What is Nostr?
RightShiftCuration / Right Shift Curation
npub1l2c…ye04
2023-10-14 06:01:58

เปิดโปงกลวิธีที่ IMF และธนาคารโลก ใช้กดขี่ประเทศยากจน และผ่องถ่ายทรัพยากรสู่ประเทศร่ำรวย (ตอนที่ 11)

11. ดาวแพนดอร่าในโลกจริง : มหกรรมกอบโกยในปาปัวตะวันตก

“คุณอยากได้ข้อตกลงที่ยุติธรรมงั้นหรอ คุณอยู่ผิดดาวแล้วล่ะ”

–Jake Sully


*หมายเหตุผู้แปล : “ดาวแพนดอร่า” เป็นการอ้างอิงถึงภาพยนตร์อวตาร (Avatar) ที่ออกฉายเมื่อปี 2009 โดยผู้กำกับอเมริกัน เจมส์ คาเมรอน (James Cameron) เนื้อหาเกี่ยวกับมนุษย์ในโลกอนาคตที่เดินทางไปยังดาวแพนดอร่าที่อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อตักตวงทรัพยากรและนำกลับมายังโลก โดยมีตัวละครหลักคือ Jake Sully

image

ยอดเขาปุนจักจายา

เกาะนิวกินีนั้นมีทรัพยากรล้ำค่ามากมายเหลือคณานับ เกาะแห่งนี้มีผืนป่าฝนเขตร้อนที่ใหญ่เป็นอันดับสามของโลก เป็นรองแค่แอมะซอนและคองโก เกาะนี้มีเหมืองแร่ทองคำและแร่ทองแดงที่ใหญ่ที่สุดในโลก ณ กราสเบิร์กภายใต้ร่มเงาของภูเขาที่สูงกว่า 4,800 เมตร ซึ่งเป็น 1 ใน “ยอดเขาแห่งทวีปทั้ง 7* (Seven Summit)” อย่างยอดเขาปุนจักจายา และที่นอกชายฝั่งก็มีสามเหลี่ยมปะการังซึ่งเป็นทะเลเขตร้อนที่ขึ้นชื่อในเรื่องความหลากหลายของปะการังที่ “ไม่มีที่ใดเทียบได้”


หมายเหตุผู้แปล : ยอดเขาแห่งทวีปทั้ง 7 (Seven Summit) คือยอดเขาที่สูงที่สุด 7 แห่งใน 7 ทวีป โดยยอดเขาปุนจักจายาเป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในทวีปออสเตรเลียโอเชียเนีย

แต่ถึงอย่างนั้น ผู้คนบนเกาะนี้ โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในซีกตะวันตกของเกาะที่มีขนาดเทียบเท่ารัฐแคลิฟอร์เนียและอยู่ภายใต้การปกครองของประเทศอินโดนีเซีย กลับเป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่ยากจนที่สุดของโลก การล่าอาณานิคมเพื่อยึดทรัพยากรถือเป็นคำสาปต่อผู้ที่อยู่อาศัยในดินแดนที่เรียกว่า “ปาปัวตะวันตก” มาช้านาน เพราะไม่ว่าการปล้นนั้นจะกระทำโดยชาวดัตช์หรือจะเป็นการกระทำโดยรัฐบาลอินโดนีเซียเองในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา พวกลัทธิล่าอาณานิคมเหล่านี้ก็ได้รับการสนับสนุนที่โอบอ้อมอารีจากธนาคารโลกและกองทุน IMF มาโดยตลอด

ตามที่บทความนี้ได้กล่าวถึงไปแล้วว่าทำไมหนึ่งในข้อตกลงการปล่อยเงินกู้ก้อนแรก ๆ ของธนาคารโลกนั้นถึงเป็นประเทศเนเธอแลนด์ ซึ่งก็คือเพื่อใช้ประคับประคองจักรวรรดิที่ยังต้องปกครองอาณานิคมของพวกเขาในอินโดนิเชีย ซึ่งในปี 1962 จักรวรรดิดัตช์ก็พ่ายแพ้ และยอมยกอำนาจการปกครองปาปัวตะวันตกให้กับรัฐบาลของนายซูการ์โน ในวันที่อินโดนีเซียกลายเป็นประเทศเอกราช แต่ชาวปาปัวเอง (ซึ่งเป็นที่รู้จักในอีกชื่อว่าชาวอีเรียน) ก็ต้องการมีอิสรภาพเป็นของตัวเองเช่นกัน


หมายเหตุผู้แปล : ซูการ์โน (Sukarno) เป็นประธานาธิบดีคนแรกของอินโดนีเซีย และดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีระหว่างปี 1945-1967

ตลอดช่วงทศวรรษดังกล่าว IMF ปล่อยเงินกู้ให้แก่รัฐบาลอินโดนีเซียมากกว่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยที่ชาวปาปัวเริ่มถูกเขี่ยออกจากตำแหน่งในระดับผู้นำทางการเมือง และเหตุการณ์ในปี 1969 นั้นคงจะทำให้ประเทศ “โอเชียเนีย” ในนิยาย 1984 ของคุณจอร์จ ออร์เวลล์ปลื้มปิติได้เลย นั่นคือทางรัฐบาลในกรุงจาการ์ตาได้จัดให้มี “การตัดสินใจในทางเลือกแบบเสรี” มันคือการลงประชามติที่ประชาชน 1,025 คนถูกต้อนมาอยู่รวมกัน และบังคับให้ลงคะแนนต่อหน้ากองกำลังทหารติดอาวุธ ผลลัพธ์ก็คือการลงมติเห็นชอบให้ปาปัวเข้าร่วมกับประเทศอินโดนีเซียอย่างเป็นเอกฉันท์ และผลการลงคะแนนก็ได้รับการรับรองจากที่ประชุมสามัญของสหประชาชาติ หลังจากนั้นผู้คนในท้องถิ่นก็ไม่มีสิทธิ์ตัดสินใจด้วยซ้ำว่าโครงการ “การพัฒนา” โครงการไหนที่ควรดำเนินการ ส่งผลให้ในช่วงหลายทศวรรษที่ตามมา น้ำมัน ทองแดง และท่อนซุงมหาศาลถูกเก็บเกี่ยวและนำออกไปจากเกาะ โดยที่ชาวปาปัวไม่ได้มีส่วนร่วมในผลประโยชน์ใด ๆ ยกเว้นการถูกบังคับใช้แรงงาน


หมายเหตุผู้แปล : นิยาย 1984 เขียนโดยผู้ประพันธ์ชาวอังกฤษ จอร์จ ออร์เวลล์ (George Orwell) เล่าเรื่องราวของตัวละครหลักที่อยู่ในประเทศสมมติที่มีนามว่าโอเชียเนีย ซึ่งผู้คนในประเทศนี้ถูกปกครองด้วยระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จ

การก่อสร้างเหมือง ถนนทางหลวง และท่าเรือในปาปัวตะวันตกไม่ได้ถูกออกแบบขึ้นมาโดยคำนึงถึงสภาพความเป็นอยู่ของประชากรในเกาะ แต่ทำเพื่อให้การปล้นเกาะนี้ทำได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุดเท่าที่จะทำได้ อย่างที่คุณ Payer สังเกตเห็นตั้งแต่ปี 1974 ว่ากองทุน IMF ช่วยเปลี่ยนทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างมหาศาลของประเทศอินโดนีเซียให้กลายเป็น “ทรัพย์สินจำนองสำหรับใช้เป็นหลักประกันในการกู้เงินไปเรื่อย ๆ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด เพื่อที่จะช่วยสนับสนุนเผด็จการทหารผู้กดขี่ และเพื่อจ่ายค่านำเข้าสินค้าอุดหนุนการใช้ชีวิตที่ฟุ่มเฟือยของเหล่านายพลในในกรุงจาการ์ตา”

บทความในปี 1959 ที่เล่าถึงการค้นพบแร่ทองคำในพื้นที่นั้น ได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวที่ต่อมาทำให้เกิดเหมืองกราสเบิร์กซึ่งเป็นผู้ผลิตทองแดงและทองคำต้นทุนต่ำที่สุดและมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยในปี 1972 บริษัท Freeport ที่มีฐานอยู่ในเมืองฟีนิกซ์ได้ลงนามข้อตกลงกับนายซูฮาร์โต ผู้นำเผด็จการของอินโดนีเซีย ในการขุดทองคำและทองแดงในปาปัวตะวันตก โดยไม่ได้รับความยินยอมจากชนพื้นเมือง จนกระทั่งปี 2017 บริษัท Freeport มีส่วนแบ่งในโครงการนี้ถึงร้อยละ 90 และอีกร้อยละ 10 อยู่ในมือรัฐบาลอินโดนีเซีย ในขณะที่ชาวเผ่า Amungme และ Kamoro ซึ่งอยู่อาศัยในพื้นที่นั้นมีส่วนแบ่งเท่ากับ 0


หมายเหตุผู้แปล : ซูฮาร์โต (Suharto) เป็นประธานาธิบดีคนที่ 2 ของประเทศอินโดนีเซีย โดยดำรงตำแหน่งช่วงปี 1967–1998

image

เหมืองกราสเบิร์ก

คาดกันว่าเมื่อถึงวันที่ขุมทรัพย์ในกราสเบิร์กถูกขุดออกไปจนหมดโดยบริษัท Freeport โครงการนี้จะสร้างขยะมากกว่า 6,000 ล้านตัน ซึ่งมากกว่าปริมาณหินที่ถูกขุดเพื่อสร้างคลองปานามาถึง 2 เท่า ระบบนิเวศที่ปลายแม่น้ำต่ำลงไปจากเหมืองนั้นถูกทำลายจนไร้ซึ่งสิ่งมีชีวิต อันเป็นผลจากของเสียหลายพันล้านตันที่ถูก “ทิ้งลงไปในแม่น้ำของผืนป่าโดยตรง ซึ่งคือสถานที่ที่ได้ชื่อว่าเป็นภูมิประเทศที่ยังไม่มีใครแตะต้องแห่งสุดท้ายของโลก” แต่จากรายงานภาพถ่ายดาวเทียมแสดงให้เห็นถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการทิ้งหางแร่ที่เป็นพิษมากกว่า 200,000 ชิ้นทุกวันในพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติ Lorentz ซึ่งเป็นแหล่งมรดกโลก บริษัท Freeport ยังคงเป็นผู้เสียภาษีจากต่างชาติรายใหญ่ที่สุดในประเทศอินโดนีเซีย และผู้ว่าจ้างงานรายใหญ่ที่สุดในปาปัวตะวันตก พวกเขามีแผนที่จะอยู่ที่นี่ถึงปี 2040 ซึ่งเป็นวันที่คาดการณ์ว่าทองคำนั้นจะถูกขุดจนหมด

ธนาคารโลกเขียนอย่างตรงไปตรงมาในรายงานของพวกเขาเองเกี่ยวกับพื้นที่เขตนี้ว่า “ธุรกิจข้ามชาตินั้นมีความต้องการด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ดีขึ้น เพื่อที่จะขุดและส่งออกทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไป (Non-renewable) อย่างสินแร่และทรัพยากรจากผืนป่า”

โครงการที่ธนาคารโลกให้เงินสนับสนุนในปาปัวตะวันตกที่น่าตกตะลึงที่สุดคือ “การโยกย้ายถิ่นฐาน” ซึ่งเป็นคำสุภาพของการยึดครองดินแดนโดยผู้รุกราน นับเป็นเวลากว่าศตวรรษที่ผู้มีอำนาจบนเกาะชวา (ซึ่งเป็นที่อยู่ของประชาชนส่วนใหญ่ของอินโดนีเซีย) ใฝ่ฝันถึงการเคลื่อนย้ายชาวเกาะชวาไปสู่พื้นที่ห่างไกลในเขตหมู่เกาะนี้ โดยไม่ใช่แค่กระจายคนออกไป แต่เพื่อรวบรวมดินแดนทั้งหมดให้อยู่ภายใต้อุดมการณ์เพียงหนึ่งเดียว โดยในสุนทรพจน์ปี 1985 รัฐมนตรีกระทรวงโยกย้ายถิ่นฐานกล่าวว่า “ด้วยการโยกย้ายถิ่นฐาน เราพยายามที่จะผสานกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ให้กลายเป็นประเทศที่เป็นหนึ่งเดียว นั่นคือประเทศอินโดนีเซีย… ในระยะยาวแล้วความแตกต่างระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์จะหายไปด้วยการผสานเข้ากันนี้… เราจะมีผู้คนแค่ชาติพันธุ์เดียว”

ความพยายามที่จะย้ายชาวเกาะชวา ซึ่งรู้จักในนาม “Transmigrasi” เริ่มขึ้นในช่วงยุคอาณานิคม จนกระทั่งในช่วงยุค 1970 และยุค 1980 ธนาคารโลกเริ่มให้เงินสนับสนุนกิจกรรมเหล่านี้อย่างแข็งขัน ธนาคารโลกจัดสรรเงินนับร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐให้แก่รัฐบาลเผด็จการของซูฮาร์โตเพื่อให้สามารถทำ “การย้ายถิ่นฐาน” ผู้คนนับล้านไปสู่สถานที่อย่างติมอร์ตะวันออกและปาปัวตะวันตก นี่คือการกระทำที่ถือว่าเป็น “การเคลื่อนย้ายผู้คนที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่โลกเคยมีมา” พอถึงปี 1986 ธนาคารโลกได้ลงเงินสนับสนุนการโยกย้ายถิ่นฐานไปไม่น้อยกว่า 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

เงินก้อนนี้นำมาซึ่งการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการทำลายสิ่งแวดล้อมที่น่าสะพรึง

เมื่อพิจารณาจากเรื่องของต้นสาคู ซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักในอาหารดั้งเดิมของชาวปาปัว ต้นสาคูเพียง 1 ต้นสามารถเลี้ยงครอบครัวขนาด 1 คนได้นาน 6 ถึง 12 เดือน แต่เนื่องด้วยการส่งเสริมของธนาคารโลก รัฐบาลอินโดนีเซียสั่งชาวบ้านว่ากินแบบนี้ไม่ดีหรอก พวกคุณต้องกินข้าว จากนั้นต้นสาคูในสวนก็ถูกโค่นทั้งหมด และเริ่มมีการปลูกข้าวเพื่อการส่งออก จนในที่สุดชาวบ้านในพื้นที่ก็ถูกบีบให้ต้องไปซื้อข้าวที่ตลาด ซึ่งทำให้พวกเขาต้องพึ่งพาอาหารจากกรุงจาร์กาตามากขึ้นกว่าเดิม

image

การต่อต้านใด ๆ ก็ตามจะถูกปราบปรามอย่างรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้การปกครองของซูฮาร์โตที่มีการกักขังนักโทษการเมืองในคุกมากกว่า 100,000 คน แต่แม้กระทั่งในปี 2022 ปาปัวตะวันตกก็ยังคงเป็นรัฐตำรวจแบบที่ไม่มีที่ไหนเทียบได้ นักข่าวต่างชาตินั้นแทบจะเรียกได้ว่าถูกแบน เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นนั้นไม่มีอยู่จริง กองทัพสามารถปฏิบัติการใด ๆ ได้เลยโดยไม่ต้องรับผิดชอบอะไรทั้งสิ้น องค์กรนอกภาครัฐ (Non-Government Organization: NGO) อย่าง Tapol ได้บันทึกเหตุการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนเอาไว้มากมายหลายกรณี อาทิ มีการแอบสอดแนมอุปกรณ์ส่วนตัวของประชากรในวงกว้าง มีการเคอร์ฟิวเพื่อจำกัดเวลาและเหตุผลในการออกจากบ้าน และมีกระทั่งการกำหนดว่าประชาชนจะต้องตัดผมทรงอะไร

ในช่วงระหว่างปี 1979 และ 1984 ชาวบ้านที่ต้องโยกย้ายถิ่นฐานกว่า 59,700 คนถูกพาตัวไปยังปาปัวตะวันตกด้วยการสนับสนุน “ขนาดใหญ่” จากธนาคารโลก ชาวปาปัวมากกว่า 20,000 คนต้องหนีความรุนแรงไปยังประเทศเพื่อนบ้านอย่างปาปัวนิวกินี ผู้ลี้ภัยได้รายงานต่อสื่อต่างชาติว่า “หมู่บ้านของพวกเขาถูกระเบิดทิ้งไม่เหลือซาก ที่อยู่อาศัยของพวกเขาถูกเผาจนหมด ผู้หญิงถูกข่มขืน ปศุสัตว์ถูกฆ่า ผู้คนถูกยิงทิ้งอย่างไม่เลือกหน้า ส่วนคนอื่น ๆ ที่เหลือถูกจับขังและทรมานร่างกาย”

โครงการต่อเนื่องที่ธนาคารโลกให้เงินกู้สนับสนุนกว่า 160 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 1985 ชื่อว่า “โครงการโยกย้ายถิ่นฐานหมายเลข 5 (Transmigration V)” คือโครงการสนับสนุนการยึดครองดินแดนโดยชาวต่างชาติ ซึ่งธนาคารโลกให้เงินสนับสนุนเป็นครั้งที่ 7 ด้วยการตั้งเป้าสนับสนุนการโยกย้ายผู้คนกว่า 300,000 ครอบครัวระหว่างปี 1986 ถึง 1992 ผู้ว่าการของเขตปาปัวตะวันตก ณ ช่วงเวลานั้นได้บรรยายถึงชนพื้นเมืองว่า “พวกเขายังคงอยู่ในยุคหิน” และเรียกร้องให้มีการส่งผู้อพยพชาวเกาะชวามาที่เกาะนี้อีกสองล้านคนเพื่อที่จะให้ “ชาวท้องถิ่นที่ยังล้าหลังแต่งงานกับผู้ที่มาใหม่ และให้กำเนิดคนรุ่นใหม่ที่ผมไม่หยิก”

เอกสารของสัญญาเงินกู้โครงการโยกย้ายถิ่นฐานหมายเลข 5 นั้นรั่วไหลออกมาสู่องค์กร Survival International โดยในเอกสารเวอร์ชันเดิมนั้น “มีการอ้างอิงถึงนโยบายของธนาคารโลกที่มีต่อผู้คนชาวเผ่า และได้ให้รายละเอียดของมาตรการที่จำเป็นต้องทำตามอย่างครอบคลุม” แต่ในเอกสารเวอร์ชันสุดท้ายนั้น “กลับไม่มีการอ้างถึงนโยบายของธนาคารโลก”


หมายเหตุผู้แปล : Survival International เป็นองค์กรสิทธิมนุษยชนที่คอยเก็บข้อมูลประจักษ์พยาน และรวบรวมรายงานที่สำคัญเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชนพื้นเมืองในเขตอนุรักษ์ธรรมชาติหรืออุทยานแห่งชาติ

image

*คำอธิบายชาร์ต : รายละเอียดข้อมูลอัตราส่วนประชากรในปาปัวตะวันตก*

  • *ซ้าย : ชาวปาปัว*
  • *ขวา : ผู้ที่ไม่ใช่ชาวปาปัว*
  • *ที่มา : The Guardian* ———–

โครงการโยกย้ายถิ่นฐานหมายเลข 5 เจอปัญหางบประมาณไม่พอ และจำเป็นต้องยุติก่อนกำหนด แต่ท้ายที่สุดแล้วผู้คนกว่า 161,600 ครอบครัวต้องถูกย้ายถิ่นอาศัย โดยแลกกับงานที่ธนาคารโลกต้องทำจำนวน 14,146 คน-เดือน เป็นที่ชัดเจนว่าธนาคารโลกให้เงินสนับสนุนการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ทางวัฒนธรรม โดยทุกวันนี้คนชาติพันธุ์ปาปัวมีไม่ถึงร้อยละ 30 ของประชากรในพื้นที่ แต่การออกแบบทางสังคมไม่ใช่แค่เป้าหมายเดียวของการที่รัฐบาลไปเอาเงินมาจากธนาคารโลก เพราะร้อยละ 17 ของเงินทุนในโครงการโยกย้ายถิ่นฐานนั้นถูกขโมยไปโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลเอง


หมายเหตุผู้แปล : คน-เดือน (person-month) เป็นหน่วยวัดเพื่อบอกปริมาณของงานที่บุคคลทำตลอดระยะเวลา 1 เดือน ตัวอย่างเช่น 5 คน-เดือน คือปริมาณงานที่คน 5 คนทำได้ในช่วงตลอด 1 เดือน หรืองานที่คน 1 คนทำได้ในช่วงตลอด 5 เดือน

15 ปีต่อมา ณ วันที่ 11 ธันวาคม 2001 ธนาคารโลกอนุมัติเงินกู้ 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อ “ปรับปรุงสภาพถนน” ในปาปัวตะวันตกและส่วนอื่น ๆ ในทางตะวันออกของอินโดนีเซีย โครงการซึ่งเป็นที่รู้จักในนาม EIRTP ตั้งเป้าที่จะ “ปรับปรุงสภาพถนนในประเทศและถนนเส้นหลักที่เป็นเส้นยุทธศาสตร์ เพื่อลดค่าขนส่งและช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงเขตใจกลางจังหวัด การพัฒนาท้องถิ่น เขตการผลิต และสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการขนส่งได้มากขึ้นและมั่นคงขึ้น ซึ่งการลดลงของค่าขนส่งทางถนนนั้น” ธนาคารโลกกล่าว “จะช่วยลดต้นทุนวัตถุดิบ เพิ่มราคาขาย และเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของสินค้าในท้องถิ่นที่ถนนสามารถเข้าถึงได้”

พูดอีกอย่างหนึ่งคือธนาคารโลกกำลังช่วยให้การดูดเอาทรัพยากรท้องถิ่นออกมานั้นมีประสิทธิภาพมากที่สุดเท่าที่จะทำได้

ประวัติของธนาคารโลกและกองทุน IMF ที่กระทำต่อประเทศอินโดนีเซียนั้นช่างเป็นสิ่งสุดอุบาทว์เกินจะรับได้ มันแทบดูเหมือนกับเหตุการณ์ที่หลุดมาจากยุคโบราณ นอกจากนี้ในระหว่างปี 2003-2008 ธนาคารโลกยังให้เงินสนับสนุนการพัฒนาน้ำมันปาล์มในประเทศอินโดนีเซียด้วยจำนวนเงินเกือบ 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และจ้างบริษัทเอกชนที่ถูกกล่าวหาว่า “ใช้ไฟเพื่อเผาป่าปฐมภูมิและยึดที่ดินของชนพื้นเมือง โดยไม่ได้ปฏิบัติตามกระบวนการทางกฎหมายที่ชอบธรรม”

ทุกวันนี้รัฐบาลอินโดนีเซียก็ยังคงมีพันธะกับเงินกู้โครงการ EIRTP อยู่เช่นเดิม โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ธนาคารโลกได้รับเงินดอกเบี้ยกว่า 70 ล้านดอลลาร์สหรัฐจากทั้งรัฐบาลอินโดนีเซียและผู้เสียภาษี สำหรับความพยายามของพวกเขาที่จะเร่งการสูบเอาทรัพยากรจากเกาะอย่างปาปัวตะวันตกออกมาให้หมดสิ้น…


⚡️ กด Zap ที่ลิงก์นี้ เพื่อเป็นกำลังใจทีมงานผู้เรียบเรียงบทความ

(ทุกยอด zap จะถูกแบ่งอัตโนมัติเข้าวอลเล็ทของผู้เขียนบทความต้นฉบับภาษาอังกฤษ, ผู้แปลดราฟต์ 1, ผู้เรียบเรียงดราฟต์ 2-3, กองบรรณาธิการและพิสูจน์อักษรจากไรท์ชิฟต์ พร้อมกันบางส่วนไว้เพื่อเป็นค่าธรรมเนียมธุรกรรม)

Author Public Key
npub1l2cp3t052ljhqnt2emsq5py30qqppj3pytprppc4ygjznhv6lzws99ye04