที่ทับซ้อนกันได้ (เช่น การค้นพบ "กฎธรรมชาติ" ของวิทยาศาสตร์สังคมและวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ โดยที่การค้นพบนั้นไม่ได้มาจากฝีมือมนุษย์เป็นผู้สร้างมัน) โดยทั้งสองศาสตร์นั้นไม่สามารถนำวิธีวิทยามาใช้แทนกันได้เพราะ (a).ในวิทยาศาสตร์สังคมที่มุ่งเน้นไปที่ตัวแสดงอย่าง "มนุษย์" ที่มีความซับซ้อน และไม่สามารถอธิบายความสัมพันธ์ของคนได้ด้วยสูตรคำนวณทางคณิตศาสตร์ได้ (b). มนุษย์เป็นสัตว์ที่มีเหตุผลและก็ไร้เหตุผลในขณะเดียวกัน มันจึงซับซ้อนตามข้อ (a) การกระทำของมนุษย์ต่าง ๆ มีจุดมุ่งหมาย ความพึงพอใจ ความคิดและวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน และ (c ). สังคมมนุษย์ที่มีความซับซ้อนหลากหลายนั้นไม่สามารถควบคุมตัวแปรความซับซ้อนได้เหมือนกับห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์ได้ ก็หมายความว่าการใช้คณิตศาสตร์ในการ “ค้นหาปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจ” หรือ “อธิบายปรากฏการณ์” จึงเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยงตรง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคณิตศาสตร์จะไร้ประโยชน์ในเศรษฐศาสตร์เสมอไป

.
ตามความคิดของสำนักเศรษฐศาสตร์ออสเตรียน (Austrian Economics) มีมุมมองที่ไม่สนับสนุนให้คณิตศาสตร์เป็นส่วนสำคัญในการศึกษาเศรษฐศาสตร์อันเนื่องมาจาก (i).ภาษาทางคณิตศาสตร์นำไปสู่เรื่องของ "การทำงานของสูตรคำนวณ" (functional) มากกว่าการวิเคราะห์เศรษฐกิจตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นการพรรณาให้เห็นภาพว่าเศรษฐกิจจะไปสู่ "จุดดุลยภาพ" ได้อย่างไรตามอุดมคติ ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจจริง ๆ (Mayer 1994; Mises 1998); (ii).คณิตศาสตร์เป็นเพียงเครื่องมือการแปลทฤษฏีทางเศรษฐศาสตร์ที่อยู่ในรูปของคำอธิบายทั่วไปสู่รูปของสูตรตัวเลข ทำให้หน้าที่ของตัวมันเองไม่ได้เป็นตัวแสดงที่ทำให้เกิดการค้นพบปรากฏการณ์ใหม่ทางเศรษฐศาสตร์ (Rothbard 1956; Boettke 1996); และ (iii).การอธิบายทางคณิตศาสตร์มีความกำกวมมากกว่าภาษาทั่วไปที่ใช้อธิบายทางเศรษฐศาสตร์ (Rothbard 1976) แต่อย่างไรก็ตามเศรษฐศาสตร์สำนักออสเตรียนไม่ได้ปฏิเสธคณิตศาสตร์เสมอไป แต่ออสเตรียนมองว่าควรใช้คณิตศาสตร์ตามความเหมาะสมที่มันสามารถช่วยเหลือคนได้ ยกตัวอย่างเช่น การใช้มันเป็นเครื่องมือในการคำนวณต้นทุน เครื่องมือในการคำนวณสินค้าและบริการ การจัดสรรต้นทุนต่าง ๆ แต่ทั้งนี้หน้าที่ของมันไม่สามารถวิวัฒน์ไปสู่การประเมินมูลค่าจิตวิสัยในเศรษฐกิจเพื่อที่จะประเมิน หรือ คาดการณ์อนาคตของเศรษฐกิจได้ (ไม่ว่าจะมีสูตรคำนวณที่ซับซ้อนแค่ไหนก็ตามการคำนวณธรรมชาติของคนเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้)

.
*(note)* ความแตกต่างระหว่างสำนักออสเตรียนกันนีโอคลาสสิคก็คือ สำนักออสเตรียนเชื่อมั่นในกระบวนการของตลาด (market process) อันเป็นจิตวิสัยของคนจำนวนมากในระบบเศรษฐกิจ และไม่เชื่อในการแข่งขันสมบูรณ์ ออสเตรียนมองว่าเริ่มต้นการศึกษาเศรษฐศาสตร์มาจาก “สัจพจน์ของการกระทำ” (action axiom) ในขณะที่นีโอคลาสสิคเป็นเศรษฐศาสตร์กระแสหลักที่เชื่อมั่นในการทำให้ตลาดเกิดดุลยภาพ (equilibrium) ที่อาศัยสูตรคำนวณทางคณิตศาสตร์และสมมติฐานการแข่งขันสมบูรณ์ (perfect competition)

=
ปัญหาของนักเศรษฐศาสตร์สำนักเคนส์
=

นักเศรษฐศาสตร์ หรือ นักการเมืองที่ชื่นชอบการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจตามแนวทางแบบการลองผิดลองถูก (trial and error) ที่มี "ชีวิตของคนเป็นเดิมพัน" พวกเขามักจะนำคำอธิบายทางเศรษฐศาสตร์มหภาคแบบเคนส์มาใช้เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นโดยวาดแผนผังการแก้ปัญหาโดยใช้คณิตศาสตร์เป็นภาษาอธิบาย ... พวกเขามองว่า "สูตรคำนวณ" (formula) ที่พัฒนาขึ้น หรือ นำมาใช้ต่อมีประโยชน์ต่อการอธิบายวิกฤตเศรษฐกิจและหลีกเลี่ยงมัน พวกเขาถูกบ่มเพาะมาในสถาบันการศึกษาที่สอนให้ "รัฐ" เป็นผู้ปกครองในมิติของปัจเจก *ทุกด้าน* เมื่อเป็นเช่นนั้นความคิดที่พวกเขาจะไม่สนใจคนที่อยู่ข้างล่างสุดของสังคมจึงเป็นเรื่องที่ถูกแสดงออกมาจากการทำนโยบายของพวกเขา ยกตัวอย่างเช่น มันแสดงออกมาในรูปของ 'การกระจายทรัพยากร' ผ่านการทำรัฐสวัสดิการ ที่เขาเชื่อว่ามันจะทำให้คุณภาพชีวิตของคนให้ดีขึ้น ให้โอกาสคนได้แข่งขันกันแต่ไม่สนใจข้อเท็จจริงที่ว่า "การให้รัฐช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ แล้วทำให้คนลืมตาอ้าปาก มีโอกาสในการแข่งขัน ... ฯลฯ" หากกล่าวอย่างตรงไปตรงมามันไม่ได้มีความแตกต่างจาก "การนำยาเสพติดให้ผู้อื่นเสพ" ให้เขามัวเมาอย่างไม่มีสติ การกระทำรัฐสวัสดิการก็เช่นกัน มันคือ "รูปของการทำให้คนมาบูชารัฐสวัสดิการ" เป็นดั่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์

.
*ประเทศไทยเคยมีการคาดการณ์ว่าจะเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งตามรายงานของ TDRI สรุปผลการระดมความคิด "กลุ่ม 1 เรื่อง การบริหารจัดการเศรษฐกิจมหาภาค" 12 ธันวาคม พ.ศ.2541 หรือ การเตือนภัยเศรษฐกิจ: กรณีวิกฤตค่าเงินที่ในท้ายที่สุดถ้ากลุ่มเทคโนแครตมีข้อมูลเพียงพอที่จะคาดการณ์ล่วงหน้าไม่ให้เกิดวิกฤตได้ แล้วทำไมยังเกิดวิกฤต? หนึ่งในข้อสังเกตก็คือ พวกเขาก็อธิบายสาเหตุ-ผลลัพธ์ตามทฤษฏีเศรษฐศาสตร์ของเคนส์ที่เป็นตัวการทำให้เกิดวิกฤต และมีการศึกษา "เครื่องชี้วัดภาวะที่อาจเกิดวิกฤตค่าเงิน" เพื่อทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้น ...

.
ตัวอย่างที่เด่นชัดในสหรัฐอเมริกาก็มีนักเศรษฐศาสตร์ที่ยึดถือแนวทางการลองผิดลองถูกแล้วสร้างผลเสียต่อเศรษฐกิจของประเทศนั้นอย่าง ‘พอล ครูกแมน’ (Paul Krugman) นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล เขาได้เสนอ "โมเดล" ที่เชื่อว่ามันจะทำให้ญี่ปุ่นหลุดพ้นออกจากวิกฤตเศรษฐกิจในช่วงทศวรรษ 1990s แต่ผลลัพธ์ก็คือ "ญี่ปุ่นไม่ได้ฟื้นตัวจากวิกฤตใด ๆ" สุดท้ายเขาเองก็ได้ขอโทษญี่ปุ่นผ่านบทความของ NYT ในปีค.ศ. 2014 แนวคิดของนักเศรษฐศาสตร์แบบครูกแมนมีจำนวนมากในสถาบันการศึกษาเศรษฐศาสตร์ในสหรัฐอเมริกาที่บ่มเพาะนักคิดที่หมกมุ่นกับตัวเลขโดยละเลยความเป็นจริงว่า “เศรษฐศาสตร์มันไม่ใช่เรื่องของการคำนวณที่ซับซ้อน นอกเหนือจากจะทำให้มันซับซ้อนเอง”

.
แก่นของสังคมคือ “จิตวิสัย” ตรงกันข้ามกับการพยายามหาความจริงแบบ “วัตถุวิสัย” ดังนั้น ความซับซ้อนตรงนี้หากไม่มีความเข้าใจเบื้องต้นแล้วว่าการแยกแยะระหว่างวิทยาศาสตร์สังคมและวิทยาศาสตร์ธรรมชาติมันมี ‘ขอบเขต’ อยู่ตรงไหน และมันทับซ้อนกันได้หรือไม่นั้นมันก็ทำให้การถกเถียงเรื่องเหล่านี้ก็ยังต้องดำเนินต่อไปอย่างไม่รู้จบ

.
บรรณานุกรม

Bruno, Leoni. "On Mathematical Thinking in Economics." Journal of Libertarian Studies 1, No.2 (1977): 101-109.

Friedman, Milton, 1966. "Essays in Positive Economics," University of Chicago Press Economics Books, University of Chicago Press, number 9780226264035, December.

Mises, Ludwig von. 1933. Grundprobleme der Nationalökonomie. Jena. Translated as Epistemological Problems of Economics. George Reisman, trans. New York: New York University Press [1976].

Ludwig von Mises, The Ultimate Foundation of Economic Science (1962), p. 63.

Moreno-Casas, Vicente. 2023. “The Austrian School and Mathematics: Reconsidering Methods in Light of Complexity Economics.” Quarterly Journal of Austrian Economics 25 (4). https://doi.org/10.35297/qjae.010142.

Linsbichler, Alexander, Sprachgeist and Realisticness: The Troubled Relationship between (Austrian) Economics and Mathematics Revisited (August 2, 2021). Center for the History of Political Economy at Duke University Working Paper Series, Available at SSRN: https://ssrn.com/abstract=3897919 or http://dx.doi.org/10.2139/ssrn.3897919

Pareto, Vilfredo. 1927. Manuel d’économie politique. 2nd Ed. Paris
Author Public Key
npub187fs6hc9k2ase93v54h9qzx3zz5rrhwc89gstjdextprzlxcee9sdltz9m