What is Nostr?
/ Tanachart
npub17pk…m4q9
2024-02-21 04:30:22

Tanachart on Nostr: #สนทนาธรรมกับอาจารย์โกวิท ...

#สนทนาธรรมกับอาจารย์โกวิท เขมานันทะ(4)

#จิตแพทย์กับนักภาวนา

#นิพัทธ์พร: ดังที่อาจารย์กล่าวว่า ผลของการภาวนา (side effect) ที่เป็นวิปัสสนูอุปกิเลส (กิเลสเนื่องจากการเจริญวิปัสสนา) ได้ทำความยุ่งยากให้กับจิตแพทย์มาก หรือพูดอีกทีว่า จิตแพทย์ทำความยุ่งยากกับนักภาวนามาก เอียดมีความเห็นว่า ทั้งสองฝ่ายนี้มีแรงปะทะซึ่งกันและกัน เลยนะคะ
.
#อาจารย์เขมานันทะ : ใช่ครับ ซึ่งกันและกัน ใช่ เพราะจับกันคนละทาง คนละทฤษฎี เช่น จิตวิทยาปกติของจิตแพทย์ก็คือ คนที่มีราคะ โทสะ โมหะ ธรรมดานี่ฮะ เป็นเรื่องธรรมดา แต่ในทางพุทธศาสนาถือว่า นั่นไม่ปกติเลย.
.
ก่อนพูดในประเด็นนี้ ขอผม clear เรื่องฐานศรัทธากับปัญญา ที่กล่าวไว้ข้างต้นยังไม่สู้สมบูรณ์นัก คืออินทรีย์เหล่านี้ทั้งสี่ทั้งห้านี่นะฮะ ศรัทธา ความเพียร สติ ความรู้ตัว ความอยู่ในสมดุลนี่นะครับ ความไม่ผิดเพี้ยน ไม่ fantasyนี่ คือสติ สติมันเป็นกลาง ๆ สติมันรู้ความจริงได้ ที่จริงองค์สำคัญก็คือสตินะครับ มันเป็นองค์กลางพอดี ศรัทธา วิริยะ สติ และสมาธิ ปัญญา นี่เป็นผล เป็นฐานสู่ยอด สติมันเป็นสิ่งที่จะสื่อเอาความจริงได้ซึ่ง ๆ หน้า แต่มันไม่มีฤทธิ์เดชอะไรนะฮะ มันแค่เห็นความจริงได้เท่านั้นเอง แต่ความเข้าใจนั้นมันอีกเรื่องหนึ่งนะ
.
องค์อินทรีย์ทั้ง๕นี้ ทว่าอันหนึ่งอันใดมากหรือน้อยเกินไป มันจะสร้างปัญหาในตัวมัน คือความบริสุทธิ์มันไม่พอที่จะเข้าใจและอิสระจากความรู้นั้น เมื่อเราพูดถึงความรู้ เราพูดถึงอิสระในความรู้ด้วยนะ เรามักจะพบคนมีความรู้แล้วติดความรู้ตัวเองนี่บ่อยไปนะ แล้วเป็นเหตุให้คับแคบ แล้วก็ในที่สุดสูญสิ้นเสรีภาพหรืออิสรภาพไปเพราะความรู้นั้น ความรู้หรือความฉลาดหรือปัญญานั้นน่ะฮะ
.
ดังนั้นองค์อินทรีย์ทั้ง ๕ นี้นะครับ จะต้องได้สัดส่วนพอดิบพอดี คำว่าพอดิบพอดีนี่เป็นปัจจัตตัง ไม่มีใครบอกได้ เพราะว่าแต่ละคนก็มีลักษณะเฉพาะตัวของแต่ละคน ปัจเจกนั้นมีอยู่นะ ไม่ใช่ไม่มีอยู่ แต่ว่ามันไม่ได้มีไว้สำหรับยึดถือเท่านั้นเอง คือสมมติเราเห็นลูกไก่ ๕ ตัวนี่ เรามักจะเหมารวมเป็นลูกไก่๕ตัว ที่จริงแต่ละตัวมี character ของมันเลยนะฮะ มีกรรม มีวิบากของมันเลยนะฮะ ถ้าเราจะเข้าให้ใกล้ความจริงของสิ่งนั้นมาก ๆ เราต้องมองออก อย่างเด็กเล็ก ๆ นั้น เด็กทุกคนไม่เหมือนกันสักคน ผมมีประสบการณ์บ้างกับหลานที่พึ่งคลอดใหม่ ๆ ผมเห็นพอคลอดปั๊บ เขามีอะไรของเขามาเรียบร้อยแล้ว มีวิธีของเขา มีท่าทาง มีแววตา มีการสื่ออะไรของเขาไม่เหมือนกันเลยครับ ซึ่งเรามักจะมองข้าม โดยเฉพาะในแวดวงของนักคิด และมักจะมองมนุษย์เป็นตัวเลขเหมือนที่เรารู้กันนะฮะ ประชาชนร้อยคนก็ตัวเลขร้อยหนึ่ง ที่จริงแต่ละคนมีอะไรที่น่าศึกษาไม่ใช่น้อย ดังนั้นเจ้าตัวนั่นเองที่ต้องรู้ถึงความได้สมดุลขององค์อินทรีย์ทั้ง๕
.
ทีนี้ถามว่ารู้ได้ยังไง อันนี้ลำบากแล้วครับ หมายความว่า ในความพยายาม ในความเพียรนั้นนะฮะ ในความศรัทธานั้น มันจะค่อย ๆ เปลี่ยนสภาพจากความเหลื่อมล้ำก้ำเกิน เช่น ศรัทธามากจนเพ้อคลั่งไปเลย สติอ่อน อะไรนี่นะฮะ แล้วปัญญาก็ไม่สมบูรณ์ ปัญญาไม่สมบูรณ์หมายความว่ามีปัญญาเหมือนกันแต่ไม่มีฐาน คิดเอาแต่เพ้อไปเรื่องนามธรรมล้วน ๆ อะไรไปนะฮะ หรือเป็นเหตุผลเกินไป อะไรก็สุดแท้นะฮะ
.
สัดส่วนที่คลุกกัน กลมกลืน มีเอกภาพอันนี้เอง ที่พระพุทธเจ้าท่านอุปมาเหมือนกับดอกไม้เมื่อมันครบ๕กลีบ การบานย่อมเป็นไปเอง อันนี้สำคัญนะ เป็นใจความที่สำคัญมาก ๆ เลย เมื่ออินทรีย์ ๕ ได้สัดส่วน การหลุดพ้น การรู้แจ้งจะเกิดขึ้นเองก็ได้ แล้วท่านหันมาถามพระสารีบุตรนะฮะ ถามว่า เธอเชื่อหรือเปล่า พระสูตรนี้มีอะไรน่าจำ พระสารีบุตรปฏิเสธครับ ข้าพระองค์ไม่เชื่อ คือพระพุทธเจ้าท่านรู้ว่า พระสารีบุตรทำอย่างนี้เป็นวิธีที่จะสอนที่ประชุมโดยวิธีของท่าน พระพุทธเจ้าขอให้แจกแจงว่าทำไมถึงไม่เชื่อ พระสารีบุตรบอกว่า ข้าพระองค์จะเชื่อต่อเมื่อปฏิบัติเห็นด้วยตัวของตัวเองแล้วเท่านั้น คือท่านแสดงแววของพระอัครสาวกของพระพุทธเจ้าที่ไม่ยอมเชื่ออะไร โดยที่ตัวเองไม่มีประสบการณ์ นับว่าท่านยอดเยี่ยมมาก พระพุทธเจ้าก็ประธานสาธุการว่า ถูกต้อง คือเรื่องนี้ต้องprove ตัวเองครับ ถ้าไ ม่ prove มันก็กลายเป็นศรัทธาล้วน ๆ เป็นความเชื่อล้วน ๆ ไม่ก้าวไปสู่ปัญญา
.
ลักษณะของศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญานี่นะ ถ้าเราเข้าใจลักษณะคืออาการของมันนะฮะ ได้ถูกต้องตามที่รู้ด้วยตัวเอง นั่นคือปัญญา พูดง่าย ๆ ว่า เมื่อรู้จักลักษณะของศรัทธาถูกตรงตามที่เป็นจริงนะ แสดงว่าปัญญาเริ่มชัดเจนแล้ว การเห็นเริ่มไม่หลอกตัวมันเองแล้ว ปกติการเห็นจะหลอก เพราะเป็นที่รู้กันของนักปรัชญา หรือนักเรียนปรัชญาชั้นต้น ๆ ที่ว่า ผู้ดูกับสิ่งที่ถูกดูมันหลอกล่อกัน ผู้ดูเอากรรมวิธี เอาวิบาก เอาความจำมาดู สิ่งที่ถูกดูก็เพี้ยนเปลี่ยนไปตามที่อยากจะเห็นน่ะนะ อันนี้เป็นวิชาปรัชญาขั้นต้นเท่านั้นน่ะครับ ซึ่งกฤษณะมูรติมาทำให้เป็นเรื่องใหญ่ ที่จริงพุทธศาสนาเราไม่มีการวิเคราะห์ให้หนักถึงขนาดนั้น ระหว่าง subjective-objective อันนี้เป็นวิถีทางทางปรัชญา พุทธศาสนาไม่แตะตรงนี้เลย เราแตะตรงที่ว่า ผัสสะทำให้เกิดเวทนา ตารูปเกิดจักษุวิญญาณ ธรรมสามประการเรียกผัสสะ จากผัสสะเกิดเวทนา อันนี้เป็นเรื่องที่ลึกกว่าเรื่อง subjective-objective อีก
.
อินทรีย์๕ที่ว่าแล้วนี่นะครับ เมื่อบุคคลภาวนาอยู่บนฐาน ภาวนาหมายความว่าเพียรอยู่นะฮะ เพียรประคับประคองอยู่ ไม่ให้เกิดการถดถอย ถึงแม้จะมีการท้อถอยบ้าง แต่ว่าถอยเพื่อจะก้าวไปข้างหน้า อันนี้เป็นประสบการณ์ของแต่ละคน เป็นส่วนรายละเอียดเฉพาะราย เมื่อเพียรภาวนาอยู่ #เพียรภาวนานั้นไม่ใช่อะไรครับ #เพื่อbalance #ไม่ใช่เพื่อบรรลุธรรม ทำไม่ได้อยู่แล้วการบรรลุธรรมเป็นเรื่องเป็นไปเอง ถ้าการแสวงหามุ่งจะบรรลุธรรมกลายเป็นความยึดติด กลายเป็นโมหะทันทีเลย ดังนั้นการเพียรbalance มันเหมือนนักกายกรรมน่ะครับ ห้อยโหนตีลังกา ไม่ใช่จุดมุ่งหมายอื่น แม้แต่จุดมุ่งหมายจะโชว์ให้คนดูชมก็ไม่ได้ นักกายกรรมที่เล่นอะไรเขาเรียกไม้สูงน่ะนะ จุดมุ่งหมายในเรื่องอวดคนนะ แต่จุดจริง ๆ คือการ balance ตัวให้ลุล่วงไปเท่านั้นเอง ส่วนการเห็นเป็นเรื่องของคนเอง เพราะถ้า balance ไม่ได้การแสดงก็มีไม่ได้
.
ความพยายามที่จะเป็นพระพุทธเจ้า ความพยายามที่จะเป็นพระอรหันต์ ความพยายามที่จะสั่งสอนโลก อาจจะกลายเป็นอุปสรรคที่ร้ายแรงที่สุดได้ เพราะว่ามันคือโมหะ มันคือภวตัณหา เรียกปฏิบัติธรรมเพื่อบรรลุถึงภาวะอะไรบางอย่างนี่ โอ้ลำบากแล้วนะครับ ดังนั้นผู้ปฏิบัติธรรมต้องได้รับการแนะนำ การแนะนำอย่างเดียวก็ยังไม่พอนะ ต้องได้รับการtrain เพื่อให้รับความมุ่งหมายที่บรรลุถึงภาวะต่าง ๆ โดยอุบายของครูบาอาจารย์ ตรงนี้บทบาทของครูบาอาจารย์จะมีมากครับ ที่จะใช้คำว่า"ทรมาน"ให้ศิษย์ละตัวตนอะไรพวกนี้ ซึ่งการศึกษาบทนี้ในครั้งอดีตนั้น น่าจะเป็นสิ่งที่เป็นพื้นฐานสำคัญ เช่น การทรมานศิษย์ ทรมานในที่นี้ไม่ได้หมายถึงโบยตีหรืออะไรอย่างนั้น การไม่พูดด้วย การทดสอบน้ำใจ มีพระคัมภีร์สำคัญ ๆ เล่าเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างศิษย์กับอาจารย์ แล้วเราจะพบว่าอาจารย์นั้นพยายามจะเพิ่มพูนวิริยะของศิษย์โดยวิธีแปลก ๆ เช่น เมื่อลูกศิษย์ไปขอเรียนก็เฉย ไม่พูดไม่จาเป็นเดือน จนกระทั่งยั่วความใฝ่รู้ขึ้นมาเต็มเปี่ยม แล้วจึงจะสื่อให้ในวาระที่สำคัญ หมายความว่าการสอนนั้น มีทั้งส่วนที่เป็นไปในระบบขนบประเพณี และนอกขนบประเพณี ครูบาอาจารย์คนไหนมีความสามารถไม่มาก ก็จะสอนตามประเพณี ฝึกศิษย์ตามประเพณี ก็เพราะไม่มีความเข้าใจต่อบุคลิกภาพพิเศษของศิษย์พอ ก็ต้องใช้ประเพณี ประเพณีกับวินัยมันพอกันฮะ ในพระสูตรเล่าว่า พระพุทธเจ้ายอมละพระวินัยบางข้อแก่พระสาวกบางท่าน เพื่อให้สบเหมาะกับบุคลิกภาพของท่านผู้นั้น
.
นี่เราคุยกันหลากประเด็น เดี๋ยวจะเตลิดเปิดเปิงไปนะ

(ยังมีต่อ)

#siamstr
Author Public Key
npub17pkmtd2wd6lplcj9wld6hz0wrfqsqz33g3qqv2c87zkawp638eqqlwm4q9