What is Nostr?
Libertarian.realpolitik / Libertarian Studies
npub187f…tz9m
2023-11-05 19:56:11

Libertarian.realpolitik on Nostr: ...

เสรีนิยมจะต้องโอบรับลัทธิชาตินิยม (Liberalism Must Embrace Nationalism)

.
โดย HoppeanismBoy
.

ในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ที่ผ่านมานั้นเราจะเห็นได้ว่ามนุษย์นั้นมักยึดโยงและมีความเชื่อ รวมถึงความภักดีต่อบางสิ่งอยู่เสมอไม่ว่าจะเป็นความศรัทธาในศาสนา ปรัชญาบางอย่าง หรือคุณธรรม รวมไปถึงความจงรักภักดีต่อ ครอบครัว-เครือญาติ , ชุมชน หมู่บ้าน , ชนเผ่า หรือ กลุ่มชาติพันธุ์ของตนเอง สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่ามนุษย์นั้นต้องการเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าตนเอง หรือ นั้นก็คือ “สังคม” เช่นเดียวกับที่ “อริสโตเติล” นักปรัชญาชาวกรีกผู้มีชื่อเสียง ได้เคยกล่าวไว้ในงานเขียนของเขาอย่าง “โพลิติกส์” ( “Politics” ) ว่า “โดยธรรมชาติแล้วมนุษย์นั้นเป็นสัตว์สังคม” เพราะฉะนั้นแนวคิดการรวมกลุ่มแบบอัตลักษณ์นิยม (identitism or Tribalism) ซึ่งหมายถึงการที่ผู้คนแสวงหาในการให้ความสำคัญต่อคุณค่าของกลุ่มตนเอง ซึ่งอาจผูกพันกันด้วย สายเลือด ความสัมพันธ์แบบส่วนตัว คุณธรรม ปรัชญา เชื้อชาติ ศาสนา ก่อนกลุ่มภายนอกที่ไม่มีความสัมพันธ์ใด ๆ กับตนเองโดยกระบวนการดังกล่าวก็เป็นกระบวนการจัดโครงสร้างตามลำดับชั้นที่เป็นไปอย่างธรรมชาติ นั้นก็คือ มนุษย์มักให้ความสำคัญกับสิ่งที่อยู่ใกล้ตนเองหรือมีความสัมพันธ์ด้านใดด้านหนึ่งกับตนเองก่อนที่จะเผื่อแผ่หรือขยายวงไปยังกลุ่มภายนอกอื่น ๆ (In-group and out-group) ที่มีความสำคัญน้อยกว่าตามลำดับ แน่นอนว่ากระบวนการดังกล่าวนั้นเป็นการยืนยันถึงคุณลักษณะสองประการของมนุษย์ นั้นคือ (a). ที่ว่าการแบ่งแยก การเลือกปฏิบัติและการจัดลำดับรวมไปถึงการให้ความสำคัญต่อคุณค่าสิ่งต่าง ๆ อย่างไม่เท่ากัน; (b). นั้นได้แก่ การให้ความสำคัญ การให้สิทธิพิเศษ ต่อกลุ่มของตนเองหรือผู้ที่มีความใกล้ชิดกับตนเองก่อนเสมอนั้น ทั้งสองส่วนเป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ อย่างไรก็ตามคุณลักษณะและแนวคิดประการต่าง ๆ อันเป็นไปตามธรรมชาติของมนุษย์เหล่านี้ก็ดูเหมือนจะค่อย ๆ สูญเสียบทบาทการนำทางความคิดเหนือผู้คนในสังคมสมัยใหม่ไปทีละเล็กทีละน้อย อันเป็นผลมาจากการที่ สถาบันทางการเมือง วัฒนธรรม สื่อ รัฐ ฯลฯ ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมและชี้นำโดยเครือข่ายชนชั้นสูงทั้งหลายของเรา เลือกที่จะค่อย ๆ เปิดรับและเผยแพร่คุณค่า อุดมคติและศีลธรรมแบบโลกสมัยใหม่ที่วางรากฐานอยู่บนเงื่อนไขของแนวคิดแบบเสมอภาคนิยม ความก้าวหน้า (ในความหมายที่หมายถึง “ความเท่าเทียมเชิงผลลัพธ์”) และ ประชาธิปไตยเข้าไปในสังคมแทน ซึ่งการพยายามขยายแนวคิดความเสมอภาคนิยมและความเป็นประชาธิปไตยดังกล่าวนั้น ก็นำไปสู่การอ่อนแอลงของสถาบันทางสังคมอันเป็นอิสระ รวมไปถึงมันยังนำไปสู่การลดทอนอำนาจอธิปไตยของปัจเจกบุคคลในสังคมลง เพื่อเปิดทางให้กับการที่รัฐจะเข้ามามีอิทธิพลหรือบทบาทเหนือปริมณฑลต่าง ๆ ในชีวิตมากขึ้น แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากการการแผ่ขยายของแนวคิดศีลธรรมสมัยใหม่อันมีรากฐานตั้งอยู่บนความเสอมภาคนิยมผ่านรัฐและสถาบันระหว่างประเทศที่สนับสนุนการนำโครงการโลกาภิวัตน์ขนาดใหญ่ไปให้แต่ละรัฐปฏิบัติเพื่อผลักดันวาระซ่อนเร้นในการจัดตั้งลัทธิเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จขึ้นทั่วโลกนั้นเอง

.
โดยในปัจจุบันนั้นเราต้องยอมรับก่อนว่าในรัฐซึ่งอยู่ภายใต้ขอบเขตของโลกเสรีนิยมประชาธิปไตยหลายแห่งนั้นไม่มีสิ่งที่เรียกว่าแนวคิดกลุ่มอัตลักษณ์นิยมหรือความเป็นอัตลักษณ์เฉพาะอีกต่อไป รวมทั้งรัฐและสถาบันต่าง ๆ ในสังคมเหล่านั้นไม่อนุญาตให้ผู้คนคิดถึงกลุ่มอัตลักษณ์นิยมของตนเองหรือภูมิใจต่อมัน ปรากฏการณ์เช่นนี้สามารถเห็นได้ในหลายรัฐของโลกตะวันตก เช่น ในเยอรมัน ความเป็นเยอรมันนั้นไม่ใช่หมายถึงชาวยุโรปผิวขาวเชื้อสายคอเคเซียน ซึ่งมีลักษณะทางกายภาพ ตาฟ้า ผมทอง และมีลักษณะทางสังคม ค่านิยม ภาษา ประเพณีและมีวัฒนธรรมแบบเยอรมัน รวมไปถึงนับถือศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์หรือคาทอลิกอีกต่อไป แต่มันหมายถึงใครก็ตามที่สามารถอพยพหรือถูกนำเข้ามาโดยรัฐบาลเยอรมัน (ที่ถูกควบคุมโดยนักการเมืองและพรรคการเมืองฝ่ายซ้าย) ไม่ว่าจะเป็นชาวมุสลิม หรือ ชาวแอฟริกัน ฯลฯ คนพวกนี้จะถูกถือว่ามีความเป็นชาวเยอรมัน เช่นเดียวกับชาวเยอรมันดั้งเดิมและพวกเขาไม่จำเป็นต้องถูกดูดซึมให้เป็นส่วนหนึ่งของประชากรชาวเยอรมันดั้งเดิมแต่อย่างใด เช่นเดียวกับสหรัฐอเมริกา ความเป็นอเมริกานั้นไม่ได้หมายถึง ชาวผิวขาวแองโกล-แซกซอน ที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ (White Anglo – Saxson Protestants) หรือค่านิยม มารยาท การศึกษาที่เหนือกว่า อีกต่อไปแต่มันหมายถึงคนทุกกลุ่มที่สามารถอพยพมาสู่ดินแดนดังกล่าวได้ แม้แต่ในไทยเองก็มีกระบวนการทำลายอัตลักษณ์ดังกล่าวจากกลุ่มขบวนการ นักวิชาการ และสื่อที่มีความคิดโน้มเอียงไปทางซ้ายที่พยายามรื้อถอนความเป็นไทยที่มีความหมายถึง กลุ่มประชากรที่พูดภาษาและมีวัฒนธรรมแบบขร้า-ไท นับถือศาสนาพุทธ-พราหมณ์-แถน โดยการพยายามแทนที่ความเป็นไทยดังกล่าวด้วยแนวคิดแบบพหุวัฒนธรรมนิยมและความเป็นพลเมืองโลก (หมายถึงแนวคิดที่เปิดกว้างในการรับผู้อพยพ เช่น ชาวโรฮิงยา หรือ ประชากรในส่วนอื่น ๆ เข้ามา) ทั้งที่โดยข้อเท็จจริงประเทศไทยนั้นถูกก่อตั้งขึ้นโดยมีประชากรส่วนใหญ่พูดภาษาและมีวัฒนธรรมแบบขร้า-ไท รวมไปถึงศาสนาพุทธ-พราหมณ์-แถนเป็นพื้นฐาน จากปรากฏการณ์เหล่านี้เราจะเห็นได้ว่าโลกเรากำลังเข้าสู่กระบวนการที่นำไปสู่การไม่มีเส้นแบ่งระหว่างเขตแดน รวมถึงกระบวนการข้ามชาติขนาดใหญ่ที่ลดทอนกำลังลดทอนชุมชนแห่งชาติในแต่ละแห่งโลกลง มันจะไม่มีความแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่อีกพวกเขาเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็น ชาวเยอรมัน ชาวอังกฤษ ชาวอเมริกัน ชาวตุรกี หรือ ชาวอาหรับ ฯลฯ จะไม่มีความแตกต่างกันอีกต่อไป แน่นอนว่ากระบวนการดังกล่าวเหล่านี้นั้นไม่อาจจะบรรลุด้วยกระบวนการอย่างสันติวิธีหรือได้รับความยินยอมจากประชากรทั้งหมดได้นอกจากการใช้อำนาจเผด็จการและกำลังบังคับให้ประชากรในแต่ละท้องถิ่นให้ยอมรับกระบวนการสลายอัตลักษณ์ดังกล่าวโดยรัฐเท่านั้น

.
เพราะสิ่งที่เป็นชนเผ่า ศาสนา เชื้อชาติ ฯลฯ ที่ถูกนิยามโดยรวมจากโลกสมัยใหม่ว่า “ลัทธิชาตินิยม” นั้นมีความหมายถึงความพิเศษ ความแตกต่าง และ เอกลักษณ์ แน่นอนสิ่งเหล่านี้ไม่มีความเชื่อมโยงกับคุณค่าของโลกสมัยใหม่ที่กำลังแพร่หลายอยู่ในสังคมของเราอย่าง ความก้าวหน้า แนวคิดเสรีภาพที่จะทำอะไรก็ได้โดยไร้กฎเกณฑ์ ความเสมอภาคนิยม หรือประชาธิปไตยแต่อย่างใด อีกทั้งแนวคิดข้างต้นยังนำไปสู่สภาวะขัดแย้งกับแนวคิดอย่างหลังของสังคมสมัยใหม่ที่กำลังแพร่หลายอยู่อีกด้วย เพราะความพิเศษ ความเป็นเลิศ ความเหนือกว่า ย่อมนำไปสู่การเลือกปฏิบัติเสมอ ชนเผ่าย่อมให้ความสำคัญกับคนภายในเผ่าก่อนคนนอก ประเทศย่อมให้ความสำคัญกับคนในประเทศตัวเองก่อนคนนอก เทพเจ้าย่อมให้ความสำคัญกับผู้นับถือก่อนผู้ที่ไม่นับถือ นี้คือปรากฏการณ์อันเป็นไปตามธรรมชาติของมนุษย์ เนื่องจากมนุษย์นั้นอยู่เป็นเผ่าพันธุ์ เราต้องการเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม เราโหยหาความผูกพันและการผูกมัด นั่นคือเหตุผลที่เรารักชมรม ทีม สมาคม ครอบครัวแทบจะไม่มีมนุษย์คนไหนอยู่เป็นฤาษี แม้แต่พระและนักบวชก็ยังอยู่รวมกันเป็นสำนัก แต่สัญชาติญาณความเป็นเผ่าพันธุ์ไม่ใช่แค่สัญชาตญาณในการรวมกลุ่ม มันรวมถึงสัญชาตญาณในการกีดกันออกจากกลุ่มด้วย ในทางกลับกันแนวคิดแบบเสมอภาคนิยมสมัยใหม่กลับขัดแย้งต่อธรรมชาติดังกล่าวของมนุษย์ เพราะการที่มันปูรากฐานทางแนวคิดด้วยความพยายามที่จะสนับสนุนความเท่าเทียมกันในหมู่มนูษย์ให้มากที่สุด มันก็จะต้องเลือกที่จะขจัดการแบ่งแยกและกีดกันดังกล่าวออกไปและวิธีการที่จะขจัดการแบ่งแยกและกีดกันดังกล่าวออกไปได้ก็ด้วยการที่จะต้องทำลายกลุ่มอัตลักษณ์นิยมในสังคมนั้น ๆ ลง แน่นอนว่าวิธีการดังกล่าวไม่อาจจะบรรลุด้วยวิธีการอย่างสันตินอกไปเสียจากการใช้อำนาจรัฐเผด็จการเข้ามาเพื่อแทรกแซงและเปลี่ยนสังคม ในรูปแบบของการทำลายแนวคิดอัตลักษณ์นิยมด้วยการส่งเสริมเจตคติแห่งความเท่าเทียมในสังคม การส่งเสริมหรือให้อภิสิทธิ์แก่คนชายขอบ อย่างเช่น ผู้หญิง LGBTQ ชนกลุ่มน้อยทางเชื้อชาติ สีผิว ศาสนา หรือการทดแทนกลุ่มประชากรดั้งเดิมด้วยการนำเข้าผู้อพยพ กระบวนการเช่นนั้นเป็นสิ่งที่ค่อย ๆ เกิดขึ้นในยุโรปหรือเมริกา ที่รัฐบาลของพวกเขาได้เปิดทางให้มีการทำลายอัตลักษณ์นิยม ส่งเสริมคนชายขอบ อย่าง LGBTQ+ หรือชนกลุ่มน้อยทางเชื้อชาติ สีผิว ศาสนา รวมทั้งการนำเข้าผู้อพยพต่างชาติเข้ามาโดยที่คนในประเทศไม่ได้ยินยอมหรือเห็นดีเห็นงามด้วย สิ่งเหล่านี้ทืำให้เกิดการขยายตัวของปัญหาในสังคมที่มากขึ้นและเมื่อปัญหาในสังคมมากขึ้นมันก็จะเป็นประโยชน์ต่อชนชั้นนำกลุ่มใหม่ที่ควบคุมระบบการเมืองและเศรษฐกิจอยู่ในโลกเสรีประชาธิปไตย อย่างพวกชนชั้นนำผู้จัดการ (Managerial elite) มากขึ้นเพราะอย่างที่เราทราบกันดีว่าตำแหน่งของพวกเขาเกิดขึ้นมารวมทั้งดำรงอยู่ได้ก็จากปัญหาทางเทคนิคอันซับซ่อนในสังคมทั้งในองค์กรภาครัฐและเอกชน และยิ่งปัญหามีมากขึ้นเท่าไหร่พวกเขาก็จะเพิ่มตำแหน่งและบทบาทให้แก่ชนชั้นนำนักจัดการนิยมมากขึ้นเท่านั้น ผ่านการขยายตัวของหน่วยงาน แผนก หรือ องค์กรของทั้งภาครัฐและเอกชน แน่นอนว่าในสังคมที่เส้นแบ่งแยกทั้งในทางภูมิศาสตร์คือ เขตแดนระหว่างประเทศ รวมไปถึงเขตแดนทางด้านวัฒนธรรมที่แบ่งแยกกันผ่านความหนาแน่นของกลุ่มอัตลักษณ์ในพื้นที่ใด พื้นที่หนึ่งเลยไปจนถึงสถาบันทางสังคมแบบอิสระในอดีตที่อ่อนแอลง ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นผลของการเพิ่มความเสมอภาคนิยมในสังคม มันก็ยิ่งทำให้จะต้องมีหน่วยงานและอำนาจมากขึ้นในการเข้ามาจัดการปัญหาดังกล่าว หรือในอีกนัยก็คือจะต้องมีการขยายอำนาจให้แก่ชนชั้นนำนักจัดการนิยมมากขึ้นนั้นเอง

.
อย่างไรก็ตามสิ่งที่น่าแปลกใจสำหรับเรื่องนี้อย่างที่สุดนั้นก็คือไม่ใช่การที่ฝ่ายซ้าย รวมทั้งสถาบันของพวกเขา หรือ พรรคการเมืองของพวกเขา กลับเข้าร่วมสนับสนุนจุดยืนดังกล่าวของชนชั้นนำนักบริหาร แต่เป็นการที่ฝ่ายเสรีนิยมบางส่วน หรือ บางคน ก็สนับสนุนโครงการสลายอัตลักษณ์ดังกล่าวด้วย เพื่อสร้างมนุษย์สายพันธุ์ใหม่ขึ้นมาพวกเขาเชื่อว่ามนุษย์จะบรรลุถึงเสรีภาพหรือเหตุผลได้มากที่สุดก็ต่อเมื่อพวกเขาละทิ้ง ตำนาน คำสอนทางศาสนา วัฒนธรรม ค่านิยม ครอบครัว ประเทศ หรือ เชื้อชาติของตนเองทิ้งไปเพื่อเปิดรับความเป็นเหตุเป็นผลอย่างถึงที่สุด เมื่อนั้นพวกเขาจะกลายเป็นมนุษย์ผู้มีอิสระอย่างแท้จริง อย่างไรก็ตามเราขอพูดกับชาวเสรีนิยมด้วยข้อเท็จจริงสองสามข้อดั่งต่อไปนี้

.
(I) “ยอมรับว่าเสรีภาพเป็นไปตามสภาพธรรมชาติของมนุษย์” ข้อแรกชาวเสรีนิยมจะต้องเลิกเชื่อมั่นว่าเสรีภาพจะบรรลุได้ก็ต่อเมื่อมนุษย์ทุกคนสลัดทิ้งไปซึ่งความคิดแบบโบราณคร่ำครึอันเกี่ยวกับ ศรัทธา เชื้อชาติ หรือ ประเทศ และเป็นบุคคลซึ่งใช้ชีวิตอยู่โดยอาศัยเหตุและตรรกะเป็นเครื่องนำทางสูงสุด เราต้องยกเลิกมุมมองอุดมคติและยูโทเปียดังกล่าวเพราะสิ่งเหล่านี้ในท้ายที่สุดจะไม่มีวันเกิดขึ้น จริง มนุษย์นั้นล้วนเปราะบาง ท่วมท้นไปด้วยความรู้สึก ทั้งยังมีลำดับชั้นและเลือกปฏิบัติ สิ่งที่ชาวเสรีนิยมพึงควรจะทำจึงเป็นการเข้าใจมนุษย์ตามธรรมชาติอย่างที่พวกเขาจะเป็นตลอดมาและจะเป็นตลอดไป มนุษย์ไม่สามารถถูกทำให้สมบรูณ์แบบได้ สิ่งที่เราทำได้ดีที่สุดคือเสนอทางเลือกอย่างสมัครใจให้แก่พวกเขาในการสร้าง เข้าร่วม หรือ แยกตัวออกจากสังคมตามที่พวกเขาพึงปรารถนาเท่านั้น การพยายามสร้างแนวทางการบูรณาการใด ๆ ก็ตามเพื่อทำให้มนุษย์ทุกคนสมบูรณ์ รังแต่จะเป็นการทำลายหลักการเสรีนิยมโดยตัวมันเองและเปิดทางให้แก่ลัทธิเผด็จการโดยรัฐมากขึ้นเท่านั้น

.
(II) “โอบกอดแทนที่จะปฏิเสธภาคประชาสังคม” ข้อที่สอง ชาวเสรีนิยมแม้กระตือรือร้นต่อการยอมรับแนวคิดตลาดเสรีทุนนิยม พวกเขากลับมีมุมมองที่ผิดพลาดนั้นคือการวางตัวเป็นศัตรูต่อสถาบันทางสังคมแบบอิสระอย่างเช่น ครอบครัว ประเพณี วัฒนธรรม อัตลักษณ์ทางเชื้อชาติมาอย่างยาวนาน เหมือนดั่งกับว่าการเป็นเสรีนิยมนั้นมีความหมายเท่ากับการปฏิเสธประเพณีดั่งเดิม กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือการเป็นเสรีนิยมนั้นหมายถึงการเป็นศัตรูกับภาคประชาสังคม ทั้งที่ในความเป็นจริงการดำรงอยู่ของภาคประชาสังคมที่อิสระนั้นต่างหาก ที่มีส่วนสำคัญอย่างมากในการที่เราจะประสบความสำเร็จสำหรับโครงการทางการเมืองของชาวเสรีนิยมและอิสรนิยมในการลดอำนาจหรือต่อต้านอำนาจรัฐ เนื่องจากภาคประชาสังคมเป็นรูปแบบการจัดระเบียบสังคมรูปแบบเดียวที่เกิดความสมัครใจและเป็นไปตามระเบียบโดยธรรมชาติ ทั้งมันยังเป็นพลังเดียวที่สามารถกักกันการขยายตัวของอำนาจรัฐเผด็จการมาโดยตลอด

.
(III) “ลัทธิสากลนิยมทางการเมืองไม่ใช่เป้าหมาย” ข้อสุดท้ายชาวเสรีนิยมต้องยกเลิกมุมมองในการขยายแนวคิดเสรีนิยมไปสู่สังคมอื่น ๆ หรือการทำให้โลกทั้งหมดกลายเป็นเสรีนิยมประชาธิปไตย ชาวเสรีนิยมควรพึงสังวรไว้ว่าสิ่งที่เราควรทำมีเพียงแค่การพยายามลดขนาดและขอบเขตของอำนาจรัฐลงให้มากที่สุดเท่านั้น ไม่ใช่การบูรณาการให้ทั้งโลกกลายเป็นดินแดนอุดมคติสำหรับลัทธิเสรีนิยม ลัทธิเสรีนิยมจะหยุดที่จะส่งเสริมมุมมองที่สนับสนุนให้รัฐเข้าไปแทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่น ๆ เพื่อสร้างรูปแบบสังคมแบบเสรีนิยมขึ้นมาอีกทั้งต้องสอดประสานหลัการของตนเองเข้ากับอัตลักษณ์ของในแต่ละท้องถิ่นและท้องที่

.
ท้ายสุดแล้ว สิ่งที่เราต้องยึดถือคือเราไม่มีวันจะทำให้เมกกะเป็นปารีส ทำให้ชาวไอริชเป็นอะบอริจิน ทำให้ชาวพุทธเป็นชาวมุสลิม หรือ ชาวคริสต์ทำให้ชาวกัมพูชาเป็นชาวไทย สิ่งที่ดีกว่าสำหรับเราก็คือการทำให้พวกเขาทั้งหมดเป็นสิ่งที่พวกเขาเป็น เราต้องยอมรับในทุกแห่งหนบนโลกและทุกสถานที่ ผู้คนในพื้นที่ดังกล่าวควรมีสิทธิที่จะกำหนดตนเอง ผ่านการแยกตัวและกระจายอำนาจอย่างสุดโต่ง เพราะเราไม่มีวันรู้ว่าอะไรจะดีต่อทุกมนุษย์ทุกคนซึ่งอย่างที่รู้กันเผ่าพันธ์มนุษย์นั้นเป็นกลุ่มจำนวนประชากรที่มีจำนวนมากกว่าหลายพันล้านคนบนโลก ด้วยเหตุนี้เองการคืนอำนาจอธิปไตยให้แก่พวกเขาจึงเป็นสิ่งที่สมควรทำอย่างที่สุด เช่นนั้นเองเราจึงเป็นนักเสรีนิยมเพราะเราเชื่อเราไม่ได้รู้ดีและอีกทั้งเรายังเชื่อว่าไม่มีใครจะสามารถรู้ดีแทนคนอื่นได้ทั้งหมด เพราะฉะนั้นการต่อสู้ของเราทั้งหมดจึงไม่ได้กินความหมายแค่การต่อสู้เพื่อเสรีภาพของปัจเจกบุคคลเท่านั้น แต่เรากำลังต่อสู้เพื่อบางสิ่งที่มีความหมายสูงที่สุดอย่างเลือดและดิน ครอบครัว ประเทศ ศาสนา เช่นเดียวกับทหารซึ่งถ้าหากเราลองถามพวกเขาว่ากำลังสู้เพื่ออะไรแน่นอนว่าสิ่งที่พวกเขาจะตอบนั้นคือในความคิดของพวกเขาภายใต้ช่วงสงครามที่ดุเดือด พวกเขากำลังต่อสู้เพื่อเพื่อนของพวกเขาจริง ๆ เพื่อปกป้องคนในหน่วยของพวกเขา และเพื่อเติมเต็มสำนึกในหน้าที่ส่วนตัว ดังนั้นแนวคิดเลือดและดิน ครอบครัว ประเทศ ศรัทธา และ เชื้อชาติ จึงเป็นพลังที่ลัทธิเสรีนิยมนั้นควรจะโอบรับมันเอาไว้

.
บรรณานุกรม

Deist, Jeff. For a New Libertarian. (Auburn, AL: Ludwig von Mises Institute, 2017).

“Group Narcissism.” Group Narcissism, Erik Torenberg, 28 Oct. 2023, eriktorenberg.substack.com/p/group-narcissism?fbclid=IwAR1Nzg9NqQLjFYiTiFhRVvJBJo-O6AQXou80MXi4V5coapY7__esTvQWHjg.

“Modern Morality Prioritizes Avoiding Evil.” Modern Morality Prioritizes Avoiding Evil, Erik Torenberg, 30 Sept. 2023, eriktorenberg.substack.com/p/modern-morality-prioritizes-avoiding?fbclid=IwAR0Y1OWuOVduQ9NbZqL2XAY7Wb4ItHCD7zh9fYRuEmlHNSs-PdMqMpqy8Z0.


Author Public Key
npub187fs6hc9k2ase93v54h9qzx3zz5rrhwc89gstjdextprzlxcee9sdltz9m