เปิดโปงกลวิธีที่ IMF และธนาคารโลก ใช้กดขี่ประเทศยากจน และผ่องถ่ายทรัพยากรสู่ประเทศร่ำรวย (ตอนที่ 17)
17. จากอารูชา ถึงอักกรา
“ผู้ใดกุมอำนาจ ผู้นั้นคุมเงินตรา”
–ผู้แทนของอารูชา ปี 1979
ในปี 1979 เหล่าประเทศกำลังพัฒนาได้มารวมตัวกันที่เมืองอารูชา ประเทศแทนซาเนีย เพื่อคิดแผนทางเลือกในการรับมือโครงการปรับโครงสร้างของธนาคารโลกและ IMF โครงการซึ่งทิ้งพวกเขาให้จมอยู่ในกองหนี้สินมหาศาล และแทบไม่มีปากเสียงเรื่องอนาคตของระบบเศรษฐกิจโลก
“ผู้ใดกุมอำนาจ ผู้นั้นคุมเงินตรา” ผู้แทนของอารูชาได้เขียนไว้ และผู้ที่ควบคุมเงินตราก็จะได้กุมอำนาจเช่นกัน ซึ่งระบบการเงินระหว่างประเทศเป็นทั้งกลไกและเครื่องมือของโครงสร้างอำนาจที่เหนือชั้น
อย่างที่คุณ Stefan Eich เขียนในหนังสือ “The Currency Of Politics” ว่า “การที่โครงการริเริ่มแห่งอารูชาเน้นความสำคัญของปัญหาที่เกิดขึ้นจากความไม่สมดุลของชนชั้นในระบบการเงินระหว่างประเทศ ถือเป็นความพยายามอันทรงพลังในการยืนยันถึงการมีอยู่จริง ๆ ของการเมืองเรื่องเงินตรา โครงการแห่งอารูชานี้โต้แย้งข้อกล่าวอ้างที่ว่าเหล่าที่ปรึกษาด้านการเงินของกองทุน IMF มีการประเมินนโยบายด้านเทคนิคอย่างเป็นกลางต่อทุกฝ่าย”
“IMF อาจจะอ้างว่ายืนอยู่บนหลักวิทยาศาสตร์และมีความเป็นกลาง” คุณ Eich เขียน “แต่จากหลักฐานทางวิชาการ รวมถึงเอกสารภายในของ IMF เองกลับชี้ไปอีกทางเลย โดย IMF ยึดมั่นในอุดมการณ์มาก ดูได้จากวิธีการที่พวกเขาจำกัดความคำว่า “การด้อยพัฒนาคือการขาดตลาดเสรี” แต่พวกเขากลับปฏิบัติสองมาตรฐานด้วยการไม่สนใจมาตรการควบคุมและแทรกแซงตลาดที่มีอยู่เต็มไปหมดใน “เหล่าประเทศที่พัฒนาแล้ว”
สิ่งนี้สอดคล้องกับที่คุณ Cheryl Payer ตั้งข้อสังเกตว่านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลกและกองทุน IMF “จะเอาความลึกลับซับซ้อนมาใช้ล้อมกรอบประเด็นที่จะสื่อ เพื่อให้เนื้อหานั้นฟังดูขู่ขวัญแม้กระทั่งกับนักเศรษฐศาสตร์คนอื่น ๆ”
“พวกเขาแสดงตัวเอง” เธอกล่าว “ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคที่สามารถประเมินได้ว่าอัตราแลกเปลี่ยนที่ ‘ถูกต้อง’ และปริมาณการพิมพ์เงินที่ ‘เหมาะสม’ นั้นควรอยู่ที่เท่าไร โดยการใช้สมการที่ซับซ้อนเข้าใจยาก แต่พวกเขากลับปฏิเสธนัยยะทางการเมืองที่มีส่วนสำคัญต่องานของพวกเขา”
เช่นเดียวกับกลุ่มฝ่ายซ้ายทั่วไป เมื่อมีการสนทนาเกี่ยวกับธนาคารโลกและกองทุน IMF คำวิจารณ์ส่วนมากในที่ประชุมเมืองอารูชานั้นถือว่าตรงประเด็น นั่นคือสถาบันเหล่านี้เป็นพวกฉวยโอกาส และทำให้ชาติเจ้าหนี้ร่ำรวยด้วยการทำให้ประเทศที่ยากจนต้องรับเคราะห์ แต่ทางแก้ที่การประชุมเมืองอารูชานำเสนอนั้นกลับพลาดเป้าไปไกล เพราะพวกเขาเสนอให้มีการวางแผนเศรษฐกิจจากส่วนกลาง รวมทั้งการทำวิศวกรรมทางสังคม และการยึดกิจการเอกชนมาเป็นของรัฐ
เหล่าผู้แทนในการประชุมที่อารูชาต่างก็สนับสนุนให้ล้มล้างธนาคารโลกและกองทุน IMF เพื่อให้หนี้ที่ชั่วร้าย (Odious Debt) ถูกยกเลิก แผนการนี้ดูเป็นเป้าหมายที่สูงส่ง แต่ก็ไม่สามารถเป็นจริงได้ ซ้ำร้ายกว่านั้น แผนการที่ดีที่สุดที่พวกเขาคิดได้คือ “การย้ายอำนาจเข้ามาอยู่ในมือของรัฐบาลในพื้นที่แทน” ซึ่งเป็นทางออกที่แย่มาก เมื่อคำนึงถึงว่ารัฐบาลส่วนใหญ่ในประเทศโลกที่สามนั้นเป็นรัฐบาลเผด็จการ
นับเป็นเวลาหลายทศวรรษที่ผู้คนในประเทศกำลังพัฒนานั้นต้องทนทุกข์จากผู้นำเลว ๆ ที่มีตั้งแต่พวกยอมขายประเทศตัวเองให้กับบริษัทข้ามชาติ ไปจนถึงผู้นำเผด็จการสังคมนิยม
ซึ่งทั้งสองทางเลือกนี้ชั่วช้าไม่ต่างกัน
นี่คือกับดักที่ประเทศกานาต้องติดอยู่นับตั้งแต่การประกาศอิสรภาพจากจักรวรรดิอังกฤษ โดยบ่อยครั้งที่ทางการของกานาเลือกที่จะกู้เงินจากต่างชาติ ไม่ว่าอุดมการณ์ของพวกเขาจะเป็นอะไรก็ตาม
ประเทศกานามีประวัติศาสตร์กับธนาคารโลกและกองทุน IMF เหมือนประเทศลูกหนี้ทั่วไป ผู้นำทหารของกานาทำรัฐประหารยึดอำนาจเพียงเพื่อจะบังคับใช้นโยบายการปรับโครงสร้างของ IMF ทำให้ประเทศเจอปัญหา โดยในช่วงปี 1971 ถึง 1982 ตัวเลขค่าแรงที่แท้จริงลดลงกว่าร้อยละ 82 รายจ่ายด้านสาธารณสุขลดลงกว่าร้อยละ 90 และราคาเนื้อสัตว์พุ่งขึ้นกว่า 4 เท่าในช่วงเวลาเดียวกัน
นอกจากนี้ยังมีการกู้เงินเพื่อนำไปใช้สร้างโครงการช้างเผือกขนาดใหญ่ เช่น เขื่อน Akosombo เพื่อผลิตพลังงานป้อนให้โรงงานผลิตอลูมิเนียมที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นเจ้าของ โดยให้ผู้คนกว่า 150,000 คนต้องรับเคราะห์จากโรคตาบอดแถบแม่น้ำ (River Blindness) และต้องป่วยเป็นอัมพาตจากทะเลสาบมนุษย์สร้างที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก รวมทั้งยังมีการผลาญผืนป่าฝนกว่าร้อยละ 75 จากการที่อุตสาหกรรมไม้ซุง โกโก้ และสินแร่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ในขณะที่การผลิตอาหารภายในประเทศกลับตกต่ำลงอย่างมาก ตัวเลขในปี 2022 พบว่าแม้จะมีเงินช่วยเหลือกว่า 2,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐไหลเข้าสู่ประเทศกานา แต่หนี้สินก็อยู่ในระดับที่สูงที่สุดเท่าที่เคยมีมา โดยพุ่งไปแตะที่ระดับ 31,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเพิ่มขึ้นมหาศาลเมื่อเทียบกับ 50 ปีก่อน ที่มีเพียง 750 ล้านเหรียญสหรัฐ
หมายเหตุผู้แปล : โรคตาบอดแถบแม่น้ำ (River Blindness) หรือโรคพยาธิตาบอด (Onchocerciasis) เป็นโรคที่มีสาเหตุการติดเชื้อจากพยาธิปรสิตที่เรียกว่า Onchocerca volvulus โดยมีอาการคันอย่างรุนแรงจากตุ่มใต้ผิวหนัง และตาบอด
นับตั้งแต่ปี 1982 ภายใต้ “คำแนะนำ” ของ IMF เงินเซดีของประเทศกานาลดมูลค่าลงไปกว่าร้อยละ 38,000 โดยผลลัพธ์ที่หนักที่สุดที่เกิดจากการปรับโครงสร้างนั้นก็เหมือนอย่างที่เจอกันมาแล้วทุกที่ทั่วโลก นั่นคือการสูบเอาทรัพยากรธรรมชาติออกจากประเทศกานาอย่างรวดเร็ว เช่น ในช่วงระหว่างปี 1990 และ 2002 รัฐบาลกานาได้รับเงินเพียง 87.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐจากทองคำมูลค่า 5,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐที่ถูกขุดออกไปจากแผ่นดินของกานา
พูดอีกนัยหนึ่งคือกำไรจากการขุดทองคำในประเทศกานากว่าร้อยละ 98.4 ตกอยู่ในเงื้อมมือของชาวต่างชาติ
ผู้ประท้วงชาวกานาอย่างคุณ Lyle Pratt กล่าวไว้ว่า “กองทุน IMF ไม่ได้มาที่นี่เพื่อทำให้ราคาข้าวของลดลง พวกเขามาที่นี่เพื่อให้แน่ใจว่าพวกเรายังคงสร้างถนนเหมือนเก่า เพราะเรื่องคุณภาพชีวิตของคนไม่ได้เกี่ยวอะไรกับพวกเขา พวกเขาไม่แคร์… สิ่งเดียวที่ IMF แคร์ก็คือการทำให้แน่ใจว่าจะยังมีการสร้างสิ่งต่าง ๆ เพื่อให้เรายังมีความสามารถที่จะจ่ายหนี้ได้ ไม่ใช่การสร้างเพื่อพัฒนาประเทศ”
ตลอดปี 2022 นั้นก็เหมือนหนังม้วนเก่า สกุลเงินเซดีของกานาอยู่ในกลุ่มสกุลเงินที่อ่อนค่ามากที่สุดโลก เงินเซดีสูญเสียมูลค่าไปราว ๆ ร้อยละ 48.5 นับตั้งแต่มกราคมปี 2022 กานากำลังเผชิญกับวิกฤตหนี้สิน และสถานการณ์ก็เหมือนในช่วงทศวรรษที่ผ่าน ๆ มาที่พวกเขาถูกบีบให้เน้นความสำคัญกับการจ่ายหนี้คืนมากกว่าการใช้จ่ายเพื่อลงทุนให้ประชาชนของประเทศตัวเอง
ในเดือนตุลาคม 2022 ประเทศกานาเพิ่งได้รับการเยี่ยมเยือนจาก IMF ซึ่งหากข้อตกลงเงินกู้ครั้งนี้เสร็จสิ้น ก็จะถือเป็นเงินกู้จาก IMF ครั้งที่ 17 ของประเทศ นับตั้งแต่การรัฐประหารที่สนับสนุนโดย CIA ในปี 1966 นี่แปลว่าพวกเขาตกอยู่ภายใต้เงื่อนไขการปรับโครงสร้างที่มีการซ้อนกันอยู่ถึง 17 ชั้น
หมายเหตุผู้แปล : สำนักข่าวกรองกลางสหรัฐ (Central Intelligence Agency: CIA) เป็นหน่วยงานข่าวกรองฝ่ายพลเรือนของรัฐบาลกลางสหรัฐ
การเยี่ยมเยือนจาก IMF นั้นคล้ายกับการเยี่ยมเยือนจากมัจจุราช เพราะมันหมายถึงการตัดค่าใช้จ่ายเพื่อประชาชน ความเจ็บปวด และอีกสิ่ง ซึ่งไม่ได้พูดเกินจริงเลย นั่นคือ “ความตาย”
ผู้คนที่ร่ำรวยและมีเส้นสายอาจจะหนีรอดได้โดยไม่ได้รับผลกระทบ หรือแม้กระทั่งอาจจะรวยขึ้นกว่าเดิมได้ด้วยซ้ำ แต่สำหรับคนยากจนและชนชั้นแรงงานแล้ว การลดค่าเงิน การปรับอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น และการที่ธนาคารไม่มีเงินให้กู้ถือเป็นหายนะ นี่ไม่ใช่ประเทศกานาที่คุณ Cheryl Payer แรกเริ่มเดิมทีได้กล่าวถึงในหนังสือ “กับดักหนี้” (The Debt Trap) เมื่อปี 1973 ที่เพิ่งจะเริ่มติดกับดักหนี้ แต่นี่คือประเทศกานาที่ถูกกล่าวถึงในอีกเกือบ 50 ปีหลังจากนั้น นี่คือกานาที่มีกับดักหนี้มหาศาลกว่าเดิม 40 เท่า
แต่บางที่อาจจะยังมีแสงแห่งความหวังอยู่
ในช่วงวันที่ 5-7 ธันวาคม 2022 ณ กรุงอักกรา เมืองหลวงของประเทศกานา มี “การไปเยี่ยมเยือน” ในรูปแบบที่ต่างไปจากเดิม เพราะแทนที่จะเป็นการมาเยือนของเหล่าเจ้าหนี้ที่คอยจะเก็บดอกเบี้ยกับชาวกานาและบงการอุตสาหกรรมของพวกเขา แต่กลับเป็นเหล่าวิทยากรและผู้จัดงานสัมมนาบิตคอยน์แห่งแอฟริกา (Africa Bitcoin Conference) ที่เดินทางมารวมตัวกัน เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับเครื่องมือทางการเงินแบบโอเพ่นซอร์ส (Opensource) และยุทธวิธีแบบกระจายศูนย์ (Decentralized) ในการสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้อยู่นอกเหนือการควบคุมของรัฐบาลที่ฉ้อฉลและบริษัทข้ามชาติ โดยมีคุณ Farida Nabourema เป็นผู้จัดงานหลัก เธออยู่ฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตย สนับสนุนการช่วยเหลือคนยากจน ต่อต้านธนาคารโลกและกองทุน IMF เธอต่อต้านระบอบเผด็จการ และที่สำคัญที่สุด เธอสนับสนุนบิตคอยน์
“ประเด็นที่แท้จริงก็คือ” คุณ Cheryl Payer ได้เคยเขียนไว้ครั้งนึงว่า “ใครคือคนที่ควบคุมเงินและเทคโนโลยีที่ส่งออกไปยังกลุ่มประเทศที่ยากจนกว่า”
เราสามารถถกเถียงกันได้ว่าบิตคอยน์นั้นก็ถือเป็น “เงิน” และ “เทคโนโลยี” ที่ถูกส่งออกไปยังประเทศกานาและประเทศโตโก เพราะมันไม่ได้ถือกำเนิดขึ้นมาจากประเทศเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม มันก็ไม่เป็นที่แน่ชัดว่าบิตคอยน์ถือกำเนิดขึ้นที่ไหนกันแน่ ไม่มีใครรู้ว่าใครคือผู้ที่สร้างมัน และไม่มีรัฐบาลหรือบริษัทไหนที่สามารถควบคุมมันได้
คำอธิบายแผนภูมิ : การเป็นเจ้าของบิตคอยน์และสกุลเงินคริปโทฯ ต่อประชากร โดยประเทศที่เคยมีประวัติการปรับโครงสร้างกับ IMF นั้นมีแนวโน้มที่จะอยู่ในลำดับที่สูงมาก แสดงผลในหน่วยร้อยละของผู้ที่ใช้อินเทอร์เน็ตระหว่างอายุ 16-64 ปีที่ครอบครองบิตคอยน์หรือสกุลเงินคริปโทฯ ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง
- ที่มา : Data Reportal: 2022 Global Overview Report ———–
ในช่วงที่โลกยังใช้มาตรฐานทองคำ (The Gold Standard) ความโหดร้ายจากลัทธิล่าอาณานิคมทำให้มาตรฐานระบบการเงินที่เป็นกลางนั้นล้มหายตายจากไป ในขณะที่โลกหลังยุคอาณานิคมซึ่งใช้มาตรฐานระบบเงินเฟียต (The Fiat Standard) ที่สนับสนุนโดยธนาคารโลกและกองทุน IMF นั้นส่งผลให้โครงสร้างอำนาจหลังยุคล่าอาณานิคมเปลี่ยนไปในทางเสื่อมอำนาจลง บางทีสำหรับประเทศโลกที่สามแล้ว โลกหลังยุคล่าอาณานิคมและหลังยุคเงินเฟียตตาย อาจจะเป็นส่วนผสมที่ลงตัว
ผู้บุกเบิกทฤษฎีพึ่งพิง (Dependency Theory) อย่างคุณ Samir Amin เดินทางมาร่วมการประชุมลักษณะเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นในเมืองอารูชา เพื่อเรียกร้องให้มีการ “แยกการเชื่อมต่อ” ระหว่างประเทศที่ยากจนกับประเทศที่ร่ำรวย โดยแนวคิดคือความมั่งคั่งของประเทศร่ำรวยไม่ได้เกิดจากการมีองค์ประกอบต่าง ๆ เช่น การปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม การมีสิทธิในการครอบครองสินทรัพย์ และสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อผู้ประกอบการ เท่านั้น แต่ยังรวมถึงการปล้นทรัพยากรและแรงงานมาจากประเทศยากจนด้วย ดังนั้นหากตัดการถูกสูบทรัพยากรออกไป ประเทศยากจนก็จะเริ่มก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาได้
หมายเหตุผู้แปล : ทฤษฎีพึ่งพิง (Dependency Theory) คือทฤษฎีที่อธิบายว่ามีการทำให้ทรัพยากรไหลจากประเทศที่ยากจน หรือเรียกว่า “ประเทศชายขอบ (Periphery)” ไปยังประเทศที่ร่ำรวย หรือ “ประเทศแกนกลาง (Core)” ทำให้ประเทศแกนกลางร่ำรวยขึ้น ในขณะที่ประเทศชายขอบยากจนลงและต้องพึ่งพาประเทศที่ร่ำรวยมากขึ้นในด้านต่าง ๆ
โดยคุณ Armin ทำนายว่า “การสร้างระบบใหม่ที่จะก้าวผ่านระบบทุนนิยมเดิมจำเป็นต้องเริ่มขึ้นจากประเทศที่อยู่ชายขอบ” ซึ่งถ้าเราเห็นด้วยกับคุณ Allen Farrington ที่ว่าระบบเงินเฟียตในทุกวันนี้ไม่ได้เป็นระบบทุนนิยมที่แท้จริง และระบบเงินดอลลาร์ในเวลานี้มีจุดบกพร่องอย่างใหญ่หลวง บางทีคุณ Armin อาจพูดถูกในประเด็นที่ว่าระบบการเงินแบบใหม่นั้นน่าจะเกิดขึ้นในเมืองอย่างอักกรา ไม่ใช่ในสถานที่อย่างกรุงวอชิงตัน ดีซี หรือกรุงลอนดอนแน่ ๆ
อาจารย์เซเฟดีน อัมมูสได้เขียนไว้ว่า “กลุ่มประเทศกำลังพัฒนานั้นประกอบไปด้วยประเทศที่ไม่ได้ใช้เทคโนโลยีอุตสาหกรรมยุคใหม่ในช่วงเวลาเดียวกับที่ระบบการเงินโลก (ที่เน้นการสร้างเงินเฟ้อ) ได้เข้ามาแทนที่ระบบเงินแบบเดิมที่มั่นคงกว่าตั้งแต่ในปี 1914 ซึ่งระบบการเงินที่วิปลาสนี้บั่นทอนการพัฒนาของประเทศกำลังพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ด้วยการอนุญาตให้รัฐบาลท้องถิ่นและรัฐบาลต่างชาติสามารถเข้ายึดความมั่งคั่งที่ประชาชนของประเทศเหล่านั้นสร้างขึ้น”
พูดอีกนัยหนึ่งคือประเทศที่ร่ำรวยเปลี่ยนเข้าสู่เศรษฐกิจอุตสาหกรรมก่อนที่จะต้องใช้ระบบเงินเฟียต ส่วนประเทศที่ยากจนต้องใช้ระบบเงินเฟียตก่อนที่จะได้เปลี่ยนเข้าสู่เศรษฐกิจอุตสาหกรรม และจากที่คุณ Nabourema ร่วมกับผู้จัดงานท่านอื่นได้พูดไว้ในงานสัมมนาบิตคอยน์แห่งแอฟริกา ว่าหนทางเดียวที่จะทำลายวังวนของการพึ่งพิงนี้ได้อาจต้องเป็นการก้าวออกไปจากระบบเงินเฟียต
ไม่มีวิธีอื่น…
⚡️ กด Zap ที่ลิงก์นี้ เพื่อเป็นกำลังใจทีมงานผู้เรียบเรียงบทความ
(ทุกยอด zap จะถูกแบ่งอัตโนมัติเข้าวอลเล็ทของผู้เขียนบทความต้นฉบับภาษาอังกฤษ, ผู้แปลดราฟต์ 1, ผู้เรียบเรียงดราฟต์ 2-3, กองบรรณาธิการและพิสูจน์อักษรจากไรท์ชิฟต์ พร้อมกันบางส่วนไว้เพื่อเป็นค่าธรรมเนียมธุรกรรม)