What is Nostr?
Jakk Goodday
npub1mqc…nz85
2024-07-24 03:40:52

Jakk Goodday on Nostr: ผมชอบเวลาพี่ป้ำโน๊ต ...

ผมชอบเวลาพี่ป้ำโน๊ต เพราะมันมักจะมีมุมให้ผมได้แลกเปลี่ยนอยู่เสมอ น่ารักดี..

น้องน่าจะซึมซับเรื่องราวรอบตัวได้ดีมาก แถมยังเชื่อมโยงกับสิ่งที่ตัวเองสนใจอย่างเกมได้ด้วย

ส่วนตัวผมก็เห็นด้วยนะว่าเกมนี่แหละ สอนอะไรได้เยอะกว่าที่คิด ผมโตมากับค่านิยมที่มองเกมเป็นอบายมุข และถูกห้ามไม่ให้เล่นอย่างเข้มงวด จนผมต้องทำตัวเหลวแหลกเพื่อจะหาประสบการณ์เล่นเกมให้ตัวเองให้ได้ ..แต่ช่างเรื่องนั้นไปก่อน

อย่างที่พี่ป้ำบอก.. ประสบการณ์ตรงในเกม มันทำให้เด็กๆ เห็นภาพชัดเลยว่าโลกนี้มันไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ จะทำอะไรสักอย่าง มันต้องใช้ความพยายาม วางแผน บริหารจัดการทรัพยากร ไม่ใช่แค่เปย์เงินเข้าไปแล้วจะชนะเสมอไป (ไม่นับพวกเด็กที่แฮ็คเกมได้หรือเชี่ยวชาญการ Exploit)

แล้วเดี๋ยวนี้.. เกมแนววางแผน สร้างเมือง บริหารธุรกิจ หรือแม้แต่เกมไขปริศนา ก็มีให้เลือกเล่นเพียบ (ส่วนตัวผมเล่น Cities Skylines 2, Football manager etc.) พวกนี้มันฝึกการคิดวิเคราะห์ แก้ปัญหา ฝึกความคิดสร้างสรรค์ แบบไม่รู้ตัวเลย (แถมยังมีงานวิจัยที่ออกมาสนับสนุนด้วย อย่างเช่น ผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยมิชิแกน พบว่าการเล่นเกมแนววางแผน ช่วยพัฒนาเรื่องการวางแผน การคิดเชิงกลยุทธ์ และการแก้ปัญหา ในเด็กได้ดีเลย)

"แล้วพ่อเริ่มต้นทำร้านยังไง" "ตอนแรกมีเงินเท่าไหร่" โหย.. นี่มันคำถามของนักธุรกิจตัวน้อยชัดๆ

มันมีค่ามากนะ ผมว่า นี่แหละ การสอนที่ดีที่สุดเลย เด็กๆจะได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริงของคุณพ่อ และซึมซับไปแบบไม่รู้ตัว

ที่ผมชอบอีกอย่างคือ เกมสมัยนี้หลายๆเกม มันต้องเล่นเป็นทีม ต้องสื่อสาร ประสานงานกัน ซึ่งไอ้ตรงนี้ มันสำคัญมากเลยนะ (ทักษะการทำงานร่วมกัน ทักษะการสื่อสาร เป็นทักษะที่จำเป็นอย่างยิ่งในการทำงานในยุคปัจจุบัน)

ถ้าเอามุมที่เป็น Pure Benefit ของเกม (โทษของเกมเราควรจะให้คำแนะนำแก่เด็กกันตามสมควร)

1. เกมฝึกทักษะการแก้ปัญหาและคิดเชิงวิเคราะห์ (Problem-solving & Critical Thinking) เกมหลายประเภท บังคับให้ผู้เล่นต้องคิดวิเคราะห์สถานการณ์ คาดการณ์ผลลัพธ์ และตัดสินใจภายใต้ข้อจำกัด ตัวอย่างเช่น

เกมแนววางแผน (Strategy games) เช่น Civilization, StarCraft, Minor Lord etc. หรือแม้แต่เกมกระดานอย่าง หมากรุก ผู้เล่นต้องคิดวางแผนล่วงหน้า บริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด และปรับกลยุทธ์ให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

เกมไขปริศนา (Puzzle games) เช่น Portal, The Witness, หรือ Cut the Rope etc. กระตุ้นให้ผู้เล่นคิดนอกกรอบ มองหารูปแบบ และทดลองวิธีแก้ปัญหาที่หลากหลาย

2. เกมพัฒนาทักษะการทำงานร่วมกันเป็นทีม (Collaboration & Teamwork) เกมที่ต้องเล่นเป็นทีม เช่น Overwatch, Dota 2, ROV หรือ Among Us ช่วยสอนให้ผู้เล่นเรียนรู้การสื่อสาร ประสานงาน แบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบ และร่วมมือกันเพื่อบรรลุเป้าหมายเดียวกัน

3. เกมเสริมสร้างทักษะการคิดสร้างสรรค์ (Creativity) เกมประเภท Sandbox เช่น Minecraft หรือ Little Big Planet เปิดโอกาสให้ผู้เล่นได้ออกแบบ สร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ได้อย่างอิสระตามจินตนาการ กระตุ้นให้กล้าคิด กล้าลองผิดลองถูก

4. เกมฝึกฝนทักษะด้านภาษาและการสื่อสาร (Language & Communication Skills) เกมออนไลน์หลายเกม มีระบบ Chat หรือ Voice Chat ที่เปิดโอกาสให้ผู้เล่นจากทั่วโลกได้สื่อสารโต้ตอบกัน ซึ่งช่วยพัฒนาทักษะภาษา การเรียบเรียงคำพูด และการสื่อสารข้ามวัฒนธรรมได้

กี่ทักษะเข้าไปแล้วที่เกิดขึ้นได้ ถูกฝึกฝนขึ้นมาและพัฒนาได้จากการเล่นเกม? (บางอย่างไม่มีสอนและฝึกฝนพัฒนาการเหล่านี้ในโรงเรียน)

อีกเกมที่ผมอยากจะพูดถึง (ลูกชายผมเป็นแฟนเกมนี้) คือ ROBLOX

Roblox นี่ถือว่าเป็นแพลตฟอร์มเกมที่เปิดโลกกว้างมาก เด็กๆชอบกันทั่วโลก เพราะมันไม่ได้เป็นแค่เกมเดียว แต่รวมเกมไว้เป็นหมื่นๆเกม ที่สำคัญคือ เด็กๆสามารถสร้างเกม ออกแบบ แต่งตัวละคร และเขียนโปรแกรมเองได้ด้วย

ส่วนเรื่องทักษะที่ Roblox เสริม ขอบอกว่า เยอะมาก ยกตัวอย่างเช่น

ความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการ (Creativity & Imagination) Roblox เปิดโลกให้เด็กๆ ได้ปลดปล่อยจินตนาการอย่างอิสระ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างเกมในฝัน ออกแบบโลกเสมือนจริง หรือ แต่งตัวละครในแบบที่ไม่เหมือนใคร

ทักษะการแก้ปัญหา (Problem-Solving) ใน Roblox เด็กๆ จะต้องเจออุปสรรคและความท้าทายมากมาย ซึ่งบังคับให้พวกเขาต้องคิด วางแผน และหาวิธีแก้ปัญหาด้วยตัวเอง

ทักษะการทำงานร่วมกัน (Collaboration) เกมส่วนใหญ่ใน Roblox เน้นการเล่นแบบ Multiplayer เด็กๆ จะต้องเรียนรู้การสื่อสาร ประสานงาน และร่วมมือกับเพื่อนๆ เพื่อพิชิตภารกิจต่างๆ

ทักษะพื้นฐานการเขียนโปรแกรม (Basic Coding) Roblox มีภาษาโปรแกรมที่ชื่อว่า Lua ซึ่งค่อนข้างเข้าใจง่าย เด็กๆ สามารถเรียนรู้ และฝึกเขียนโปรแกรมอย่างง่ายๆ เพื่อควบคุมตัวละคร สร้างไอเท็ม หรือ สร้างระบบต่างๆในเกมได้ด้วยตัวเอง

ทักษะทางสังคม (Social Skills) Roblox เป็นพื้นที่ให้เด็กๆ ได้พบปะ พูดคุย และทำความรู้จักกับเพื่อนใหม่ๆ จากทั่วทุกมุมโลก ซึ่งช่วยพัฒนาทักษะการสื่อสาร การทำงานเป็นทีม และการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง

ทักษะการบริหารจัดการ (Management Skills) ในบางเกม เด็กๆ อาจต้องบริหารทรัพยากร วางแผนการใช้จ่าย และตัดสินใจในเชิงธุรกิจ ซึ่งเป็นการปลูกฝังความรับผิดชอบ และทักษะการบริหารจัดการตั้งแต่ยังเล็ก

ทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) Roblox ไม่มีคำว่า จบเกม เด็กๆสามารถเรียนรู้ และพัฒนาตัวเองได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการลองเล่นเกมใหม่ๆ เรียนรู้ทักษะใหม่ๆ หรือ แม้แต่การสร้างเกมเป็นของตัวเอง

(ถึงแม้ Roblox จะมีประโยชน์มากมาย แต่พ่อแม่ก็ควรแนะนำ และดูแลการเล่นอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น การใช้เวลาเล่นมากเกินไป การเข้าถึงเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม หรือ การถูกหลอกลวง)

ทุกอย่างมีสองด้านเสมอ การเล่นเกมก็เช่นกัน การเล่นเกมมากเกินไป หรือเลือกเล่นเกมที่ไม่เหมาะสม ก็อาจส่งผลเสียต่อพัฒนาการด้านอื่นๆ เช่น สุขภาพร่างกาย สายตา พฤติกรรมก้าวร้าว หรือการเข้าสังคม

ดังนั้น พ่อแม่และผู้ปกครองมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง ในการแนะนำ เลือกสรรเกมที่เหมาะสมกับวัย ส่งเสริมให้เล่นเกมอย่างสมดุล และใช้โอกาสจากการเล่นเกม เชื่อมโยงสู่การเรียนรู้ในชีวิตจริง เช่นเดียวกับที่พี่ป้ำทำกับลูกชาย

สุดท้าย.. ผมเชื่อว่าประสบการณ์ของพี่ป้ำ คงช่วยให้ลูกชายเติบโตขึ้นอย่างมีกระบวนการคิด และมองเห็นคุณค่าของการใช้ความพยายาม และการบริหารจัดการอย่างชาญฉลาด เพื่อบรรลุเป้าหมายได้อย่างแน่นอนคับ

#siamstr
ตอนเริ่ม พ่อมีเงินเท่าไหร่..

ผมชอบที่จะเป็นคนไปรับไปส่งลูกชายไปโรงเรียน โรงเรียนนางอยู่ไกลเหมือนกัน ต้องขับรถประมาณเกือบครึ่งชม. สำหรับต่างจังหวัดนี่ไม่เรียกว่าแถวบ้าน ซึ่งโรงเรียนไกลบ้านแบบนี้ จริงๆก็ไม่ค่อยถูกต้องเท่าไหร่ แต่ที่เมืองชล โรงเรียนนอกระบบที่โอเคมันมีตัวเลือกน้อยเหลือเกิน

แต่ไอ้ความไกลนี่แหละมันทำให้ช่วงเวลาที่ผมอยู่บนรถกับลูกชาย กลายเป็นช่วงเวลาที่มีคุณภาพมาก นางจะชอบถามเรื่องนู้นเรื่องนี้ตลอดเวลา แม้ส่วนใหญ่จะติดโม้เรื่อยเปื่อยซะเยอะ

เมื่อวานนางโม้เรื่องเกมส์แต่งรถซิ่งของนางอยู่ นางว่านางซื้อรถรุ่นนู้นนี้มา ใส่ของแต่นู่นนี่ ทำได้ 2 พันกว่าแรงม้า ใช้เงินไปหลายล้าน (หน่วยเงินในเกมส์มันคืออะไรก็ไม่รู้ แค่ turbo ก็ลูกละหลายแสนแล้ว)

ผมฟังแล้วไม่ค่อยสบายใจ โดยปกติผมไม่ชอบให้นางเล่นเกมส์ แต่นางก็จะแอบไปยืมมือถือยายมาเล่น และนี่หน่วยเงินในเกมส์คุยกันเป็นหลักหลายๆล้านอีก ผมยิ่งกลัวนางจะไม่เข้าใจมูลค่าและราคาที่จะต้องจ่ายเพื่อให้ได้เงินมา

ขณะที่นางกะลังเล่าอย่างเมามัน และผมก็เออออห่อหมกไปตามเรื่อง จู่ๆนางหันมาถามผมว่า
”พ่อบอกปั๊งหน่อย แต่ละร้านพ่อใช้เงินเท่าไหร่“

ผมแอบแปลกใจเล็กๆว่า เด็ก 7 ขวบสนใจเรื่องนี้ด้วยรึ แต่ผมก็เล่าไปตามจริง ผมสาธยายถึงสาขาต่างๆว่าอันไหนเท่าไหร่บ้าง ซึ่งล้วนแล้วแต่ใช้เงินมากกว่ารถซิ่งในเกมส์ของนางทั้งสิ้น

แล้วนางก็ถามผมอีกว่า
”แล้วตอนเริ่มร้านแรกพ่อมีเงินเท่าไหร่ ทำไมพ่อถึงทำเพิ่มได้เป็น(X)ๆ”
เป็นคำถามจากเด็ก 7 ขวบที่ผมค่อนข้างตกใจ

แปลว่านางรู้ว่า ไม่ใช่ว่าเริ่มต้นก็มีเงินลงทุนได้เลย แปลว่านางเข้าใจว่า มันต้องใช้การสะสมทุนและนางก็ยังรู้ด้วยว่ามันต้องไม่ง่ายแน่ๆ

ผมรู้ทันทีว่าไอ้ความคิดเชิง critical แบบนี้ มาจากเกมส์ที่นางเล่นชัวร์ ผมไม่น่าจะเคยสอน แม้อยากสอนก็ไม่รู้ว่าจะสอนยังไง มันต้องมีประสบการณ์ชีวิตพอสมควรกว่าที่เราจะเข้าใจว่าโลกมันไม่ง่ายเลย

แต่ลองนึกๆดู ถ้าต้องเล่นเกมส์โดยที่ไม่สามารถเติมเงินได้ ไอ้ความคิดเชิงวิพากษ์แบบนี้มันคงจะถูกเร่งเร้าขึ้นมาเองอัตโนมัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าต้องแข่งในสมรภูมิเดียวกับคนที่ใช้เงินเติมเป็นส่วนใหญ่ แม่งเหมือนสอนระบบโลกให้ลูกฉันเลย ใครเติมได้รถคนนั้นแรงกว่า ใครกู้ได้คนนั้นชนะ

เกมส์ที่ผมพยามไม่ให้ลูกเล่น มันมีประโยชน์อย่างคาดไม่ถึง

แต่ก็นั่นแหละ คำถามของนางถือว่าเข้าทางผมมาก
ผมเลยตอบแบบขิงหน่อยๆใส่นาง
“ตอนเริ่มพ่อมี..ศูนย์ จริงๆติดลบด้วย“

แล้วผมก็สาธยายถึง POW ของปู่และย่าของนาง เล่าไปถึงกว่าที่ผมจะทำสาขาแรกได้ ต้องผ่านอะไรบ้างและเราต้องชะลอการบริโภคกันขนาดไหนถึงจะสะสมทุนให้มากพอเพื่อไปซื้อสินค้าประเภททุนได้ ทั้งหมดเพื่อพยามจะให้เค้าเห็นว่า

..เกมส์ที่พ่อเล่น พ่อก็ไม่ได้เติมเหมือนกัน..

แม้จะบอกไม่ได้ว่าเกมส์นี้เราจะชนะมั้ย แต่การเล่นแบบนี้จะทำให้เรามีโอกาสในการอยู่ในเกมส์นี้ต่อไปอีกนาน และถ้านานพอ วันนึงเราจะชนะ

ในการคุยกันเมื่อวาน นางตั้งใจฟังมาก มีการตอบรับและถามกลับถึงรายละเอียดเกือบทุกประโยค
”ติดลบคืออะไร?“
”เป็นหนี้คืออะไร?“
”ทำไมปู่ไม่มีทุน?“
”ทำไมย่าต้องทำขนมแต่ไม่ได้เงิน?“
หลายๆคำถามของนางทำให้ผมคิดว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในระบบโลกปัจจุบันมันชวนให้ถูกตั้งคำถามจริงๆ ขนาดเด็ก 7 ขวบยังเห็นว่ามันไม่ปกติ

แต่คนโดยส่วนใหญ่กลับเลือกที่จะโอดครวญและเรียกร้องความช่วยเหลือแทน

พีคสุดคือประโยคสุดท้ายของนาง

“พ่อ..พอปั๊งโตขึ้น พ่อไปทำอย่างอื่นได้มะ.!?
ปั๊งอยากเป็นคนทำร้าน”

ฉันรู้ตัวเลยว่า แก่ไปห้ามกะโหลกกะลานะ พ่อเจ้าพระคุณไล่ฉันออกล่วงหน้าไว้ตั้งกะวันนี้แล้ว 555555

ถึงตอนนั้นคงต้องแข่งกันแล้ว ใครสร้าง values ได้มากกว่าก็ได้ทำไป

#GM
#Siamstr
Author Public Key
npub1mqcwu7muxz3kfvfyfdme47a579t8x0lm3jrjx5yxuf4sknnpe43q7rnz85