Reallife on Nostr: GE #siamstr ตื่นมาก็หิวอีกแล้ว ...
GE #siamstr
ตื่นมาก็หิวอีกแล้ว
ตื่นมาก็หิวอีกแล้ว
quoting nevent1q…7hlgอารมณ์ คือ โลก - โลก คือ อารมณ์
อารมณ์ ในโลกปัจจุบันรวมอยู่ที่ วัตถุนิยม
อารมณ์ จึงเป็นปัจจัยแห่งเหตุการณ์ทุกอย่างในโลก
![image]( )
…. “ เดี๋ยวนี้คําว่า “อารมณ์” ในภาษาไทยนั้น หมายถึงความรู้สึกในใจมากกว่า; เช่น พื้นเพของจิตใจในขณะนั้นเป็นอย่างไร, เรียกว่าอารมณ์ของเขาเป็นอย่างไร, อารมณ์กําลังดี อารมณ์กําลังไม่ดี, นี่ คําว่าอารมณ์ในภาษาไทยใช้กันไปเสียอย่างนี้ ; มันคนละเรื่องกับในภาษาบาลี ซึ่งคําว่า “อารมณ์” หมายถึง สิ่งที่จะเข้ามากระทบ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ.
…. ถ้ากระทบแล้วเกิดความรู้สึกอย่างไร งุ่นง่านอยู่ในใจ อันนั้นไม่ได้เรียกว่าอารมณ์; อันนั้นก็เรียกว่ากิเลสอย่างอื่น เช่น เรียกว่าตัณหาบ้าง อุปาทานบ้าง; ถ้าจัดเป็นพวกขันธ์ ก็เรียกว่า เวทนาขันธ์บ้าง สัญญาขันธ์บ้าง สังขารขันธ์บ้าง; ถ้าเป็นความคิดที่งุ่นง่านก็เรียกว่า “สังขารขันธ์” ทั้งนั้น ดังนั้น เราจะต้องถือเอาคําว่าอารมณ์ในบาลีมาเป็นหลัก
…. คําว่า อารมณ์ ที่จะเข้าใจกันง่ายๆ ก็หมายความว่า รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่จะมากระทบ ตา หู จมูก ลิ้น กาย นี้ ๕ อย่าง แล้วก็ความรู้สึกเก่าแก่ที่จะมาผุดขึ้นในใจอีก เรียกว่า ธัมมารมณ์ ที่จะมากระทบใจในปัจจุบันนี้ นี้ก็เป็นอันหนึ่ง เลยได้เป็นอารมณ์ ๖. อารมณ์กระทบ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ๕ อย่างข้างนอกนี้ก็สําคัญไปพวกหนึ่ง ที่ปรุงขึ้นภายในสําหรับกระทบใจโดยไม่ต้องอาศัย ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เลย ในเวลานั้นก็ยังมีอยู่นี้เรียกว่าธัมมารมณ์ นี้ก็ยิ่งสําคัญ: แต่ว่ารวมกันแล้วก็เรียกว่า อารมณ์ ได้ด้วยกันทั้งนั้น แปลว่า สิ่งที่จะมากระทบกับ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นั่นเอง
…. นี้ ดูให้ละเอียดตามตัวหนังสือ คําว่า “อารมณ์” แปลว่า ที่หน่วงบ้าง แปลว่า ที่ยินดีบ้าง, มันมีความหมายละเอียดมาก. ถ้าถือเอาความหมายอย่างคนที่มีตัวตนเป็นหลัก ธรรมะในฝ่ายฮินดูหรือฝ่ายพรหมณ์เขาก็จะพูดว่า สําหรับจิตหรืออาตมันเข้าไปจับฉวยเอา. แต่ถ้าพูดอย่างภาษาชาวพุทธพูดอย่างนั้นไม่ได้ เพราะไม่มีจิตไม่มีอาตมันชนิดนั้น แล้วจิตนี้ก็เพิ่งเกิดขึ้นหลังอารมณ์กระทบแล้ว; เลยต้องพูดตามพระบาลีที่ว่า อาศัยตาด้วย อาศัยรูปด้วย ย่อมเกิดจักษุวิญญาณ; ตาอาศัยกับรูปคืออารมณ์นั้นได้แล้วจึงจะเกิดจักษุวิญญาณ วิญญาณหรือจิตนี้เกิดทีหลัง
…. ฉะนั้น จึงไม่พูดว่า อารมณ์นี้เป็นสิ่งสําหรับจิตหรือตัวตนเข้าไปจับฉวยยึดเอา; ถ้าพูดอย่างนั้นมันก็จะเป็นฮินดูหรือพราหมณ์ไป คือมีตัวตนไป. พูดอย่างพุทธไม่มีตัวตน ทุกอย่างไม่ใช่ตัวตน เป็นสักว่าธาตุ, ได้การปรุงแต่งที่เหมาะแล้วมันก็ปรุงแต่งเป็นสิ่งใหม่ขึ้นมา ในนั้นอาจจะมีความรู้สึกโง่ไปว่าเป็นตัวเราก็ได้
…. ฉะนั้น คําว่าอารมณ์ ถ้าถือตามหลักในทางพุทธศาสนา ก็แปลว่า สิ่งที่อาศัยกันกับจิต จะเรียกว่าเป็นที่หน่วงของจิตมันก็ยังได้: ถ้าเข้าใจผิดมันก็ผิดได้: เรียกว่าสิ่งที่อาศัยกับอายตนะ แล้วก็เกิดเป็นความรู้สึกเป็นจิตขึ้นมา จิตกําลังหน่วงสิ่งนั้นเป็นอารมณ์ก็ได้ แต่จะให้เป็นตัวตนนั้นไม่ได้
…. โดยพยัญชนะก็มีอยู่อย่างนี้ ตัวพยัญชนะก็ยังกํากวม อารมฺมณํ หรือที่มาจาก อาลมฺพนํ ก็แปลว่า ที่หน่วงของจิต. ถ้าจะถือว่ามาจาก รม ที่แปลว่า ยินดี ก็แปลว่า มันเป็นสิ่งที่หลงใหลยินดีของจิต อย่างนี้ก็ยังได้อีก
…. แต่ขอให้รู้จักจากภายในดีกว่าที่จะมารู้จักจากตัวหนังสือ เมื่อตากระทบรูป เมื่อหูกระทบเสียง เป็นต้น มันเกิดขึ้นในใจ, แล้วสังเกตเอาที่นั่นก็แล้วกัน ว่ารูปที่มากระทบตานั้นมันคืออะไร? เสียงที่มากระทบหูนั้นมันคืออะไร? จะค่อยเข้าใจแจ่มแจ้งขึ้นทีละน้อยๆ ว่าอารมณ์นั้นคืออะไร? แต่ให้เข้าใจไว้ทีหนึ่งก่อนว่าสิ่งที่เรียกว่าอารมณ์ๆที่มากระทบนี้ มันยังไม่ดีไม่ชั่ว ยังไม่จัดเป็นสิ่งดีสิ่งชั่ว มันต้องผสมปรุงแต่งเป็นความคิดอย่างนั้นอย่างนี้เสียก่อน จึงจะจัดเป็นดีเป็นชั่ว อารมณ์ล้วนๆยังไม่ดีไม่ชั่ว จะได้รู้จักป้องกัน อย่าให้เป็นไปในทางชั่ว, ให้เป็นไปแต่ในทางดีได้ตามปรารถนา
…. นี้เรียกว่าโดยพยัญชนะ โดยตัวหนังสือ คําว่า “อารมณ์” แปลว่า เป็นที่ยินดีแห่งจิต, เป็นที่ยึดหน่วงแห่งจิต; โดยเฉพาะภาษาอภิธรรมแล้วก็ใช้คําว่า “เป็นที่หน่วงเอาของจิต”, คือจิตย่อมหน่วงสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นอารมณ์ แปลคําว่าอารมณ์บ้าง, อาลัมพนะ แปลว่า เป็นที่หน่วงเอา.
…. เดี๋ยวนี้เราเรียนพุทธศาสนาไม่ใช่เรามาเรียนหนังสือบาลี, เราจะเรียนพระธรรมคําสอนของพระพุทธเจ้า เราก็ต้องดูสิ่งที่เรียกว่าอารมณ์ โดยหลักของธรรมชาติที่ปรุงแต่งกันอยู่ในใจดีกว่า; ก็อย่างพระบาลีที่ได้ว่ามาแล้วข้างต้นว่า จกฺขุญฺจ ปฏิจฺจ รูเป จ อุปฺปชฺชติ จกฺขุวิญฺญาณํ = เพราะอาศัยตาด้วย รูปด้วย ย่อมบังเกิดจักษุวิญญาณ ติณฺณํ ธมฺมานํ สงฺคติ ผสฺโส - การประจวบกันของ ๓ สิ่งนี้เรียกว่า “ผัสสะ”, ผสฺสปจฺจยา เวทนา = เพราะผัสสะเป็นปัจจัยจึงเกิดเวทนา, อย่างนี้เรื่อยไปจนเกิดทุกข์ จนเกิดความทุกข์, นี้เรียกว่าโดยธรรมชาติ
…. สิ่งที่เรียกว่าอารมณ์มีอยู่โดยธรรมชาติที่จะเข้ามาอาศัยกันกับตาข้างใน ที่มีอยู่ในตัวคน. แล้วจะเกิดจักษุวิญญาณ เป็นต้น ขึ้นในตัวคน; จะเกิด ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ ขึ้นในตัวคน; นี้โดยธรรมชาติ พระพุทธเจ้าท่านบันดาลอะไรไม่ได้ : ธรรมชาติเป็นอยู่อย่างนี้ แต่ท่านรู้เรื่องนี้ท่านจึงนํามาสอนว่า ธรรมชาติมันมีอยู่อย่างนี้ เราจะต้องเข้าใจให้ถูกต้อง โดยที่จะป้องกันความทุกข์ไม่ให้เกิดขึ้นมาได้, หรือถ้าเกิดขึ้นมาได้ก็จะดับเสียได้
…. เราควรจะรู้จักอารมณ์ในฐานะที่เป็นธรรมชาติอันหนึ่ง ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ แล้วที่จะเข้ามาทําเรื่องทําราวขึ้นในจิตใจของคนเราให้เกิดปัญหายุ่งยากนี้ให้ดีๆ นี้เรียกว่ารู้จักอารมณ์จากธรรมชาติโดยตรงอย่างนี้ ดีกว่าที่จะรู้จักตามตัวหนังสือ, ดีกว่าที่จะรู้จักตามคําบอกเล่าบางอย่างบางประการที่มันไม่มีประโยชน์อะไร. รู้จักตามคําบอกเล่าก็รู้จักตามที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสดีกว่า แต่แล้วยังไม่รู้จักตัวจริง จนกว่าจะมารู้จักจากที่เมื่ออารมณ์มากระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เข้าจริงๆ : นั่นจึงจะรู้จักอารมณ์ รู้จักผลที่เกิดขึ้นจากการกระทบของอารมณ์, รู้จักต่อไปตามลําดับ จนแก้ปัญหาต่างๆ ได้
…. นี่ ขอร้องให้รู้จักสิ่งที่เรียกว่า อารมณ์ ในฐานะที่เป็นธรรมชาติอันหนึ่ง ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ที่จะเข้ามากระทบอายตนะภายใน คือ กระทบ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วมีเรื่องมีราวมีปัญหา
อารมณ์ คือ โลก - โลก คือ อารมณ์
…. “ ที่นี้จะให้ดูต่อไปอีก ว่าโดยข้อเท็จจริงที่เป็นอยู่แล้ว อารมณ์นั้นคืออะไร? ถ้าจะพูดโดยข้อเท็จจริงหรือตามสถานการณ์ที่เป็นอยู่จริงในชีวิตของคนเรา อารมณ์มันก็คือ “โลก” นั่นเอง. เดี๋ยวนี้เราไม่รู้จักโลกในฐานะอย่างนี้, เราไปเข้าใจความหมายของคําว่าโลกแคบไปบ้าง หรือว่าเขวไปบ้าง.
…. ถ้าจะรู้ตามหลักพระพุทธศาสนาแล้ว โลกทั้งหมดก็คือสิ่งที่จะมาปรากฏแก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของเรา, เรามีเพียง ๖ อย่าง, แล้วมันก็ ปรากฏได้เพียง ๖ ทาง, มากกว่านั้นมันปรากฏไม่ได้ ดังนั้น โลกก็คือสิ่งที่จะมาปรากฏแก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ๖ อย่างของเรา. “โลก” ก็คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์ ๖ ประการเท่านั้น, ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น
…. ฉะนั้น รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์ แต่ละอย่าง ๆ ก็คือ โลกในแต่ละแง่ละมุม นั่นเอง, ที่เป็น รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ก็อยู่ข้างนอก จะเรียกว่าอยู่ข้างนอกก็ได้, ที่เป็นอารมณ์เกิดขึ้นในใจ ปรุงขึ้นในใจก็เรียกว่าโลกข้างในก็ได้ แต่มันก็เป็นโลกอยู่นั่นแหละ เพราะมันเป็นสิ่งที่จิตจะต้องรู้สึก จิตรู้สึกก็เรียกว่าโลกสําหรับจิต ตา หู จมูก ลิ้น กาย รู้สึก ก็เรียกว่าโลกสำหรับ ตา หู จมูก ลิ้น กาย. นี้ขอให้มองให้เห็นชัดตามพระพุทธประสงค์ว่า โลก ก็คือ อารมณ์, อารมณ์ ก็คือ โลก.
…. แต่ทีนี้ พระพุทธเจ้าท่านมองลึกกว่านั้น ท่านตรัสถึงข้อที่ว่า ถ้ามันมาเกิดเป็นปัญหาแก่เราเมื่อไรจึงจะเรียกว่า “มันมี” พอมันมาเป็นปัญหาแก่เราเมื่อไรก็เรียกว่า “เป็นทุกข์”; เพราะว่าเราได้ไปจับฉวยยึดถือเอาตามประสาตามวิสัยของคนที่ไม่รู้จักโลก ถ้าพูดว่าไม่รู้จักโลกแล้วคนก็มักจะไม่ยอมรับ เพราะว่าเขาจะพูดว่าเขารู้จักโลกดี. ยิ่งพวกฝรั่งสมัยนี้ นักวิทยาศาสตร์ปราดเปรื่องนั้น เขาจะไม่ยอมรับว่าเขาไม่รู้จักโลก. แต่ถ้าพูดตามหลักพุทธศาสนาแล้วก็จะพูดได้ว่ายังไม่รู้จักโลกเลย เป็นคนตาบอดยิ่งกว่าตาบอด; เพราะว่าฝรั่งเหล่านั้นรู้จักโลกแต่ในแง่สําหรับจะยึดมั่นถือมั่นเป็น “ตัวกู ของกู” จะครองโลกจะอะไร เอาประโยชน์ทุกอย่าง; เขารู้จักโลกในแง่นี้ อย่างนี้พุทธบริษัทไม่เรียกว่า “รู้จักโลก”; แต่ถือว่าเป็นคนตาบอดต่อโลก, หลงยึดมั่นถือมั่นในโลก. เพราะว่าคนเหล่านั้นไม่รู้จักโลกโดยความเป็นอารมณ์ ๖ ประการ คือ รูป เสียง กลิ่นรส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์, แล้วเป็น “มายา” คือ เอาจริงไม่ได้ เป็นของชั่วคราวๆ หลอกให้เกิดความรู้สึกยึดมั่นถือมั่น
…. นี้เรารู้จัก เราไม่ไปหลงยึดมั่นถือมั่นกับมัน นี้จึงเรียกว่า “คนที่รู้จักโลก” ไปตามหลักของพุทธศาสนา, ฉะนั้น จึงไม่ยึดมั่นถือมั่นสิ่งใดโดยความเป็นตัวตน หรือโดยความเป็นของตน, เรียกว่าเป็นผู้รู้จักอารมณ์ ๖ ประการนั้นก็คือรู้จักโลกทั้งปวง, แล้วก็ไม่หลงไปในโลกในแง่ใดแง่หนึ่ง นี้เรียกว่า อารมณ์ ก็คือ โลก นั่นเอง ในความหมายที่ลึกที่สุดของพระพุทธสาสนา ไม่ใช่โลกก้อนดิน, ไม่ใช่โลกก้อนกลมๆ นี้. แต่มันหมายถึงคุณค่าอะไรที่มันมีอยู่ในโลกกลมๆ นี้ ที่จะเข้ามามาทําให้เกิดปัญหา ที่ตา ที่หู ที่จมูก ที่ลิ้น ที่กาย ที่ใจ ของคน. นั่นแหละคือตัวร้ายกาจของสิ่งที่เรียกว่า โลก เราจะต้องรู้จักในส่วนนี้ให้เพียงพอ
อารมณ์ในโลกปัจจุบันมารวมที่วัตถุนิยม
…. ทีนี้ ดูอีกแง่หนึ่งก็โดยปัญหาที่กําลังมีอยู่ อารมณ์ในโลกนี้ในฐานะที่มันเป็นตัวปัญหาที่กําลังมีอยู่ มันมารวมอยู่ที่คําว่า “วัตถุนิยม”: หมายความว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี้ มันเป็นฝ่ายชนะ ไปหลงใหลในอารมณ์ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ฯลฯ, แล้วก็เกิดนิยมหลงใหลในวัตถุเหล่านั้น จนเกิดความคิดใหม่ๆ, ปรุงแต่งไปในทางที่จะให้หลงใหลในโลกยิ่งขึ้นๆ, ความเจริญก้าวหน้า ในโลกสมัยนี้เป็นไปแต่ในทางอย่างนี้ ฉะนั้น จึงไกลความสงบ, ไกลสันติภาพ ไกลอะไรออกไปทุกที. การที่มนุษย์ที่มีปัญญาในโลกสมัยนี้ โดยเฉพาะฝรั่งที่ก้าวหน้านั้นเขาก็จัดโลกไปแต่ในแง่ของวัตถุมากขึ้นๆ: มันก็ไกลจากสันติภาพ ไกลจากความสงบสุขยิ่งขึ้นทุกที
…. ความสะดวกสบายที่ทําให้เกิดขึ้นมาได้นั้น ไม่ได้ช่วยส่งเสริมเกิดสันติภาพ; แต่มันช่วยให้เกิดความหลงในโลกนั้นเองมากขึ้น แล้วก็ช่วยให้หลงใหลใน “ตัวกู ของกู”, ยึดมั่นถือมั่นเห็นแก่ตัวมากขึ้น รวมกันแล้วมันไม่มีทางที่จะเกิดสันติภาพหรือสันติสุขในโลกได้เลย, จึงกลายเป็นความหลอกลวงเหลือประมาณ โลกจึงกลายเป็นความหลอกลวง, หรือสิ่งที่หลอกลวงเหลือประมาณใน เวลานี้ เราเรียกกันว่า ติดบ่วง หรือว่า ติดเหยื่อของวัตถุนิยม. คําพูดทั้งหมดนี้ ล้วนแต่เป็นการแสดงให้เห็นว่า อารมณ์นี้คืออะไร สิ่งที่เรียกว่าอารมณ์นั้น คือตัวโลกที่กําลังหลอกลวงเราอยู่ทุกวันอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในปัจจุบันนี้เป็นวัตถุนิยม นี้คืออารมณ์”
พุทธทาสภิกขุ
ที่มา : ธรรมบรรยายภาคมาฆบูชา ครั้งที่ ๗ หัวข้อเรื่อง “อารมณ์ คือ ปัจจัยแห่งเหตุการณ์ทุกอย่างในโลก” เมื่อวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๗ จากหนังสือชุดธรรมโฆษณ์ เล่มชื่อว่า “ก ข ก กา ของการศึกษาพุทธศาสนา”
#หมายเหตุ
“อารมณ์ ” ในทางพุทธศาสนา มี ๖ คือ...
๑. รูปะ = รูป, สิ่งที่เห็น หรือ วัณณะ คือ สี
๒. สัททะ = เสียง
๓. คันธะ = กลิ่น
๔. รสะ = รส
๕. โผฏฐัพพะ = สัมผัสทางกาย
๖. ธรรมารมณ์ = สิ่งที่ใจนึกคิด, อารมณ์ที่เกิดกับใจ
…. ทั้ง ๖ อย่างนี้ เป็นสิ่งสำหรับให้จิตยึดหน่วง เรียกอีกอย่างว่า "อายตนะภานนอก" ก็ได้
“อายตนะภายใน ๖”
คือ ที่เชื่อมต่อให้เกิดความรู้, แดนต่อความรู้ฝ่ายภายใน มี ๖ อย่าง คือ...
๑. จักษุ - ตา
๒. โสตะ - หู
๓. ฆานะ - จมูก
๔. ชิวหา - ลิ้น
๕. กาย - กาย
๖. มโน - ใจ
… หรือจะเรียกอีกอย่างว่า “อินทรีย์ ๖” ก็ได้ เพราะเป็นใหญ่ในหน้าที่ของตนแต่ละอย่าง เช่น จักษุ เป็นเจ้าการ(เป็นใหญ่)ในการเห็น เป็นต้น
ท. ส. ปัญญาวุฑโฒ – รวบรวม.