What is Nostr?
laobtc / Koun
npub14a6…v8nc
2023-08-15 12:54:21

laobtc on Nostr: สุดยอดครับ ดีใจมากที่มาที่ amethyst ...

สุดยอดครับ ดีใจมากที่มาที่ amethyst

ทำไมการขูดรีดแรงงานภายใต้ระบบทุนนิยมถึงไม่มีจริง

.
ในเศรษฐศาสตร์สำนักมากซ์ (Marxian Economics) ที่เริ่มต้นจากแนวคิดของ คาร์ล มากซ์ (Karl Marx) มีการอธิบายไว้ว่า “มูลค่าส่วนเกิน” (“surplus value”) คือมูลค่าของทุนที่เพิ่มขึ้นในการขายสินค้าและบริการ หรือกล่าวก็คือมูลค่าของสินค้าที่ขายลบกับค่าใช้จ่ายของทรัพยากรและแรงงาน พวกเขาอธิบายว่ามูลค่าส่วนเกินคือมูลค่าที่นายทุนเรียกว่า “กำไร” เป็น “มูลค่าแรงงาน” ที่ถูกสร้างขึ้นมาเกินจากต้นทุนที่ตัวแรงงานได้รับ พูดง่าย ๆ ก็คือแรงงานถูกใช้ประโยชน์จากนายทุนให้ใส่แรงงานเข้าไปในสินค้าและบริการในปริมาณที่มากไม่เท่ากับค่าจ้างที่แรงงานได้รับ ฉะนั้นในแง่นี้จึงกล่าวได้ว่ากำไรเป็นผลผลิตของการขูดรีดแรงงานโดยนายทุน

.
อย่างแรกต้องเข้าใจก่อนว่าในเศรษฐศาสตร์สำนักมากซ์ แรงงานถือว่าเป็นสิ่งเดียวที่สามารถสร้างมูลค่าให้กับสิ่งต่าง ๆ ในจักรวาลนี้ได้ พวกเขามองว่ามูลค่าไม่ได้ถูกกำหนดจากความพึงพอใจของผู้ขายและผู้ซื้อในตลาด แต่ “[มูลค่า] สามารถวัดได้ในขั้นตอนการผลิตโดยวัดจากชั่วโมงการทำงานของแรงงาน” อย่างที่สองการแลกเปลี่ยนภายใต้ทุนนิยมถือเป็นการ “บดบัง” มูลค่าที่แท้จริง (มูลค่าที่แรงงานใส่เข้าไป) ของสินค้าและบริการเพราะว่าภายใต้ระบบทุนนิยม วัฒนธรรม, ความสัมพันธ์, นอร์ม และสถาบันทางสังคมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเป็นตัวกำหนดให้ผู้คนในสังคมดังกล่าวมีความรู้สึกว่าสินค้ามีมูลค่ามากกว่ากว่าแรงงานที่ใส่เข้าไปและทำให้ผู้คนให้ความสำคัญกับมูลค่าของสินค้าและบริการมากกว่า (commodity fetishism) ซึ่งจะเห็นได้ว่ามากซ์ให้ความสำคัญกับโลกวัตถุ (แรง) ที่จับต้องได้มากกว่าความต้องการที่เป็นจินตนาการในหัวของมนุษย์ มันจึงพูดได้ว่าการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการในรูปแบบของทฤษฎีสำนักมากซ์ดั้งเดิมนั้นก็คือ “การปฏิเสธการขายสินค้าและบริการในมูลค่าที่มากกว่าค่าใช้จ่ายดั้งเดิมที่ผู้ขายได้จ่ายไปแล้ว” พวกเขาปฏิเสธใจความสำคัญของระบบทุนนิยมด้วยการใช้แรงงานในการอธิบายความสัมพันธ์

.
ในสังคมคอมมิวนิสต์นั้นมากซ์ได้ให้ความเห็นว่ามันจะไม่มีแม้แต่แนวคิดเรื่อง “ความเหลื่อมล้ำ”, “ชนชั้น” และ “การแบ่งแยกผู้คนออกจากกัน” พวกเขาไม่จำเป็นที่จะต้องมีระบบแลกเปลี่ยนอีกต่อไปเมื่อทรัพยากรมีอยู่อย่างมหาศาลและกระบวนการผลิตเกิดขึ้นโดยเครื่องจักร ในสภาวะสังคมแบบนี้มากซ์ยังให้ความเห็นอีกว่าเป็นการ “ปลดแอก” มนุษย์ให้พบกับเสรีภาพที่แท้จริงเนื่องจากมนุษย์ไม่ได้มีโซ่ตรวนที่ต้องทำงานอีกต่อไป มนุษย์จะมีการพัฒนาด้านศิลปะ, วิทยาศาสตร์ และสังคมวิทยา

.
มากไปกว่านั้นมาร์กซ์ให้ความเห็นเพิ่มเติมในหนังสือ “ทุน” (“Capital”) ว่า: ที่แท้จริงแล้วมันไม่ใช่ความต้องการของผู้คนในตลาดที่สร้างมูลค่าขึ้นเพิ่ม [เพื่อสร้างกำไรให้กับนายทุน] แต่เป็นมูลค่าแรงงานที่แรงงานได้ดูแลรักษาทรัพยากรเอาไว้ กล่าวคือทรัพยากร เช่น เหล็ก, น้ำ, ไม้ และอื่น ๆ ถูกรักษาเอาไว้โดยแรงงานหรือแรงงานใส่แรงงานเข้าไปเพิ่มเพื่อไม่ให้เสื่อมมูลค่า มูลค่าของทรัพยากรเหล่านี้จึงยังคงอยู่และเพิ่มขึ้นในระยะยาว สมมติว่าทรัพยากรเหล่านี้ไม่ได้มีการดูแลรักษาหรือใส่แรงงานเข้าไปทรัพยากรเหล่านี้ อ้างอิงตามมากซ์ จะถือว่าไม่มีมูลค่า แต่มากซ์ก็ได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่าถ้าสินค้าและบริการที่เกิดจากการใส่ “แรงที่ไม่จำเป็นต่อสังคม” (“labor that is socially unnecessary”) เข้าไปมูลค่าของสินค้าและบริการดังกล่าวก็จะไม่เพิ่มขึ้น เศรษฐศาสตร์สำนักมากซ์ที่สินค้าและบริการมีมูลค่าได้เพราะ (a) สังคมในแบบองค์รวม (ไม่ใช่ปัจเจก – socially necessary labor time) มองว่าสิ่งดังกล่าวเป็นสิ่งจำเป็น และ (b) แรงงานที่สังคมมองว่ามีความจำเป็นได้ใส่แรงงานเข้าไปในสิ่งดังกล่าว กล่าวคือมากซ์มองกระบวนการผลิตและการสะสมทุนในแง่ขององค์รวม-นามธรรม (“abstract labor”) รวมสังคมเข้าเป็นหนึ่งเดียวและมองข้ามการมีอยู่ของการผลิตสินค้าและบริการแบบปัจเจก (ในภาษาของมากซ์คือ “concrete labor”) โดยอิงทุกอย่างที่แรงงานอย่างเดียว กล่าวคือแรงงานในสังคมสามารถวัดได้จากการเฉลี่ยระยะเวลาทำงานทั้งหมดในการผลิตสินค้าและบริการตามความจำเป็นภายในสังคม สมมติว่ามีแรงงานหนึ่งที่ใช้เวลาผลิตรองเท้าเป็นเวลา 1 ชั่วโมงซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยของแรงงานองค์รวม-นามธรรม แต่อีกแรงงานใช้เวลาในการผลิตรองเท้าดังกล่าว 4 ชั่วโมง เท่ากับว่า 3 ชั่วโมงที่แรงงานคนที่สองใช้เวลาถือว่าไม่มีความจำเป็น ... ซึ่งทั้งหมดนี้ในแง่มุมของมากซ์ในท้ายที่สุดแล้วเมื่อสังคมคอมมิวนิสต์เกิดขึ้นมูลค่าจะไม่มีอีกต่อไป ทั้งหมดที่อธิบายข้างต้นคือการตีความและวิจารณ์สังคมภายใต้ระบบทุนนิยมในแบบของเศรษฐศาสตร์สำนักมากซ์ที่มากซ์กล่าวว่าเป็นการ “บดบัง” ความสัมพันธ์ของมนุษย์ที่แท้จริง

.
เมื่อเราได้อธิบายถึงแนวคิดของเศรษฐศาสตร์สำนักมากซ์คร่าว ๆ แล้วใจความสำคัญของบทความนี้ก็คือการนำแนวคิดดังกล่าวมาวิจารณ์เพื่อแย้งประเด็นที่พวกเขาใช้อธิบายการขูดรีดแรงงานภายใต้ระบบทุนนิยม ในประเด็นนี้พวกเขาใช้แนวคิด “มูลค่าส่วนเกิน” ที่อธิบายไว้ข้างต้นในการวิพากษ์ระบบตลาดเสรีทุนนิยมว่าเป็นระบบที่กดขี่แรงงาน เมื่อนายทุนผู้เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต (means of production) เป็นผลทำให้กฎหมายต่าง ๆ และสถาบันทางสังคมกดไม่ให้แรงงานได้รับมูลค่าที่เกินออกมา ยกตัวอย่างเช่น กฎหมายค่าแรงระบุเอาไว้ว่าจะต้องจ่ายที่ $10 ต่อชั่วโมง ในบริษัทผลิตรองเท้าบริษัทหนึ่งนายทุนจ้างแรงงานแล้วจ่ายเขาที่ $10 ต่อชั่วโมง นายทุน “บังคับ” ให้แรงงานใช้เครื่องมือในการผลิตรองเท้าที่มีผลผลิตออกมาเป็นมูลค่า $10 ต่อ 15 นาที เท่ากับว่า 1 ชั่วโมงมีมูลค่าอิงตามผลผลิตแรงงานที่ $40 แต่นายทุนจ่ายแรงงานที่ $10 ต่อชั่วโมงขณะที่นายทุนได้รับ $30 เท่ากับว่ามูลค่าส่วนเกินคือ $10 เมื่อเป็นเช่นนั้นเศรษฐศาสตร์สำนักมากซ์จึงวิจารณ์ว่าการกระทำแบบนี้ถือว่าเป็นการขูดรีดแรงงานโดยนายทุน มากไปกว่านั้นพวกเขาก็ได้อธิบายเพิ่มเติมว่าถึงแม้ว่าระบบทุนนิยมจะก่อให้เกิดมาตราฐานชีวิตที่ดีขึ้นเป็นอย่างมากมันก็หลีกหนีไม่พ้นเรื่อง “ขูดรีด” อยู่ดี ทางผู้อ่านจะต้องทำความเข้าใจกับแนวคิดของมากซ์และปรัชญาการเมือง-เศรษฐศาสตร์ที่เขาคิดขึ้นมา กล่าวคือสำหรับมากซ์และลูกศิษย์ของเขานั้นการมีอยู่ของระบบทุนนิยมเป็นความจำเป็นที่จะปูทางให้กับการสร้างสังคมคอมมิวนิสต์ พวกเขามองประวัติศาสตร์ในแง่ของ “วิพากษ์วิธี” (“dialectics”) และได้รับอิทธิพลมาจากนักปรัชญา ฟรีดริช เฮเกิล (Georg Wilhelm Friedrich Hegel) แต่เอามาตีความในแบบวัตถุนิยม (materialism) พวกเขาคิดว่าประวัติศาสตร์ที่ผ่านมามีความชอบธรรมในตัวของมันเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องชนชั้นที่ต่อสู้กันหรือเรื่องที่ในอดีตมีทาสขายกันอย่างเสรี พวกเขามองว่าประวัติศาสตร์ที่ผ่านมานั้นคือผลลัพธ์ของความ “ย้อนแย้ง” (“contradictions”) และในท้ายที่สุดความย้อนแย้งจะนำไปสู่สังคมคอมมิวนิสต์ ในแง่นี้ทางเศรษฐศาสตร์สำนักออสเตรียน (Austrian School of Economics) มีคำตอบต่อแนวคิดดังกล่าวดังนี้:

.
1.ทฤษฎีมูลค่าแรงงาน (labor theory of value, LTV): ก่อนที่จะไปประเด็นเรื่องมูลค่าส่วนเกินวิธีการการวัดมูลค่าของมากซ์ควรได้รับการวิจารณ์เสียก่อน ทฤษฎีมูลค่าแรงงานหรือ “LTV” เป็นวิธีการในเศรษฐศาสตร์สายมากซ์ที่มีสำคัญที่สุดในการวิเคราะห์การแลกเปลี่ยนภายในตลาดอิงตามแรงงาน กล่าวคือมันคือฐานที่มากซ์ใช้ในการวิเคราะห์การแลกเปลี่ยนโดยปราศจากตลาดเสรีทุนนิยมว่าควรจะเป็นอย่างไรในโลกแห่งความเป็นจริง สำหรับเศรษฐศาสตร์สายมากซ์แล้วมูลค่าของสินค้าและบริการต้องอิงตามแรงงานที่ใส่ไปตามระยะเวลาและเป็นที่ต้องการในสังคมที่กล่าวไปข้างต้น ซึ่งก็หมายความว่าแรงงานเท่านั้นที่เป็นตัวกำหนดมูลค่าของสินค้าและบริการ มากซ์ได้กล่าวชัดเจนในประเด็นนี้ใน “ทุน” เล่ม 1 บทที่ 1 ว่า:

.
“สิ่งซึ่งกำหนดขนาดของมูลค่าสิ่งของใด ๆ คือ จำนวนแรงงานที่จำเป็นต่อสังคม หรือแรงงาน-เวลาที่จำเป็นต่อสังคมสำหรับการผลิต.... ดังนั้น สินค้าและบริการที่รวมเอาแรงงานจำนวนเท่า ๆ กันไว้ด้วยกัน หรือซึ่งสามารถผลิตในคราวเดียวกัน จึงมีมูลค่าเท่ากัน ค่าของสินค้าชนิดหนึ่งมีค่าเท่ากับค่าของสินค้าชนิดอื่น เนื่องจากแรงงาน-เวลาที่จำเป็นสำหรับการผลิตสินค้าชนิดหนึ่งมีค่าเท่ากับสินค้าที่จำเป็นสำหรับการผลิตสินค้าอีกชนิดหนึ่ง”

.
แนวคิดการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการให้เท่ากับ 0 ของมากซ์ได้รับมาจากปรัชญากรีกโบราณของอริสโตเติล (Aristotle) ที่มองว่าการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการอย่างเท่าเทียม (เท่ากับ 0 สำหรับทั้งสองฝ่าย) ในประเด็นนี้ของมากซ์ทำให้เกิดแนวคิดที่ว่ามูลค่าเป็น “ปรวิสัย” (“objective”) โดยเป็นการมองว่าสินค้าและบริการนั้นมีมูลค่าได้เพราะแรงงานใส่ไปตามระยะเวลาชั่วโมงอย่างเดียว ยกตัวอย่างเช่น มีเพชรเกิดขึ้นตามธรรมชาติ เศรษฐศาสตร์สายมากซ์จะมองว่าเพชรดังกล่าวไม่มีมูลค่าที่เป็น “ประโยชน์ต่อสังคม” และ “ไม่มีแรงงานใส่เข้าไป” เพชรดังกล่าวจึงไม่มีมูลค่าในแง่ของการใช้ประโยชน์ ถ้าตอบแบบสายมากซ์ก็คงต้องบอกว่าเพชรดังกล่าวถูก “บดบัง” ให้มีมูลค่าสูงขึ้นจากโครงสร้างตลาดเสรีทุนนิยมที่บูชาสินค้าและบริการกว่าความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ ซึ่งจะเห็นได้ถึงความเป็นวัตถุนิยมสูงของเศรษฐศาสตร์สำนักมากซ์ที่ปฏิเสธ “สิ่งที่เหนือกว่า” ... แต่ในความเป็นจริงนั้นมูลค่าของสินค้าและบริการขึ้นอยู่กับ “จิตวิสัย” ของผู้ซื้อและผู้ขาย (“subjective theory of value”) ในที่นี้ทางสำนักออสเตรียนได้ตีทฤษฎี LTV ตกไปตั้งแต่ที่หนังสือ “ทุน” ตีพิมพ์ออกมาใหม่ ๆ โดยผู้ที่วิจารณ์แนวคิด LTV ของมากซ์ (และของสำนักเศรษฐศาสตร์สายคลาสสิค) คนแรก ๆ คือ ออยเกน ฟอน เบิห์ม-บาแวร์ก (Eugen von Böhm-Bawerk) หนึ่งในผู้ก่อตั้งสำนักออสเตรียน เบิห์ม-บาแวร์กให้ความเห็นว่ามูลค่าของสินค้าและบริการเกิดและเพิ่มขึ้นมาเพราะว่ามีความต้องการสิ่งดังกล่าวในตลาด ยกตัวอย่างเช่น เมื่อมีคนต้องการเพชร บริษัทขุดเพชรก็ลงทุนและแรงงานเพื่อไปขุดเพชรแล้วนำมาผ่านกระบวนการตัดแต่งต่าง ๆ จนเป็นเพชรที่มีมูลค่าสูง เพราะว่าผู้คนในตลาดมองว่าเพชรหายากจึงมีมูลค่าที่สูง แรงงานไม่ได้เป็นตัวกำหนดมูลค่าของสินค้าและบริการที่จิตวิสัยของผู้คนในตลาดต้องการ ในแง่นี้ทางสำนักออสเตรียนตีตก LTV ไปตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 ตอนปลายโดยใช้ปัจเจกนิยมวิธี (methodological individualism) โดยมองว่าปัจเจกเป็นตัวกระทำ (agent) มากกว่าที่จะเป็นแรงงานและสังคมแบบองค์รวม ทุกวันนี้เศรษฐศาสตร์กระแสหลักได้ปฏิเสธ LTV ตั้งแต่ครั้งที่สำนักออสเตรียนโต้แย้งมากซ์

.
2.มูลค่าส่วนเกิน (surplus value): ซึ่งตามที่กล่าวข้างต้นก็เท่ากับว่า “ค่าจ้าง” ซึ่งเป็นหนึ่งในสินค้าและบริการที่จ่ายให้กับแรงงานโดยนายทุนก็ต้องอ้างอิงกับการกำหนดผ่านจำนวนแรงงานที่มากซ์ใส่เข้าไปตามที่มากซ์กล่าว แต่เมื่อค่าจ้างไม่ได้อิงตามปริมาณของแรงงานที่ใส่เข้าไปและความจำเป็นต่อสังคมที่มากซ์กล่าวทฤษฎีมูลค่าส่วนเกินก็ถือว่าไม่สามารถอธิบายปรากฏการณ์ทางเศรษฐศาสตร์ในโลกแห่งความเป็นจริงได้ กล่าวก็คือมูลค่าไม่สามารถเกิดขึ้นได้จากแรงงานที่จำเป็นแต่เกิดจากความต้องการ (จินตนาการ) ของผู้ซื้อในตลาดที่ให้ค่ากับสินค้าและบริการใดมากกว่ากันเท่านั้น ในแง่นี้จึงหมายความว่าค่าจ้างนั้นถูกตีความว่าเป็นผลลัพธ์ของจิตวิสัยของผู้จ้างและแรงงานในสังคมที่ตกลงพึงพอใจกัน ทุกวันนี้เราจึงเห็นการปลดพนักงานระดับล่างออกจากบริษัทใหญ่เมื่อรัฐทำกฎหมายค่าแรงขั้นต่ำให้สูงขึ้น เมื่อรัฐคิดว่ามันสามารถที่จะควบคุมกลไกตลาดได้ผลกระทบก็จะตามมา ในงาน “On the Labor Theory of Value as the Basis for the Analysis of Economic Inequality in the Capitalist Economy” ผู้เขียนก็ได้อธิบายว่าการใช้แนวคิด LTV เพื่อเสริมความเห็นที่ว่าในสมัยบรรพกาลไม่มีการขูดรีดก็ถูกตีตกเช่นกันเนื่องจากในสมัยนั้นยังไม่มีการพัฒนาการทางตลาดให้เป็นระบบระเบียบมากนัก แนวคิด LTV ที่อิงตามวิธีการใช้วิพากษ์วิธีต่อระบบตลาดทุนนิยมที่พัฒนามากแล้วก็ถือว่าพิสูจน์ไม่ได้ ... มากไปกว่านั้นเมื่อทฤษฎีมูลค่าส่วนเกินอิงตามทฤษฎี LTV ตามที่กล่าวไปข้างต้น (1) ที่โดนตีตกไปแล้ว ทฤษฎีมูลค่าส่วนเกินก็ถูกตีตกไปด้วยเช่นกัน ... และในแง่ของจริยศาสตร์สายออสเตรียนการขูดรีดหรือบังคับให้แรงงานเป็นทาสนั้นไม่มีอยู่จริงเนื่องจากแรงงานมีสิทธิที่จะเลือกว่าจะทำงานหรือไม่ก็ได้ ในขณะเดียวกันเจ้าของพื้นที่กรรมสิทธิ์หรือ “นายทุน” ตามภาษามากซ์นั้นถือว่ามีอำนาจที่จะบังคับใช้ ถ้าแรงงานไม่เห็นด้วยกับการทำงานบางอย่าง, สภาพแวดล้อมการทำงาน หรือแม้แต่ค่าจ้างเองแรงงานก็มีสิทธิที่จะไม่เซ็นต์สัญญาว่าจ้างตั้งแต่แรก กล่าวคือถ้าแรงงานเซ็นต์สัญญาว่าจ้างเพื่อที่จะทำงานแล้วเท่ากับว่าพวกเขาอนุญาตให้นายทุนใช้แรงงานพวกเขาอย่างไรก็ได้ตามที่กล่าวไว้ในสัญญา ในประเด็นนี้รวมไปถึงการยอมเป็นทาสหรือกึ่งทาสด้วยเช่นกัน ฉะนั้นในแง่ที่มีการขูดรีดเกิดขึ้นจริงโดยต่างจากนิยามของมากซ์ก็ถือว่าเป็นการขูดรีดในรูปแบบของพื้นที่แต่ละที่เท่านั้นไม่ได้เกี่ยวข้องในแง่ของ “ระบบ” ที่มากซ์ต้องการจะสื่อในงานของเขา

.
บรรณานุกรม

Catephores, George. “The Falling Tendency of the Rate of Profit”. United Kingdom: Red Globe Press. 1989.

Counter, Cassidy and G. P. Manish. “Labor and Capitalist Exploitation: Böhm-Bawerk and the Close of Marx’s System”. Auburn, AL: Mises Institute. May 9, 2018. https://mises.org/wire/labor-and-capitalist-exploitation-bohm-bawerk-and-close-marxs-system.

Author Public Key
npub14a69js5xdsshzd7dftuqrrjypqtfcez667ed5ezwa808xzj2uqus9zv8nc