What is Nostr?
Libertarian.realpolitik / Libertarian Studies
npub187f…tz9m
2023-09-12 16:25:01

Libertarian.realpolitik on Nostr: ...

เหตุการณ์ตลาดหลักทรัพย์วอลล์สตรีทล่มในปี ค.ศ.1929 เกิดขึ้นได้อย่างไร?
.
วิกฤตตลาดหลักทรัพย์วอลล์สตรีทล่มนับเป็นวิกฤตที่หนักหนาที่สุดในประวัติศาสตร์ทางการเงิน ผลกระทบของมันได้สร้างสภาวะซบเซาไปหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งทั้งนี้นักเศรษฐศาสตร์สำนักออสเตรียนอย่างลุควิค วอน มิซิส (Ludwig von Mises) กับฟรีดริช ฮาเยก (Friedrich Hayek) คาดการณ์ไว้ว่าจะเกิดวิกฤตนี้ก่อนอยู่แล้ว โดยเฉพาะฮาเยกที่เตือนเอาไว้ว่าการมาของวิกฤตทางการเงินเป็นผลพวงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้จากการขยายตัวทางการเงินอย่างบ้าบิ่น (monetary expansion) ในขณะที่มิซิสตีพิมพ์หนังสือ The Theory of Money and Credit (1912) เพื่อเป็นแนวทางพัฒนาทฤษฏีวัฎจักรเศรษฐกิจแบบออสเตรียน ซึ่งในเวลาต่อมาฮาเยกก็นำแนวคิดนี้ไปอธิบายต่ออย่างเป็นรูปธรรม
.
หนึ่งในทฤษฏีที่อธิบายปรากฏการณ์การล่มของตลาดหลักทรัพย์ในปี ค.ศ.1929 ได้นั้นคือ "ทฤษฏีวัฏจักรเศรษฐกิจ" ที่แบ่งเป็น 2 ช่วงก็คือ ช่วงเจริญเติบโต (boom) และช่วงซบเซา (bust) สำหรับเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกาก็มีวัฎจักรทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นหลายครั้ง ตั้งแต่ ค.ศ.1819-1820 จนถึงปัจจุบันที่มีแนวโน้มที่ถี่มากขึ้นเรื่อย ๆ อันเนื่องมาจากรัฐบาลมีความสามารถในการสร้างเศรษฐกิจให้เติบโตแบเทียมผ่านนโยบายเงินง่าย (easy money) และการขยายสินเชื่อ (credit) ได้อย่างราบลื่น กรณีของประเทศสหรัฐอเมริกาหรือทั่วโลกในแง่วิกฤตทางการเงินล้วนเป็นผลมาจากการกระทำของสถาบันทางการเงินภาครัฐเอง ยกตัวอย่างเช่น ธนาคารกลางสหรัฐที่ถูกก่อตั้งในปี ค.ศ.1913 เป็นการทำให้มาตรฐานทองคำที่จำกัดปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจอ่อนแอลง ทั้งนี้การดำรงอยู่ของธนาคารกลางสหรัฐมันเป็นผลสืบเนื่องไปถึงวิกฤตทางการเงิน ค.ศ.1929 จนถึงปัจจุบัน
.
ทั้งนี้สาเหตุของการเกิดวิกฤตในปี ค.ศ.1929 เป็นผลตามติดมากับการขยายสินเชื่อของธนาคารกลางในปี ค.ศ.1924 เนื่องจากในหลายธุรกิจช่วงเวลานั้นเป็นช่วงเวลาที่ตกต่ำเป็นอย่างมาก ธนาคารกลางเลยแก้ไขปัญหาโดยการสร้างสินเชื่อขึ้นมาใหม่เป็นจำนวน 500 ล้านดอลลาร์ แต่เมื่อจะให้กู้จริงธนาคารกลับขยายสินเชื่อมากกว่านั้นถึง 4 พันล้านดอลลาร์ภายในแค่ปีเดียว ช่วงแรกเราจะเห็นผลกระทบจากการขยายสินเชื่อที่เห็นได้ชัดก็คือเศรษฐกิจเริ่มเติบโต-เจริญรุ่งเรืองขึ้นมาก แต่ก็แค่ในช่วงเวลาสั้น ๆ เพราะมันคือต้นตอของวิกฤตตลาดหลักทรัพย์ล่มในปี ค.ศ.1929 และตามติดมาด้วยภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (great depression) จนเบนจามิน แอนเดอร์สัน (Benjamin Anderson) นักเศรษฐศาสตร์สำนักออสเตรียนในเวลานั้นเรียกเหตุการณ์นี้ว่าเป็น "จุดเริ่มต้นของนิวดีล" (the beginning of the New Deal)
.
การขยายเครดิตของธนาคารกลางสหรัฐมีแบบมาจากธนาคารกลางของอังกฤษ เพื่อต้องการที่จะรักษาอัตราแลกเปลี่ยนก่อนสงครามเป็นผลให้เงินดอลลาร์ที่แข็งค่าและเงินปอนด์อังกฤษที่อ่อนค่าจะต้องหาทางปรับเปลี่ยน เพื่อให้เกิดภาวะสงครามผ่านนโยบายเงินเฟ้อในสหรัฐอเมริกาและภาวะเงินฝืดในบริเตนใหญ่ ธนาคารกลางสหรัฐหลังจากนั้นเลยพยายามก่อเงินเฟ้อขึ้นในปี ค.ศ.1927 ผลก็คือ เงินฝากประจำในสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นจาก 44.51 พันล้านดอลลาร์ในมิถุนายน ค.ศ.1924 เพิ่มสูงขึ้นเป็น 55.17 พันล้านดอลลาร์ในปี ค.ศ.1929 วอลุ่มของการจำนองฟาร์มและในเมืองขยายตัวจาก 16.8 พันล้านดอลลาร์ในปี ค.ศ.1921 ไปเป็น 27.1 ล้านดอลลาร์ในปี ค.ศ.1929 สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของหนี้ในภาคอุตสาหกรรม ภาคการเงิน และภาครัฐบาลท้องถิ่น ด้วยเหตุนี้การขยายของเงินและสินเชื่อจึงมาพร้อมกับการที่ราคาอสังหาริมทรัพย์แพงขึ้นเช่นกัน ราคาของหลักทรัพย์อุตสาหกรรมตามรายงานของ Standard & Poor's common stock index เพิ่มขึ้นจาก 59.4% ในเดือนมิถุนายน ค.ศ.1922 ไปเป็น 195.2% ในเดือนกันยายนปี ค.ศ.1929 กระทั่งราคาของหุ้นรางรถไฟก็พุ่งขึ้นจาก 189.2% ไปเป็น 446.0% ในขณะที่สาธารณูโภคก็มีราคาที่เพิ่มขึ้นจาก 82.0% ไปเป็น 375.1% เลยทีเดียว
.
การขยายปริมาณเงินและสินเชื่อในระบบเศรษฐกิจจะนำไปสู่การเกิดเงินเฟ้อและการลงทุนที่ผิดพลาด กระบวนการการเกิดเงินเฟ้อและการลงทุนที่ผิดพลาดเริ่มต้นจากความเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงแบบเทียม (artificial) ทำให้กลุ่มธุรกิจเกิดการตัดสินใจที่จะลงทุนในกิจการของตนเอง (ทางใดทางหนึ่ง) ตามความเชื่อที่ว่าถ้าหากอัตราดอกเบี้ยลดลงบ่งบอกถึงอุปทานที่เพิ่มขึ้นของการออมทุน (capital saving) กลุ่มธุรกิจเลยต้องเริ่มดำเนินการโครงการการผลิตใหม่ (การลงทุนในสิ่งต่าง ๆ) มันเลยเป็นเหตุผลว่าการสร้างเงินทำให้เกิดความเจริญทางเศรษฐกิจ แต่มันจะเกิดพร้อมกับอัตราเงินเฟ้ออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะราคาของสินค้าทุนที่ธุรกิจต้องการลงทุนขยายโครงการการผลิตของตนเองมีราคาที่สูงขึ้น ปัญหาเริ่มต้นขึ้นเมื่อต้นทุนการผลิตพุ่งสูงขึ้นจนธุรกิจไม่สามารถทำกำไรได้ จนทำให้ธุรกิจก็จะต้องลดกิจการตัวเองลง (ทั้งการขยายการผลิต โครงการต่าง ๆ อาจจะต้องยกเลิกหรือเลิกทำ) หลังจากความพยายามในการคงสเถียรภาพทางเศรษฐกิจในช่วง 6 เดือนแรกในปี ค.ศ.1928 ธนาคารกลางสหรัฐก็ละทิ้งนโยบายเงินง่ายเมื่อต้นปี ค.ศ.1929 โดยขายหลักทรัพย์ของรัฐบาล เหตุผลนี้เองจึงเกิดการหยุดการขยายสินเชื่อของธนาคาร โดยได้เพิ่มอัตราคิดลดเป็น 6 เปอร์เซ็นต์ในเดือนสิงหาคม ค.ศ.1929 อัตราเงินตามเวลา (Time-money rates) เพิ่มขึ้นเป็น 8 เปอร์เซ็นต์ อัตราตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะสั้น (commercial paper rates) เป็น 6 เปอร์เซ็นต์ และราคาเมื่อเรียกคืน (call price) ต่อการตื่นตัวของนักลงทุนอยู่ที่ 15 เปอร์เซ็นต์และ 20 เปอร์เซ็นต์ เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาเริ่มปรับตัวใหม่ ในเดือนมิถุนายน ค.ศ.1929 กิจกรรมทางธุรกิจเริ่มถดถอย แต่แล้วราคาสินค้าโภคภัณฑ์เริ่มฟื้นตัวในเดือนกรกฎาคม
.
มากไปกว่านั้นภายในตลาดการเงินพบว่าราคาของหลักทรัพย์เพิ่มสูงขึ้นในวันที่ 19 กันยายน ค.ศ.1929 ภายใต้แรงกดดันจากการขายหลักทรัพย์ แม้ว่าในช่วงเวลา 5 สัปดาห์แรกที่มีนักลงทุนซื้อหุ้นในช่วงขาลงมากกว่า 100 ล้านดอลลาร์ที่ตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก (New York Stock Exchange) ในเดือนกันยายน แต่แล้วผู้ถือหุ้นจำนวนมากก็พบถึงความผิดปกติ เพราะมันเป็นจุดเริ่มต้นของความวุ่นวายที่เกิดขึ้น ซึ่งในวันที่ 24 ตุลาคม ค.ศ.1929 ผู้คนหลายพันคนแห่ขายทรัพย์สินของตนเองไม่ว่าจะอยู่ในราคาใดก็ตาม จนยอดขายล้นหลามจากทั้งสาธารณชนทั่วไป
.
ในเวลาต่อมาตลาดหุ้นก็ส่งสัญญาณที่จะเริ่มฟื้นตัวเองเข้าสู่ภาวะปกติ หลังจากโครงสร้างทางการเงินของกลุ่มธุรกิจเริ่มกลับมาดีขึ้น ต้นทุนคงที่อยู่ในระดับต่ำเนื่องจากธุรกิจคืนเงินให้กับการออกหุ้นกู้จำนวนมาก และลดหนี้ให้กับธนาคารด้วยรายได้จากการขายหุ้น ไม่กี่เดือนหลังจากนั้นธุรกิจก็พอเริ่มตั้งตัวได้เล็กน้อย จะเห็นได้ว่าในปี ค.ศ.1930 อัตราการว่างงานเฉลี่ยมีอยู่จำนวน 4 ล้านคนหรือ 7.8% ของประชากรที่ทำงาน ซึ่งการล่มของตลาดหลักทรัพย์เป็นผลสืบเนื่องให้เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาเข้าสู่สภาวะซบเซา (recession)
.
การขึ้นมาของประธานาธิปดีเฮอร์เบิร์ต ฮูเวอร์ (Herbert Hoover) ได้เข้ามาแก้ไขปัญหาของเรื่องที่เกิดขึ้น ส่วนตัวเขาเองไม่เห็นด้วยกับการให้เศรษฐกิจฟื้นฟูตัวเองเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหา แต่เขาเลือกใช้การแทรกแซงของรัฐบาลผ่านการใช้จ่ายที่ขาดดุลเพื่อคงกำลังการซื้อของคนในประเทศเอาไว้เป็นทางแก้ไขปัญหาที่ดีกว่า ฮูเวอร์ยังได้รับรอง Smoot-Hawley Tariff Act ในเดือนมิถุนายน ค.ศ.1930 เป็นการยกระดับอัตราภาษีกุศลากรให้สูงขึ้นเพื่อกีดกันสินค้าจากต่างประเทศ เป็นผลให้หุ้นของอุตสาหกรรมต่าง ๆ ร่วงลง 20 จุดในวันเดียว (ซึ่งตลาดหุ้นคาดการณ์วิกฤตเศรษฐกิจได้อย่างถูกต้อง) ขณะเดียวกันการส่งออกของชาวอเมริกันก็ตกลงจาก 5.5 พันล้านดอลลาร์ในปี ค.ศ.1929 ไปเป็น 1.7 พันล้านดอลลาร์ในปี ค.ศ.1932 เกษตรกรส่วนใหญ่ซึ่งมักจะส่งออกสินค้าของตัวเองไปยังต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นข้าวที่ส่งออกเกิน 20% ฝ้ายเกิน 55% ยาสูบเกิน 40% และสินค้าอื่น ๆ เมื่อการค้าระหว่างประเทศถูกขัดขวางจากอำนาจรัฐ ก็ทำให้ภาคการเกษตรกรรมของสหรัฐอเมริกาในช่วงนั้นตกต่ำ อีกทั้งการมีอยู่ของกฎระเบียบทางการค้า เช่น การเก็บภาษีนำเข้า ระบบโควต้า การควบคุมสกุลเงินตราระหว่างประเทศเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ทั่วโลกเกิดวิกฤตเศรษฐกิจด้วย
.
เมื่อภาคเกษตรกรรมทางเศรษฐกิจล้มละลาย ธนาคารหลายแห่งก็ไม่ให้ความช่วยเหลือ แม้แต่การถอนเงินฝากจากธนาคารที่เกษตรกรฝากเงินกับธนาคารกว่า 2000 แห่งและมีเงินฝากไหลเวียนอยู่เกิน 1.5 พันล้านดอลลาร์นั้นไม่สามารถให้ถอนออกมาได้ระหว่างเดือนสิงหาคม ค.ศ.1931 และเรื่อยมาจนถึงกุมภาพันธ์ ค.ศ.1932 ธนาคารเหล่านั้นที่ยังคงเปิดอยู่ แต่ถูกบังคับให้ลดการดำเนินงานหลายอย่างลง เช่น ธนาคารเลิกให้สินเชื่อหลักทรัพย์กับลูกค้า แต่ไปทำสัญญาสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์แทน กดดันให้ผู้กู้ชำระเงินกู้เก่าและปฏิเสธที่จะให้กู้ยืมเงินใหม่ ซึ่งได้สร้างความตื่นตระหนกไม่ใช่แค่ต่อภาคเกษตรกรรมของอเมริกา แต่ยังสร้างความตื่นตระหนกต่อลูกค้าหลายล้านคนที่ไม่ใช่เกษตรกร
.
อย่างไรก็ตามรัฐบาลฮูเวอร์ปฏิเสธว่านโยบายการแทรกแซงเศรษฐกิจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาขึ้น เขากล่าวโทษว่าปัญหาที่แท้จริงเกิดจาก "นักธุรกิจ" และ "คนที่ต้องการเก็งกำไร" ต่างหาก ฮูเวอร์จำเป็นต้องแก้ทางโดยการเรียกผู้นำทางอุตสาหกรรมระดับชาติเข้ามาฟังนโยบายที่เขาเสนอก็คือ การคงอัตราค่าแรงและการขยายการสร้างงานในเศรษฐกิจ แต่นโยบายเหล่านี้ก็ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอะไร เพราะในปี ค.ศ.1932 อัตราการว่างงานเฉลี่ยอยู่ที่ 12.4 ล้านคน ในเวลาเดียวกันก็มีการออก Revenue Act of 1932 เป็นการขึ้นอัตราภาษีรายได้บุคคลธรรมดามากขึ้นจากปกติอยู่ที่ 1 (1/2) ถึง 5% ไปเป็น 4% ถึง 8% อัตราภาษีส่วนเพิ่ม (surtax rate) จาก 20% ไปสู่ 55% ภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มขึ้นจาก 12% ไปเป็น 13% (3/4) และ 14% (1/2) เช่นเดียวกับอัตราภาษีอสังหาริมทรัพย์ ภาษีน้ำมัน ภาษีรถยนต์ โทรศัพท์ต่าง ๆ ก็ล้วนเพิ่มขึ้นตาม
.
ผลกระทบของยุคฮูเวอร์ยิ่งซ้ำร้ายไปมากขึ้นในยุคของแฟรงคลิน เดลาโน โรสเวลต์ (Franklin Delano Roosevelt) ที่ได้ออกมาตรการทางเศรษฐกิจขึ้นมาเป็นจำนวนมากไม่ว่าจะเป็น National Industrial Recovery Act (NIRA) เป็นกฎหมายเพื่อให้ธุรกิจควบคุมตัวเองผ่านการให้ราคาสินค้าและบริการ อัตราค่าแรงต่อชั่วโมงการทำงานให้ยุติธรรมต่อชนชั้นแรงงานและมีการเพิ่มอัตราค่าแรงขึ้นในช่วงเวลานั้นและเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ซ้ำร้ายจากการแทรกแซงโดยรัฐด้วยการ "แก้ไขปัญหาด้วยการวนอยู่ที่เดิม" ผ่านการออกบทบัญญัติ First Agricultural Adjustment Act มีเป้าหมายเพื่อยกระดับรายได้ของเกษตรกรผ่านการตัดพื้นที่ปลูกหรือทำลายพืชผลในแปลง แล้วรัฐจะจ่ายเงินให้เกษตรกรไม่ต้องปลูกอะไรแทนและมีการจัดทำข้อตกลงทางการตลาดเพื่อปรับปรุงการกระจายสินค้าให้ดีขึ้น แต่นั้นก็ไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นแม้แต่น้อย (นโยบายของโรสเวลต์เป็นการนำเศรษฐศาสตร์สำนักเคนส์มาประยุกต์ใช้เพื่อแก้ไขปัญหา ซึ่งในความเป็นจริงมันไม่ได้เป็นการแก้ไขปัญหาแต่อย่างใดยิ่งซ้ำร้ายให้ปัญหามากขึ้นเท่านั้น)
.
ยังไม่รวมถึงนโยบาย New Deal อย่างอื่นที่เอื้อประโยชน์ให้แก่ "แรงงาน" "สร้างกฎระเบียบทางเศรษฐกิจ" "การขยายตัวของมาตรการทางการเงิน" และอื่น ๆ ฯลฯ ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาในช่วงนั้นฟื้นตัวได้ยาก สาเหตุของการเกิดวิกฤตตลาดหลักทรัพย์ไม่ใช่อะไรอื่นนอกจากการดำรงอยู่ของ "ลัทธิการแทรกแซง" (interventionism) ทั้งการมีอยู่ของธนาคารกลางสหรัฐที่เป็นต้นตอของวัฎจักรเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หรือ การแก้ไขปัญหาในยุคของ Hoover-Roosevelt ทำให้ปัญหาการว่างงาน การขาดดุลงบประมาณ อัตราเงินเฟ้อ และการเพิ่มต้นทุนของแรงงานช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองนั้นเลวร้ายยิ่งขึ้น
.
บรรณานุกรม
Vol.19, nos. 1-12. Foundation for Economic Education, Irvington-on-Hudson, New York. This complete archive of The Freeman (1950-1999) is made possible by a generous grant from Guillermo M. Yeatts, in cooperation with Walter Block, and additional assistance from Gary North

Lewis, Hunter. How the Artificial Boom of 1914-1929 Caused the Great Depression. Auburn, AL: Mises institute, 2014.
Sennholz, Hans F. The Great Depression. Auburn, AL: Mises institute, 2020.


Author Public Key
npub187fs6hc9k2ase93v54h9qzx3zz5rrhwc89gstjdextprzlxcee9sdltz9m