What is Nostr?
Riina
npub1pcr…qlaq
2024-05-18 02:16:54

Riina on Nostr: ...

มีหลักเกณฑ์ตามกฎหมายอย่างไรบ้าง สำหรับการทำโฮมสคูลแบบ Unschooling

พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ มีทั้งหมด 4 ฉบับ
- พ.ศ. 2542 (ฉบับแรก)
- พ.ศ. 2545 (ฉบับแก้ไข)
- พ.ศ. 2553 (ฉบับแก้ไข)
- พ.ศ. 2562 (ฉบับแก้ไข)
ขออนุญาตสรุปให้เข้าใจแบบง่ายๆ คือ ปัจจุบันใช้ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติปี 2542 (แบบแก้ไขบางมาตรา ซึ่งแก้ไขล่าสุดคือปี2562)

ฉบับล่าสุดที่กระทรวงศึกษาธิการระบุไว้ในเว็บไซต์ ซึ่งมีผลบังคับใช้ในปัจจุบันคือ “พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 (ฉบับอัพเดต)”

อ่านฉบับเต็มที่แก้ไขแล้วได้ที่(ฉบับอัพเดต)
Link : https://www.moe.go.th/backend/wp-content/uploads/2020/10/1.-พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ-พ.ศ.2542-ฉ.อัพเดท.pdf


ใจความสำคัญในพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติสำหรับบุคคลที่ทำโฮมสคูล

“มาตรา ๑๑ บิดา มารดา หรือผู้ปกครองมีหน้าที่จัดให้บุตรหรือบุคคลซึ่งอยู่ในความดูแลได้รับการศึกษาภาคบังคับตามมาตรา ๑๗ …“

ไปดูมาตรา ๑๗ กัน

“มาตรา ๑๗ ให้มีการศึกษาภาคบังคับจำนวนเก้าปี โดยให้เด็กซึ่งมีอายุย่างเข้าปีที่เจ็ดเข้าเรียนในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานจนอายุย่างเข้าปีที่สิบหก …”

ไปดูคำจำกัดความของคำว่า สถานศึกษาขั้นพื้นฐาน กัน

มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้ ระบุไว้ว่า
“สถานศึกษาขั้นพื้นฐาน” หมายความว่า สถานศึกษาที่จัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน

มาตรา ๑๕ การจัดการศึกษามีสามรูปแบบ คือ การศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย…
…(๓) การศึกษาตามอัธยาศัย…สถานศึกษาอาจจัดการศึกษาในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งหรือทั้งสามรูปแบบก็ได้

จากข้อความทั้งหมดด้านบน นั่นหมายความว่า
- อนุบาลไม่ใช่ภาคบังคับ
- การศึกษาภาคบังคับ จะเริ่มต้นตั้งแต่เด็กอายุ7ขวบ(ประถม) เด็กจะต้องได้รับการศึกษาเป็นเวลาอย่างน้อย 9ปี จนกระทั่งอายุ16ปี
- การจัดการศึกษาภาคบังคับสามารถทำการศึกษาตามอัธยาศัยได้
- สถานศึกษาขั้นพื้นฐาน สามารถจัดการศึกษาตามภาคบังคับในรูปแบบตามอัธยาศัยได้


ข้อกำหนดเกี่ยวกับสถานที่การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน

มาตรา ๑๘ การจัดการศึกษาปฐมวัยและการศึกษาขั้นพื้นฐานให้จัดในสถานศึกษาดังต่อไปนี้…(๑)…(๒)…(๓) ศูนย์การเรียน ได้แก่ สถานที่เรียนที่หน่วยงานจัดการศึกษานอกโรงเรียน บุคคล ครอบครัว

นั่นหมายความว่า สามารถจัดการศึกษาภายในครอบครัวได้ สามารถจัดสถานศึกษาที่บ้านได้


ต่อมา

หมวด ๔
แนวการจัดการศึกษา

มาตรา ๒๒ การจัดการศึกษาต้องยึดหลักว่าผู้เรียนทุกคนมีความสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ และถือว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด

ข้อนี้ ก็ตรงตามหลักการของผู้ปกครองที่ทำโฮมสคูลกันทุกบ้านเลย


ทีนี้มาดูเกณฑ์การประเมิน(ตามพ.ร.บ.)

มาตรา ๔๘ ให้หน่วยงานต้นสังกัดและสถานศึกษาจัดให้มีระบบการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาและให้ถือว่าการประกันคุณภาพภายในเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการบริหารการศึกษา ที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยมีการจัดทำรายงานประจำปีเสนอต่อหน่วยงานต้นสังกัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเปิดเผยต่อสาธารณชน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาและเพื่อรองรับการประกันคุณภาพภายนอก

ข้อนี้ส่วนตัวเข้าใจว่าภาคบังคับ(ประถม) ต้องรายงานข้อมูลผู้เรียนเข้าระบบเพื่อให้เป็นไปตามาตรฐานการศึกษา (แม้จะทำการศึกษาแบบตามอัธยาศัย) สถานศึกษามีหน้าที่รายงานประจำปีเกี่ยวกับผู้เรียนไปที่เขต และเปิดเผยต่อสาธารณชน เพื่อมาตรฐานการศึกษา ให้รัฐแน่ใจว่าเด็กๆได้รับความรู้อย่างมีมาตรฐาน น่าจะประมาณนั้น

เกณฑ์ที่ต้องได้มาตรฐานและรายงานนั้นควรเป็นไปตามหมวด ๔ มาตรา ๒๓ (ผู้อ่านลองไปอ่านกันเองได้ใน Link เพราะค่อนข้างยาว)

ส่วนตัวเจอข้อนี้แล้วตัดสินใจไม่ทำอะไรเลย นอกจากเก็บร่องรอยการเรียนรู้ของลูก(ไว้เองอยู่แล้ว) วิชาการซึ่งส่วนตัวมองว่าสำคัญไม่แพ้วิชาชีวิตเช่นกัน แต่ที่บ้าน เรียนแบบเข้าใจก่อน ทฤษฎีทีหลัง การประเมินย่อมได้ผลออกมาแตกต่างกัน ในวัยประถมนี้ ส่วนตัวยังมองว่าไม่ใช่เวลามาตัดสินว่าเด็กได้มาตรฐานหรือไม่ เห็นเอกสารที่ต้องจัดเตรียมแล้วแทบอยากปาทิ้ง ก็เลยตัดสินใจไม่ยื่น แต่ก็เตรียมไว้ หากมีการตรวจสอบคุณภาพจากภายนอก (หมวด๖ มาตรา๔๙)

และหากวันใดอยากพาลูกเข้าระบบ
หมวด ๓ ระบบการศึกษา มาตรา ๑๕ ข้อ(๓) ระบุไว้ว่า “…ให้มีการเทียบโอนผลการเรียนที่ผู้เรียนสะสมไว้ในระหว่างรูปแบบเดียวกันหรือต่างรูปแบบได้ ไม่ว่าจะเป็นผลการเรียนจากสถานศึกษาเดียวกันหรือไม่ก็ตาม…”

หมายความว่าพาลูกไปสอบเทียบกลับเข้าระบบได้

เราให้คุณค่ากับการดูแลตัวเอง รับผิดชอบตัวเอง และที่สุดคือความมีอิสรภาพในชีวิต บางวันก็ไม่ได้ทำกิจกรรมอะไร นอนเปื่อยดูหนังกันทั้งวันก็มี (พาลูกดูหนัง วิชาสำคัญของบ้านเลย อิอิ)

ไม่ได้ต่อต้านการไปโรงเรียนแต่อย่างใด แค่เพียงรู้สึกว่า เสียดายเวลาชีวิต ที่เสียเวลาไปมาก แต่ผลลัพธ์ไม่คุ้มค่าเท่าไหร่ (ซึ่งเป็นเหตุผลส่วนตัว)

หากวันไหนลูกเอ่ยปากบอกว่า แม่ หนูอยากไปโรงเรียน ก็พร้อมจะพาลูกไป อยากรู้เหมือนกันว่า เมื่อเขาเข้าไปอยู่ในระบบ เขาจะเป็นแบบไหน เขาจะมองเห็นข้อดี ข้อเสียแล้วมีความคิดเห็นอย่างไร สำหรับครอบครัวของเรา ถ้าลูกจะไปโรงเรียนคือไปเอาประสบการณ์ชีวิต วิชาการต่างๆ ยังไงแม่ก็ต้องมาสอนเองอีกที

ความไม่รู้เพราะยังไม่เคยเรียน ยังดีกว่าการเรียนรู้มาแบบผิดๆ ความหมายคือ แม้ลูกจะไปโรงเรียน เราจะปล่อยให้การศึกษาของลูกนั้นเป็นแค่หน้าที่ของครูไม่ได้ พ่อแม่ต้องเอาใจใส่ลูกด้วยว่า ลูกได้รับการศึกษามาอย่างถูกต้องไหม ลูกได้เจออะไรมาบ้างในแต่ละวัน (เผลอๆการไปโรงเรียนเหนื่อยกว่าสอนลูกเองอีก 😂)

ต้องขออภัยในความสุดโต่งนี้ด้วยนะคะ

ปล. ส่วนตัวไม่ได้เรียนกฎหมายมานะคะ แต่เพราะต้องทำโฮมสคูลจึงจำเป็นต้องหาข้อมูล
ปล.2 ถ้าคุณอ่านจบ คงไม่สงสัยว่าทำไมไม่พูดเรื่องนี้ในรายการ เพราะมันต้องมาเปิดอ่านข้อกำหนดต่างๆแล้วดูท่าจะยาวค่ะ

หากผิดพลาดประการใด ต้องอภัยไว้ ณ ที่นี้ หวังว่าจะมีประโยชน์กับผู้ที่กำลังสนใจทุกท่าน

เข้าไปดูรายละเอียดจากเว็บไซต์ของกระทรวงศึกษาธิการเพิ่มเติมได้ที่ https://www.moe.go.th/พรบ-การศึกษาแห่งชาติ-พ-ศ-2542/

#homeschool



Author Public Key
npub1pcrwas9n9uwmzqcsqh0alselauulx0vkdwzns3jv5wwcwvsjlvts5sqlaq