What is Nostr?
SOUP
npub16hp…tu5f
2024-10-24 13:47:14

สิทธิธรรมชาติ รากฐานของเสรีภาพและความยุติธรรม

เราได้ยินคำว่า “สิทธิ” กันจนชินหูไปแล้ว นักการเมืองก็พูดกันจังเลยว่าให้สิทธินั่นสิทธินี่ แต่เคยสงสัยกันบ้างไหมว่าสิทธิพวกนี้มันมาจากไหนกันแน่ จริงๆ แล้วรัฐเป็นคนหยิบยื่นสิทธิให้เราเหรอ หรือจริงๆ แล้วเรามีสิทธิเหล่านี้อยู่แล้วโดยกฎธรรมชาติ

. https://image.nostr.build/d03cc1428b49045550ef7203db1de9f36c8c1f923bfdc96a4953254be5fdb6c2.png

เริ่มจากเรื่อง “กฎธรรมชาติ” (Natural Law) ย้อนเวลาหน่อยแล้วกัน ตั้งแต่สมัยกรีกโบราณโน่นเลย นักปัชญาสมัยนั้นเค้าเชื่อว่า ทั้งจักรวาลและสังคมของเรามันมีกฎเกณฑ์บางอย่างที่เป็นความจริงสากล ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนบนโลกก็หนีไม่พ้น เหมือนกับเวลาโยนน้ำขึ้นฟ้า ยังไงน้ำก็ต้องตกลงมาอยู่ดีถูกไหม นั่นแหละเค้าเรียกว่า “กฎธรรมชาติ” หรือยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น “กฎอุปสงค์-อุปทาน” ที่เราเรียนกันในวิชาเศรษฐศาสตร์นั่นแหละ ลองคิดดูนะ ถ้าสินค้ามันมีน้อยแต่คนอยากได้เยอะ ราคามันก็ต้องพุ่งสูงขึ้นเป็นธรรมดา เป็นกลไกของตลาด เป็นความจริงที่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ ไม่ต้องมีใครไปบังคับเลย .

ทีนี้มาถึง Aristotle “อริสโตเติล” เขาเชื่อว่าสิ่งที่ทำให้มนุษย์เราพิเศษกว่าสัตว์อื่นๆ ก็คือ “เหตุผล” นี่แหละ เพราะเรามีเหตุผล เราถึงรู้จักผิดชอบชั่วดี รู้จักใช้ชีวิตอย่างมีคุณธรรม ต่อมานักปรัชญาสโตอิกส์ (Stoics) ก็เอาไอเดียเรื่องกฎธรรมชาติมาขยายความต่อ พวกเขาเน้นว่า เมื่อมนุษย์ทุกคนเกิดมาพร้อมกับการมี “เหตุผล” เหมือนๆ กัน เพราะฉะนั้น “กฎธรรมชาติ” จึงเปรียบเสมือน “กฎศีลธรรม” (Moral Law) ที่เป็นสากล ใช้ได้กับทุกคนบนโลกใบนี้ ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร มาจากไหน รวยหรือจน ก็ต้องอยู่ภายใต้กฎเดียวกันหมด ไม่ใช่แค่สโตอิกส์นะ นักคิดดังๆ อีกหลายคนในโลกตะวันตก ไม่ว่าจะเป็น Cicero, Aquinas หรือ Grotius พวกเขาก็เห็นด้วยกับเรื่องกฎธรรมชาติเหมือนกัน .

ทีนี้มาถึงศตวรรษที่ 17 ก็มีนักปรัชญาคนสำคัญชื่อ John Locke (จอห์น ล็อค) เขาเอาไอเดียเรื่อง “กฎธรรมชาติ” มาเชื่อมโยงกับ “สิทธิธรรมชาติ” (Natural Rights) มาอธิบายได้อย่างเป็นระบบ โดย Locke เชื่อว่ามนุษย์ทุกคนเกิดมาพร้อมกับสิทธิพื้นฐาน 3 อย่าง นั่นก็คือ สิทธิที่จะมีชีวิต มีเสรีภาพในการเลือก และสิทธิในการเป็นเจ้าของทรัพย์สิน ซึ่งสิทธิเหล่านี้มีติดตัวเรามาตั้งแต่เกิด มีอยู่ก่อนที่จะมีรัฐชาติด้วยซ้ำ มนุษย์เราสามารถใช้ “เหตุผล” ที่เรามีอยู่ในการทำความเข้าใจสิทธิธรรมชาติเหล่านี้ได้ .

สมัยก่อนที่ยังไม่มีรัฐบาล Locke เรียกช่วงเวลานั้นว่า “สภาวะธรรมชาติ” (State of Nature) ที่จริงๆ แล้วมนุษย์เราสามารถใช้ “เหตุผล” ในการอยู่ร่วมกันได้นะ ถึงจะไม่มีรัฐบาลก็ตาม แต่! ประเด็นคือ ในสภาวะธรรมชาติ มันอาจจะไม่มีศาลหรือตำรวจแบบที่เราคุ้นเคยไง (แต่ก็อาจจะมีวิธีจัดการความยุติธรรมแบบอื่นๆ อยู่) Locke บอกว่า คนบางกลุ่มอาจจะตกลงกันว่า เรามาตั้งรัฐบาลกันดีกว่า (ซึ่งการตั้งรัฐบาลก็อาจจะไม่ได้รับความเห็นชอบจากทุกคนก็ได้นะ) เพื่อที่จะได้มีระบบยุติธรรม มีคนดูแลความสงบเรียบร้อยอย่างเป็นทางการ แต่ที่สำคัญที่สุดคือรัฐบาลต้องปกป้องสิทธิธรรมชาติที่มีก่อนที่การตั้งรัฐ

คือ Locke เขาก็รู้นะว่า “อำนาจรัฐ” มันเหมือนดาบสองคม ถ้ารัฐบาลไม่ดี เอาอำนาจไปใช้ในทางที่ผิด ก็จะกลายเป็นการละเมิดสิทธิของประชาชนซะเอง เพราะงั้น Locke ถึงเน้นย้ำมากๆ ว่า รัฐบาลต้องมี “อำนาจที่จำกัด” (Limited Government) และต้องให้ความเคารพสิทธิธรรมชาติของประชาชนเป็นอันดับแรก ซึ่งอำนาจของรัฐบาลต้องมาจากความยินยอมของประชาชน ประชาชนมีสิทธิ์ตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ หรือแม้แต่ต่อต้านรัฐบาลที่ใช้อำนาจในทางที่ผิด .

น่าเสียดายที่ทุกวันนี้ คำว่า “สิทธิ” มันถูกนักการเมืองเอาไปใช้หาเสียงกันจัง เช่น สิทธิเรียนฟรี สิทธิรักษาฟรี สิทธิความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจ ฟังดูดี๊ดีเนอะ แต่จริงๆ แล้วมันก็แค่นโยบายหาเสียง ไม่ใช่ “สิทธิขั้นพื้นฐาน” จริงๆ สักหน่อย

สิทธิขั้นพื้นฐานที่แท้จริงมันต้องเป็นอะไรที่ติดตัวเรามาตั้งแต่เกิด อย่างเช่น สิทธิที่จะมีชีวิตอยู่ สิทธิในการเป็นเจ้าของทรัพย์สิน สิทธิในการพูดหรือแสดงความคิดเห็น

ส่วนนโยบายเรียนฟรี รักษาฟรี แจกเงิน พวกนี้มันเป็นแค่นโยบายของรัฐ ที่รัฐจะยกเลิกเมื่อไหร่ก็ได้ ที่สำคัญคือนโยบายพวกนี้มันมักจะไปละเมิดสิทธิของคนอื่นโดยไม่รู้ตัว เช่น รัฐบาลจะเก็บภาษีเราเพิ่มขึ้น เพื่อเอาเงินไปทำโครงการต่างๆ โดยที่เราไม่เห็นด้วยหรือเต็มใจ นี่มันก็คือการละเมิดสิทธิในทรัพย์สินของเรานะ หรือบางทีรัฐบาลก็เข้าไปแทรกแซงเศรษฐกิจ เช่น บังคับให้เราต้องทำนู่นทำนี่ ซึ่งมันก็ละเมิดเสรีภาพในการเลือกของเราเหมือนกัน อีกตัวอย่างที่เห็นชัดๆ คือ รัฐบาลสร้างเงินเฟ้อ ทำให้เงินในกระเป๋าเรามันมีค่าน้อยลง นี่มันปล้นกันชัดๆ แต่เขาทำได้อย่างถูกกฎหมายนะ ซึ่งจริงๆ แล้ว รัฐบาลไม่มีสิทธิ์ทำแบบนี้ เพราะมันเป็นการละเมิดสิทธิของประชาชนอย่างชัดเจน การที่รัฐบาลก็ชอบเอา “กฎหมาย” มาอ้างก็เพื่อให้ตัวเองดูชอบธรรม .

สรุปง่ายๆ เลยนะ “สิทธิ” ที่แท้จริงมันไม่ได้เกิดจากการใช้อำนาจหรือความรุนแรง แต่มันมีรากฐานมาจาก “กฎธรรมชาติ” และสิทธิก็ต้องมาพร้อมกับ “ความรับผิดชอบ” ด้วย เราต้องไม่เอาสิทธิของเราไปละเมิดสิทธิของคนอื่น

“กฎหมาย” มีไว้เพื่อปกป้องสิทธิของทุกคนอย่างเท่าเทียม ไม่ใช่เพื่อสร้างสิทธิหรือเอาไปใช้เป็นเครื่องมือในการละเมิดสิทธิของประชาชน กฎหมายต้องเป็นเหมือนเกราะป้องกันสิทธิของเรา ไม่ใช่โซ่ตรวนที่พันธนาการเสรีภาพของเรา

เพราะฉะนั้น “สิทธิ” กับ “ความรับผิดชอบ” มันเป็นของคู่กัน เวลาเราใช้สิทธิอะไรก็ตาม ต้องคิดถึงใจเขาใจเราด้วย อย่าเผลอไปละเมิดสิทธิของคนอื่นเข้าล่ะ .

ก่อนที่จะเชื่อนักการเมืองที่ชอบโฆษณาว่าให้สิทธินั่นนี่ เราต้องตั้งคำถามกับตัวเองก่อนว่าสิทธินั้น มันมาจากการใช้อำนาจหรือการบังคับใช้โดยกฎหมายด้วยความรุนแรงหรือเปล่า และที่สำคัญคือมันไปละเมิดสิทธิของคนอื่นรึเปล่า .

การตั้งคำถามกับสิ่งเหล่านี้ มันคือจุดเริ่มต้นของการเข้าใจ “สิทธิ” ที่แท้จริง และเป็นก้าวแรกของการลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิของเราเอง เพื่อไม่ให้กลายเป็นเหยื่อของอำนาจรัฐ เพราะท้ายที่สุดแล้ว สิ่งที่มนุษย์ต้องการก็คือการมีชีวิตที่มีอิสระ อยู่ในสังคมที่มีความยุติธรรม และมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์

#Siamstr #NaturalLaw #NaturalRights

Author Public Key
npub16hpaqcm8zhc6n4d79tu2mtsf9464093r4v3r7l5hq5tpsng3txesw3tu5f