What is Nostr?
Jakk Goodday
npub1mqc…nz85
2023-09-21 21:56:05

กรณีศึกษาที่น่าสนใจเกี่ยวกับ Nostr และคอมมูนิตี้ไทย (Siamstr)

The Unseen hand of Decentralized Social Media

กรณีศึกษาที่น่าสนใจเกี่ยวกับ Nostr และคอมมูนิตี้ไทย (Siamstr)

ในยุคที่คนส่วนใหญ่ยังคงให้ความสำคัญกับโซเชียลมีเดียแบบรวมศูนย์ อย่างพวกยักษ์ใหญ่เช่น Facebook และ Twitter เหนือกว่าการสนทนาในชีวิตจริงๆ กันเสียอีกนั้น การเกิดขึ้นของ Nostr แพลตฟอร์มแบบกระจายศูนย์นับว่าเป็น Counter-narrative ที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง

โดยเฉพาะกับคอมมูนิตี้ไทยอย่างกลุ่มที่ใช้แฮชแท็ก Siamstr ซึ่งแต่เดิมเคยได้ชื่อว่าเป็นสังคมที่อ่านหนังสือกันได้ไม่เคยเกิน 7-8 บรรทัด คนส่วนใหญ่ในประเทศของเราไม่ได้มีนิสัยที่รักการอ่าน แต่เหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นใน Nostr กับกลุ่ม Siamstr ตอนนี้นั้น มันไม่ได้แค่กำลังท้าทายทัศนคติแบบเหมารวมที่ว่ามานี้เพียงเท่านั้น มันยังได้ท้าทายความเข้าใจพื้นฐานของเราเกี่ยวกับพฤติกรรมมนุษย์ พลวัตของตลาด และแก่นแท้ของการกระจายศูนย์อีกด้วย

image

ปลักควายแห่งการรวมศูนย์

หากต้องการทำความเข้าใจถึงความสำคัญในการเกิดขึ้นของ Nostr ให้ได้อย่างถ่องแท้ สิ่งแรกที่ควรทำ คือ เราต้องเข้าใจถึงข้อจำกัดของแพลตฟอร์มแบบรวมศูนย์ดั้งเดิมเหล่านั้นให้ได้เสียก่อน แพลตฟอร์มเหล่านี้เป็นดั่ง “สวนที่มีกำแพงล้อมรอบ” มีการควบคุมข้อมูลของผู้ใช้ พึ่งพาอัลกอริธึมที่คอยจัดการกับการคัดกรองเนื้อหา และการโฆษณาที่ถูกยัดเยียดเข้ามาอย่างมากมายนับไม่ถ้วน พวกเขาเหล่านี้ไม่เพียงแต่กำหนดสิ่งที่คุณมองเห็น แต่ยังไปกำหนดวิธีที่คุณจะได้เห็นมันอีกด้วย มันเป็นรูปแบบหนึ่งของลัทธิการปกครองแบบพ่อปกครองลูก (Paternalism) ที่เป็นบรรทัดฐานทางสังคมมาอย่างยาวนาน

แต่เมื่อกำแพงเหล่านี้ได้ถูกทลายลง มันจะเกิดอะไรขึ้นตามมา?

ในสังคมของเรา มักจะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันเองแบบเหมารวม ถึงพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ที่ไม่นิยมในการอ่านอย่างเป็นเรื่องเป็นราวเหมือนคนรุ่นก่อนๆ พฤติกรรมการเสพสื่อออนไลน์ชี้ให้เห็นว่าคนส่วนใหญ่มีแนวโน้มที่จะชอบเนื้อหาแบบสั้นๆ กันมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นการทวีตหรือเรื่องราวต่างๆ ในอินสตาแกรม รวมไปถึงคลิปสั้นต่างๆ ในแพลตฟอร์มอื่นๆ แต่การเหมารวมก็ดูจะเป็นการตัดสินที่ง่ายเกินไปหน่อย เพราะการมีส่วนร่วมของชาวคอมมูนิตี้ไทยใน Nostr ณ เวลานี้ มันกำลังเปิดโอกาสให้เกิด Narrative แบบใหม่ขึ้นมาแทนแล้วนั่นเอง

ผมเคยตั้งคำถามในเรื่องพวกนี้มานานแล้ว เหตุที่คนส่วนใหญ่ในปัจจุบันไม่นิยมการอ่านกันแล้วนั้น มันเป็นเพราะพวกเขาเอง ที่ไม่รักการอ่านกันจริงๆ หรือมันเป็นเพราะบรรยากาศแวดล้อมในการอ่าน วิธีที่พวกเขาได้อ่าน และตัวเนื้อหาที่ไม่ได้จูงใจให้เกิดการอ่านอย่างมากพอกันแน่?

image

กระบวนทัศน์แห่งการกระจายศูนย์

ผมคิดว่า “การกระจายศูนย์” (Decentralized) นั้นเป็นมากกว่าแค่คำศัพท์เท่ๆ ทางเทคโนโลยี มันมีพลังมากพอที่จะเปลี่ยนกระบวนทัศน์ มันกำลังท้าทายสถาปัตยกรรมแห่งอำนาจและการควบคุมที่ระบบรวมศูนย์ได้เคยสร้างไว้ แพลตฟอร์มที่มีการกระจายศูนย์อย่าง Nostr จะไม่มียามเฝ้าประตู ไม่มีอัลกอริธึมมาคอยบิดเบือนฟีดของคุณ ไม่มีการเก็บเกี่ยวเอาข้อมูลของผู้ใช้เพื่อไปค้าประโยชน์ มันเป็นการหวนคืนสู่คำมั่นสัญญาและเจตจำนงค์ดั้งเดิมของระบบอินเตอร์เน็ต ซึ่งก็คือ “พื้นที่เสรีและเปิดกว้างสำหรับทุกคน” (A Free and Open space for all)

ขณะที่ผมกำลังเจาะลึกกับกรณีศึกษานี้ ผมถูกบังคับให้ต้องเผชิญกับคำถามที่น่าสนใจอยู่หลายประเด็น มนุษย์จะปรับตัวและปรับพฤติกรรมกันอย่างไรเมื่อข้อจำกัดอย่างการรวมศูนย์ถูกยกออกไปแล้ว? ความต้องการของตลาดจะเป็นอย่างไรเมื่อไม่ได้มีการกำหนดรูปแบบและโดนควบคุมโดยอัลกอริธึม?

และที่สำคัญที่สุด สิ่งเหล่านี้กำลังจะบอกอะไรเราเกี่ยวกับธรรมชาติของการกระจายศูนย์ มันเป็นความเสรีอันยุ่งเหยิง (A chaotic free-for-all) สำหรับทุกคนอย่างที่พวกนักวิจารณ์ได้กล่าวอ้าง หรือ มันจะเป็นรูปแบบของการสร้างชุมชนที่เป็นธรรมชาติและน่าเชื่อถือได้มากกว่ากันแน่?

เมื่อสำรวจคำตอบให้กับคำถามเหล่านี้ เรากำลังมุ่งหวังที่จะไขความกระจ่างเกี่ยวกับศักยภาพในการนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง (Transformative potential) ของแพลตฟอร์มกระจายศูนย์อย่าง Nostr โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายในชุมชนที่เคยถูกประเมินคุณค่าเอาไว้ต่ำเกินไปจากตัวชี้วัดอันงี่เง่าและทัศนคติในแบบเดิมๆ เมื่อเราเริ่มได้คำตอบทั้งหมดนี้ เราจะพบว่าในบางครั้ง การปฏิวัติที่ลึกซึ้งที่สุด ก็คือ การปฏิวัติที่เกิดขึ้นกันอย่างเงียบๆ ในสถานที่ที่ไม่ได้มีใครเคยคาดคิด

image

ความท้าทายในการทำลายนิสัยเดิมๆ

ความท้าทายในการทำลายนิสัยเดิมๆ ที่เป็นอุปสรรคทั้งทางจิตวิทยาและทางเทคนิค ลองจินตนาการว่าเรากำลังยืนอยู่ตรงสี่แยกของเมืองที่ค่อนข้างพลุกพล่าน ที่ซึ่งทุกเส้นทางถูกจัดวางเอาไว้อย่างพิถีพิถันด้วยอัลกอริธึม คุณมักจะถูกบอกอยู่เสมอว่าควรเดินไปทางไหน คุณควรจะชอบอะไร และกระทั่งว่าคุณควรจะปรารถนาสิ่งใด

ทันใดนั้นเอง คุณก็พบว่าตัวเองดันมาอยู่กลางทุ่งโล่งๆ มันไม่มีป้ายบอกทาง ไม่มีแผนที่ และไม่มีอัลกอริธึมใดๆ มาคอยชี้แนะ คุณรู้สึกเหมือนถูกปลดปล่อยแต่ก็คงสับสนอยู่บ้างเช่นกัน

นี่คือภาวะที่คงจะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกที่ผู้ใช้งาน Nostr หลายคนต้องเผชิญในช่วงแรก เมื่อพวกเขาต้องเปลี่ยนจากแพลตฟอร์มแบบรวมศูนย์ไปเป็น “โอเอซิสแบบกระจายศูนย์” อย่างเช่น Nostr

สถานการณ์เช่นนี้คล้ายคลึงกับยุคแรก ๆ ของ Bitcoin เป็นอย่างมาก โลกการเงินเป็นเหมือนสวนที่มีกำแพงล้อมรอบมาเป็นเวลานาน จนแนวคิดเรื่องการกระจายศูนย์ของสกุลเงินดูเหมือนเกือบจะเป็นอนาธิปไตย (Anarchism = สังคม ที่เชื่อว่าไม่ควรมีรัฐบาล หรืออาจใช้ในการหมายถึงสังคมหรือคนกลุ่มหนึ่ง ที่ปฏิเสธการจัดลำดับชั้นทางสังคม (hierarchy) โดยสิ้นเชิง)

ผู้คนต่างสงสัยว่า “มันจะทำงานได้อย่างไรถ้าไม่มีหน่วยงานกลาง มันไม่เสี่ยงไปหรอกเหรอ?”

แต่สิ่งที่พวกเขาจะไม่สามารถเข้าใจได้ในทันที ก็คือ ความเสี่ยงนั่นแหละที่เป็นประเด็นสำคัญ มันเป็นการเดิมพันที่ถูกคำนวณเอาไว้แล้วว่า.. เมื่อได้รับอิสระในการเลือกแล้ว แต่ละบุคคลก็จะเลือกระบบที่เคารพในความเป็นอิสระของตนเอง

ในทำนองเดียวกัน Nostr ก็นำเสนอแพลตฟอร์มที่เบี่ยงเบนไปจากบรรทัดฐาน (Norm) อย่างสิ้นเชิง มันไม่เพียงแค่ได้เสนอทางเลือกให้กับเราเท่านั้น มันยังมีความท้าทายทางปรัชญา โดยได้ขอให้ผู้ใช้ต้องพิจารณากันอีกครั้งถึงสิ่งที่พวกเขาถูกกำหนดเงื่อนไขให้ยอมรับ

เราจำเป็นต้องมีอัลกอริธึมเพื่อบอกเราว่าอะไรสำคัญกับเราจริงๆ ไหม? เราต้องการยามเฝ้าประตูเพื่อบอกเราว่าอะไรจะเป็นที่ยอมรับได้ จริงไหม?

มันเป็นการเรียกร้องให้เรามีอาวุธทางปัญญา เพื่อกระตุ้นให้ผู้ใช้เรียกคืนสิทธิทางดิจิทัลของตนเอง

แต่เราก็ต้องไม่พยายามจะโรแมนติกกับการต่อสู้กันมากเกินไป อิสรภาพที่ปราศจากคำแนะนำนั้นอาจจะกลายเป็นดาบสองคมได้เช่นกัน มันคล้ายกับแนวคิดของ อดัม สมิธ เรื่อง “มือที่มองไม่เห็น” ภายในตลาด (Invisible hand) แม้จะมีคำมั่นสัญญาว่าจะช่วยผลักดันเศรษฐกิจไปสู่ความสมดุลให้ได้ แต่ก็ไม่ได้สัญญาว่าจะทำให้การเดินทางนั้นง่ายหรือสะดวกสบายแต่อย่างใด มือที่มองไม่เห็นอาจไม่ใช่การลูบหลังอย่างการปลอบโยน แต่มันอาจเป็นการสะกิด การผลักดัน บางครั้งก็เป็นการผลักให้หัวทิ่มกันไปเลยทีเดียว

แล้วคุณจะโน้มน้าวผู้คนให้ก้าวเข้าสู่ดินแดนที่ไม่เคยมีใครรู้จักนี้ได้อย่างไร?

คำตอบอาจอยู่ที่การสร้างชุมชน (Community) ที่แข็งแกร่ง เมื่อบุคคลเห็นผู้อื่นกำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดด แบ่งปันเนื้อหาที่มีคุณค่า และต่างก็มีส่วนร่วมในการสนทนาที่เปี่ยมไปด้วยความหมาย แพลตฟอร์มแบบกระจายศูนย์จะเริ่มดำเนินชีวิตด้วยตัวมันเอง มันกลายเป็นข้อพิสูจน์ที่มีชีวิตถึงพลังแห่งทางเลือกโดยรวม ซึ่งปราศจากการบงการจากผู้มีอำนาจส่วนกลางใดๆ

โดยพื้นฐานแล้ว.. ความท้าทายในการทำลายนิสัยเดิมๆ ไม่ใช่เพียงแค่มีอุปสรรคทางด้านเทคนิคเท่านั้น มันเป็นคล้ายการปฏิวัติทางวัฒนธรรม เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเปลี่ยนจากวัฒนธรรมฝังรากลึกของการบริโภค มาสู่การมีส่วนร่วมกันอย่างแข็งขัน และในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ เราพบคุณค่าที่แท้จริงของแพลตฟอร์มที่มีการกระจายศูนย์ ไม่ใช่แค่ในเรื่องเสรีภาพที่ตัวแพลตฟอร์มได้มอบให้เท่านั้น แต่ยังรวมถึงชุมชนที่แพลตฟอร์มจะให้การรองรับด้วย

คุณเห็นด้วยหรือไม่.. ว่าความท้าทายดังกล่าวนั้น มีความเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงทางกรอบความคิด (Mindset) พอๆ กับที่มันเกี่ยวข้องกับการนำเอาทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้กันเลยล่ะ

image

จุดเปลี่ยนที่คาดไม่ถึง

วันนี้ผมสัมผัสได้ถึงจุดเปลี่ยนที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อน เนื้อหายาวๆ บน Nostr หรือ Long-form content ได้ปรากฏขึ้นถี่ยิกในชุมชนของชาวไทย Siamstr มันเป็นการพัฒนาที่ให้ความรู้สึกเกือบจะเหมือนเป็นเทพนิยายเลยใช่ไหม?

ในโลกดิจิทัลที่ความกะทัดรัดมักถูกเข้าใจผิดว่าเป็นความมีไหวพริบอันชาญฉลาด และในบริบทของโลกที่ถูกอัลกอริธึมจัดลำดับความสำคัญของความรู้สึกมากกว่าสาระสำคัญเนื้อหา ผู้ใช้ชาวไทยบน Nostr เลือกให้ความสำคัญกับความลึกซึ้งมากกว่าความตื้นเขิน ราวกับว่า.. การไม่มีข้อจำกัดของอัลกอริธึมและการหยุดชะงักของโฆษณานั้น ทำหน้าที่เป็นดั่งตัวเร่งที่ผลักดันให้เกิดการแสดงออกที่แท้จริงของมนุษย์

เป็นไปได้ไหมว่า.. เมื่อสัญญาณรบกวนทางดิจิทัลถูกกำจัดออกไปจนสิ้นแล้ว ความปรารถนาโดยธรรมชาติที่ยังคงอยู่ของคนเรา คือ การสนทนาที่มีความหมายอันลึกซึ้ง?

นี่เป็นคำถามที่นำเรากลับไปสู่ “คาเฟ่แห่งการตื่นรู้” (Coffeehouses of the Enlightenment) ที่ซึ่งมีการแลกเปลี่ยนความคิดละอภิปรายกันได้อย่างเสรี โดยปราศจากการกรองบรรทัดฐานทางสังคมหรือการกำกับดูแลของรัฐบาล ซึ่งในบรรยากาศเหล่านั้น ผู้คนไม่ได้เพียงแค่พูดหรือแสดงออกกันเท่านั้น แต่พวกเขาคุยกัน และพวกเขาไม่เพียงแค่แบ่งปันข้อมูลกันเท่านั้น แต่พวกเขาแบ่งปันภูมิปัญญาให้แก่กัน

คาเฟ่ในยุคศตวรรษที่สว่างไสว (Coffeehouses during the Enlightenment) หมายถึง บทบาทสำคัญของคาเฟ่ในอังกฤษในช่วงศตวรรษที่ 17 และ 18 คาเฟ่เป็นสถานที่สาธารณะที่ผู้ชาย (ไม่รวมผู้หญิง) ไม่จำกัดผู้ใช้บริการตามชั้นสังคม แต่เปิดกว้างให้ทุกคนจากหลายชั้นสังคม เข้ามาแลกเปลี่ยนและอภิปรายกันได้อย่างอิสระ โดยใช้หลักการคิดอย่างมีเหตุผล

ปรากฏการณ์นี้ดูเหมือนจะสะท้อนแนวคิดตาม “กฎธรรมชาติ” (Natural law) ของ อดัม สมิธ โดยกล่าวถึงบุคคลซึ่งกระทำการเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง จนมีส่วนทำให้เกิดความดีหรือเกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมโดยไม่ได้ตั้งใจ เป็นหลักการที่เป็นจริงในทางเศรษฐศาสตร์พอๆ กับสิ่งที่เกิดขึ้นในปฏิสัมพันธ์ทางสังคม

เมื่อผู้คนมีอิสระในการเลือกวิธีที่ตนเองจะแสดงออก โดยไม่มีข้อจำกัดเทียมๆ ของอัลกอริธึมหรือความคาดหวังทางสังคม พวกเขามักจะเลือกสิ่งที่มีความหมายที่สุดสำหรับพวกเขาเอง และสิ่งที่มีความหมายต่อคนๆ หนึ่งก็สามารถมีความหมายสำหรับหลายๆ คนได้ โดยสร้างแรงกระเพื่อมของผลกระทบแห่งคุณค่าไปยังส่วนรวม

ดังนั้นการเริ่มค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปสู่ Long-form content นี้ อาจเป็นวิธีการเปิดเผยความต้องการที่แท้จริงของตลาดได้หรือไม่?

ผมอยากจะชวนให้คิด ลองจินตนาการถึง “ตลาดดิจิทัลแห่งความคิด” ที่ไม่มีภาระผูกพันจากอคติของพวกอัลกอริธึม โดยที่สกุลเงินในที่นี้คือความถูกต้อง และตัวสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ ก็คือ การเชื่อมโยงของมนุษย์ที่มีคุณค่า มันเป็นตลาดที่ไม่ได้ถูกชี้นำด้วยมือที่มองไม่เห็นของพวกอัลกอริธึม แต่ถูกชี้ทางโดยหัวใจและความคิดที่มองเห็นได้อย่างชัดเจนของเหล่าผู้เข้าร่วม

ด้วยเหตุนี้.. การเพิ่มขึ้นของบทความหรือโน๊ตแบบยาวๆ บน Nostr ในคอมมูนิตี้ Siamstr จึงไม่ใช่แค่เทรนด์เพียงเท่านั้น..

มันเป็นข้อพิสูจน์ให้เห็นถึงความยืดหยุ่นในการเชื่อมโยงของมนุษย์ในยุคดิจิทัลอย่างแท้จริง เป็นข้อพิสูจน์ว่าเมื่อเราได้รับพื้นที่ในการหายใจ คิด และมีส่วนร่วม ผู้คนจะมุ่งไปสู่สิ่งที่เป็นจริงและสิ่งที่มีความหมายเองโดยธรรมชาติ

และการกระทำเช่นนั้นไม่ใช่หรือ.. ที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติอย่างที่สุดของมนุษย์? เพื่อแสวงหาการเชื่อมต่อที่เหนือกว่าแค่ความสัมพันธ์อย่างผิวเผิน เพื่อโหยหาการสนทนาที่จะคอยหล่อเลี้ยงจิตวิญญาณ?

มันเป็นสิ่งเตือนใจว่าภายใต้ความซับซ้อนทางเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงของตลาดนั้น ยังคงมีบางอย่างที่เรายึดเหนี่ยวเอาไว้ร่วมกัน นั่นคือความจริงอันเรียบง่ายและยั่งยืนของมนุษยชาติ

image

ทฤษฎีคุณค่าเชิงอัตวิสัยของเศรษฐศาสตร์สำนักออสเตรียน (Subjective theory of value)

มันคือหลักการที่ตัวมันเองให้ความรู้สึกเกือบจะเหมือนกับกฏธรรมชาติเลยใช่ไหม? ตามมุมมองของเศรษฐศาสตร์สำนักออสเตรียน “มูลค่า” (Value) นั้นไม่ใช่คุณภาพที่แท้จริงของสินค้าหรือบริการ แต่มันถูกกำหนดโดยบุคคลตามความชอบ ตามความต้องการ และสถานการณ์ส่วนบุคคล เป็นทฤษฎีที่ไม่เพียงแต่นำไปใช้กับสินค้าโภคภัณฑ์ได้เท่านั้น มันยังเอาไปใช้ได้กับทั้งความคิด การแสดงออก และแน่นอนว่า.. มันใช้ได้กับ “โครงสร้างของปฏิสัมพันธ์ทางดิจิทัล” ของเราด้วย

ในบริบทของ Nostr ทฤษฎีนี้ดำเนินชีวิตได้ด้วยตัวมันเอง ณ ที่แห่งนี้ ในพื้นที่ที่มีการกระจายศูนย์ซึ่งปราศจากการบีบบังคับของพวกอัลกอริธึม การประเมินมูลค่าเชิงอัตวิสัยของผู้ใช้งานแต่ละคนจะรวมตัวกันกลายเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าผลรวมของส่วนต่างๆ ราวกับว่าแต่ละคนนั้นล้วนกระทำการเพื่อประโยชน์ของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นความปรารถนาที่จะเข้าใจบางอย่างให้ลึกซึ้งมากขึ้น ความต้องการที่จะเชื่อมโยงถึงกันอย่างแท้จริง หรือแค่เพียงความสุขอันเรียบง่ายในการได้แสดงออกอย่างไม่มีอุปสรรค สิ่งเหล่านี้ล้วนมีส่วนทำให้เกิดผลลัพธ์โดยรวมที่ไม่มีใครคาดเดาได้ แต่ทุกคนล้วนเข้าใจโดยเนื้อแท้

มันเป็นเรื่องน่าทึ่งมิใช่หรือ? ที่สิ่งนี้ได้สะท้อนให้เราเห็นถึง “แก่นแท้ของตลาดเสรี” ตามที่เศรษฐศาสตร์ออสเตรียนได้จินตนาการไว้ในตลาดเสรีอย่างแท้จริง ปราศจากการบิดเบือนจากภายนอก

ผลลัพธ์โดยรวมนั้นเป็นเพียงการรวมตัวเลือกของแต่ละบุคคลเข้าด้วยกันตามธรรมชาติ ความชอบของแต่ละคนต่อเนื้อหายาวๆ บน Nostr ไม่เพียงแต่มีส่วนช่วยให้ตนเองบรรลุผลสำเร็จเท่านั้น มันมีส่วนทำให้เกิดบรรทัดฐานทางวัฒนธรรมใหม่ขึ้นภายในแพลตฟอร์ม มันเป็นบรรทัดฐานที่ไม่ได้กำหนดเอาไว้ แต่มันเกิดขึ้น เป็น Norm ที่ไม่ได้มีการวางแผนเอาไว้ล่วงหน้า แต่มีการพัฒนาขึ้นมาเอง

สิ่งนี้บอกอะไรเราเกี่ยวกับพลังของการกระจายศูนย์?

มันแสดงให้เราเห็นว่า.. เมื่อบุคคลมีอิสระในการแสดงคุณค่าส่วนตัวของตนเอง โดยปราศจากการบิดเบือนของอัลกอริธึมแบบรวมศูนย์ หรือแรงกดดันทางสังคม สิ่งที่เกิดขึ้นคือ.. ตลาดที่ไม่เพียงแต่เป็นอิสระแต่มีความเป็นมนุษย์แฝงอยู่อย่างลึกซึ้ง เป็นตลาดที่มูลค่าไม่ได้วัดกันแค่จำนวนคลิกหรือความชอบเพียงเท่านั้น แต่ยังวัดกันในห้วงเชิงลึกของการสนทนา ความสมบูรณ์ของแนวคิด และความน่าเชื่อถือของความสัมพันธ์ของมนุษย์

ดังนั้น.. เป็นไปได้ไหมว่า..ทฤษฎีคุณค่าเชิงอัตวิสัย ไม่ได้เป็นเพียงหลักการทางเศรษฐศาสตร์ แต่เป็นหลักการทางปรัชญาที่สัมผัสถึงแก่นแท้ของการดำรงอยู่ของมนุษย์?

เป็นคำถามที่อยู่เหนือเศรษฐศาสตร์และเจาะลึกถึงขอบเขตของจริยธรรม ว่าการเป็นมนุษย์ในยุคดิจิทัลมีความหมายเป็นอย่างไร และเป็นคำถามที่ชุมชน Nostr ซึ่งกำลังอ้าแขนรับเนื้อหาแบบยาวๆ ดูเหมือนจะให้คำตอบในแบบที่เป็นมนุษย์มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ผ่านการเลือกความลุ่มลึกมากกว่าแค่ความรอบด้าน เลือกความหมายเหนือสิ่งไร้สาระ (Noise) และเลือกเอาความน่าเชื่อถือมากกว่าความลวงหลอก

image

ความขัดแย้งแห่งเสรีภาพ

การนำทางแห่งเสรีภาพส่วนบุคคลและความรับผิดชอบร่วมกันในชุมชนที่มีการกระจายศูนย์

เมื่อเราเห็นการเคลื่อนไหวโดยรวมในคอมมูนิตี้ที่เริ่มเดินไปสู่เนื้อหารูปแบบยาวๆ บนแพลตฟอร์มอย่าง Nostr มันเป็นเรื่องน่าดึงดูดที่จะติดป้ายกำกับเอาไว้ว่านี่แหละเป็นสัญลักษณ์ของ “ชุมชนที่รู้แจ้ง”

แต่สิ่งนี้ถือเป็นการรู้แจ้งหรือเป็นเพียงกระแสนิยม?

ความแตกต่างระหว่างทั้งสองสิ่งนี้ไม่ได้มีแค่ในด้านความหมายเพียงเท่านั้น แต่มันเป็นเรื่องพื้นฐานด้วย “การรู้แจ้ง” หมายถึง การเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน การเปลี่ยนแปลงในจิตสำนึกที่ก้าวข้ามความมุ่งหวังของแฟชั่นไปแล้ว ในทางกลับกัน “กระแสนิยม” มักมีแนวโน้มจะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว ขึ้นอยู่กับกระแสความสนใจของส่วนรวมที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดเวลา

แล้วคำตอบควรเป็นอะไรล่ะ?

คำตอบสำหรับคำถามนั้นอาจจะอยู่ในคำถามอื่นๆ ต่อไปอีก ธรรมชาติของเสรีภาพที่แพลตฟอร์มแบบกระจายอำนาจนำเสนอนั้นคืออะไร? มันเป็นเสรีภาพที่นำไปสู่ปฏิสัมพันธ์ที่มีความหมายและจริงแท้ หรือมันเป็นเสรีภาพแบบอนาธิปไตย อิสรภาพที่สมบูรณ์จนเสี่ยงที่จะไปสู่ความสับสนวุ่นวาย?

ลองไตร่ตรองเรื่องนี้ผ่านมุมมองของเศรษฐศาสตร์สำนักออสเตรียนและกฎธรรมชาติของ อดัม สมิธ

ภายใต้ตลาดเสรีอย่างแท้จริง อย่างที่เศรษฐศาสตร์ออสเตรียนพึงมีนั้น.. “ผลลัพธ์โดยรวม” (Collective outcome) คือ ผลรวมของตัวเลือกของแต่ละบุคคล ซึ่งแต่ละอย่างนั้นทำขึ้นเพื่อแสวงหาคุณค่าเชิงอัตวิสัย และตามกฎธรรมชาติของสมิธ บุคคลที่กระทำการโดยคำนึงถึงประโยชน์ส่วนตนมักมีส่วนทำให้เกิดประโยชน์ส่วนรวม

ผมคิดว่าหลายคนอ่านย่อหน้านี้แล้วอาจทำความเข้าใจได้ยากไปสักนิด เอาเป็นว่าผมจะลองอธิบายหลักการให้เข้าใจได้ง่ายมากขึ้นอีกสักหน่อย..

ลองนึกภาพว่าคุณกำลังเลื่อนดูฟีดบน Facbook คุณเห็นโพสต์ต่างๆ ปะปนกันไป บางส่วนก็มาจากเพื่อน บางส่วนมาจากเพจที่คุณติดตาม และบางส่วนเป็นโฆษณาที่ได้รับการสนับสนุน (หรือยัดเยียดให้นั่นแหละ) อัลกอริธึมจะเป็นผู้คอยตัดสินสิ่งที่คุณจะได้เห็น โดยพิจารณาจากสิ่งที่คิดว่าจะทำให้คุณมีส่วนร่วมกับแพลตฟอร์มของมันได้นานที่สุด

เอาล่ะคราวนี้เรามาลองเปลี่ยนฉากเป็น Nostr กันดูบ้าง.. ที่นี่ไม่มีอัลกอริธึมที่จะคอยทำหน้าที่กำหนดฟีดของคุณ คุณเห็นโพสต์ตามลำดับเวลาจากคนที่คุณเลือกติดตาม และไม่มีโฆษณารบกวนการเลื่อนฟีดของคุณแม้แต่นิดเดียว (ยกเว้นพวกแสปมน่ารำคาญก็พอมีอยู่บ้าง)

ในกรณีของ Facebook อัลกอริธึมจะเป็นเหมือนตัวควบคุมตลาด ที่คอยนำทางคุณไปสู่สิ่งที่คิดว่าคุณควรเห็นหรือควรซื้อมัน มันเหมือนกับ “ธนาคารกลาง” ที่กำหนดอัตราดอกเบี้ยโดยคิดว่ามันรู้ดีที่สุด

แต่สำหรับ Nostr คุณคือ “ผู้ควบคุม” ของคุณเอง (You’re your own algorithm) คุณเป็นผู้ตัดสินใจว่าเนื้อหาใดจะมีคุณค่าต่อตัวคุณ เช่นเดียวกับที่คุณจะตัดสินใจว่าจะซื้ออะไรในตลาดเสรี นี่เป็นการประยุกต์ใช้ความเข้าใจในทฤษฎีคุณค่าเชิงอัตวิสัย (Subjective value) ของสำนักออสเตรียนโดยตรง สิ่งที่คุณเลือกที่จะมีส่วนร่วมใน Nostr จะสะท้อนถึงสิ่งที่คุณเห็นว่ามีคุณค่าในเชิง Subjective

คราวนี้.. เราจะนำ “กฎธรรมชาติ” ของ อดัม สมิธ มาใช้บ้าง.. สมมติว่าคุณพบบทความยาวๆ ใน Nostr ที่โดนใจคุณอย่างลึกซึ้ง และคุณตัดสินใจที่จะแบ่งปันมัน แต่คุณไม่ได้แชร์ (รีโพสต์) เพราะอัลกอริธึมบอกให้คุณทำ คุณแบ่งปันมันเพราะมันมีความหมายบางอย่างกับตัวคุณเอง

และเมื่อคนอื่นเห็นการรีโพสต์ของคุณและพบคุณค่าในโพสต์นั้น พวกเขาก็แชร์โพสต์นั้นด้วยเช่นกัน การกระทำส่วนบุคคลของคุณซึ่งขับเคลื่อนโดยผลประโยชน์ส่วนตน (ซึ่งก็คือความปรารถนาที่จะแบ่งปันสิ่งที่มีความหมายต่อคุณไปให้คนอื่นๆ) ลงเอยด้วยการมีส่วนทำให้เกิดเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม (เผยแพร่เนื้อหาที่มีคุณค่า)

แต่จะเกิดอะไรขึ้นหากทุกคนไม่ได้กระทำการอย่างมีเหตุผลหรือในลักษณะที่เอื้อประโยชน์ต่อส่วนรวม?

จะเกิดอะไรขึ้นถ้ามีคนเริ่มเผยแพร่ข้อมูลเท็จหรือเนื้อหาที่เป็นอันตราย?

นั่นจะเป็นภาวะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกทางศีลธรรมและปรัชญาที่เราต้องเผชิญ ในพื้นที่แห่งอิสรภาพที่สมบูรณ์แบบ เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าการกระทำของแต่ละคนจะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์ร่วมกันจริงๆ?

พูดง่ายๆ ก็คือ แม้ว่า Facebook จะเหมือนกับทัวร์พร้อมไกด์ ที่คุณจะได้เห็นสิ่งที่คุณ ‘ควร’ เห็น ..แต่ Nostr ก็เหมือนกับการได้เดินอย่างอิสระในสวนสาธารณะ และค้นพบสิ่งต่าง ๆ ด้วยตัวของคุณเอง ทั้งสองมีข้อดีและข้อเสีย แต่อย่างหลังให้อิสระที่มาพร้อมกับความท้าทายและความรับผิดชอบของตัวเอง

Nostr เป็นดังสนามเด็กเล่นสำหรับพฤติกรรมของมนุษย์ทั้งที่ดีและแย่ที่สุด และนั่นแหละคือความงดงามอันซับซ้อนของ Nostr

เอาล่ะ.. คราวนี้เราจะไปกันต่อ..

ทั้งสองทฤษฎีนี้ ดำเนินการภายใต้สมมติฐานของผลประโยชน์ของตนเองอย่างมีเหตุผล พวกเขาสันนิษฐานว่า.. เมื่อปล่อยบุคคลทิ้งไว้ให้อยู่กับอุปกรณ์ต่างๆ ของตนเอง บุคคลจะกระทำการในลักษณะที่ไม่เพียงแต่เป็นประโยชน์ต่อพวกเขาเองเท่านั้น แต่จะยังเป็นประโยชน์ต่อชุมชนทางอ้อมด้วย

สมมติฐานนั้นใช้ได้ในบริบทของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่มีการกระจายศูนย์ด้วยหรือไม่?

หากการมุ่งไปสู่เนื้อหายาวๆ เป็นการแสดงให้เห็นถึงผลประโยชน์ของตนเองอย่างมีเหตุผล บางทีเราอาจพิจารณาได้ว่า.. นี่เป็นสัญญาณของ “ชุมชนผู้รู้แจ้ง” ซึ่งเป็นชุมชนที่จะปฏิบัติตามค่านิยมที่แท้จริง ปราศจากการบิดเบือนจากภายนอก

แต่หากเป็นเพียงกระแส ที่จะไม่ยั่งยืนและเปลี่ยนแปลงไปในอนาคต เป็นผลประโยชน์ส่วนรวมชั่วขณะโดยไม่มีคุณค่าที่ลึกซึ้ง ความยั่งยืนของแพลตฟอร์มดังกล่าวก็จะกลายไปเป็นคำถาม ท้ายที่สุดแล้ว.. ชุมชนที่สร้างขึ้นตามกระแส ก็เหมือนกับ “บ้านที่สร้างบนทราย” ซึ่งถูกกำหนดให้ต้องพังทลายลง เมื่อกระแสน้ำเกิดความเปลี่ยนแปลง

ดังนั้น.. เราจึงพบว่าตัวเองอยู่บนทางแยกทางศีลธรรมและปรัชญา อิสรภาพที่นำเสนอโดยแพลตฟอร์มแบบกระจายศูนย์อย่าง Nostr นั้น เป็นทั้งจุดแข็งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดและเป็นความท้าทายที่สำคัญที่สุด เป็นอิสรภาพที่เปิดโอกาสให้มีปฏิสัมพันธ์ที่แท้จริงและเปี่ยมไปด้วยความหมาย แต่ก็เป็นอิสรภาพที่เสี่ยงต่อความวุ่นวาย ของชุมชนที่ไม่ถูกผูกมัดจากค่านิยมหรือบรรทัดฐานที่มีร่วมกัน

ท้ายที่สุดแล้ว.. บางทีคำถามเร่งด่วนที่สุดอาจไม่ใช่ว่าการก้าวไปสู่เนื้อหายาวๆ นั้นเป็นสัญญาณของการรู้แจ้งหรือกระแสนิยมกันแน่.. แต่อาจเป็นคำถามที่ว่า..

ชุมชนจะสามารถดำรงตนได้ด้วยเสรีภาพเพียงอย่างเดียวได้หรือไม่?

อิสรภาพในรูปแบบที่บริสุทธิ์ที่สุด สามารถก่อให้เกิดชุมชนที่ไม่เพียงแต่เป็นอิสระ แต่ยังมีความรับผิดชอบ ไม่ใช่แค่ความเป็นปัจเจกชนเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงความเป็นชุมชนด้วย เป็นคำถามที่ท้าทายความเข้าใจของเราในเรื่องเสรีภาพ โดยผลักดันให้เราพิจารณาว่า

เสรีภาพที่แท้จริงจะเป็นไปได้หรือไม่ หากปราศจากความรับผิดชอบร่วมกันในบางรูปแบบ?

image

ผลกระทบแบบระลอกคลื่น

ทางเลือกส่วนบุคคล และการเปลี่ยนแปลงโดยรวม

ประสบการณ์นั้นคล้ายกับการเพาะเมล็ดพืชในสวน ในตอนแรก มีเพียงคุณเท่านั้นที่คอยดูแลต้นกล้าเล็กๆ ในมุมเล็กๆ ของคุณเองบนโลกดิจิทัล คุณไม่แน่ใจว่ามันจะเติบโตหรือจะได้รับผลตอบรับอะไรจากชุมชน

เช่นเดียวกับการที่คุณกำลังดำเนินการเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง โดยแสวงหาการเติบโตและความพึงพอใจส่วนบุคคลผ่านการเขียนที่มีเนื้อหายาวๆ แต่แล้วก็มีบางสิ่งที่มหัศจรรย์เกิดขึ้น ต้นกล้าของคุณเริ่มเติบโตและดึงดูดความสนใจของผู้อื่น พวกเขาเห็นคุณค่าในสิ่งที่คุณทำและตัดสินใจพากันปลูกเมล็ดพันธุ์ของตนเอง

ลองนึกภาพคุณคุ้นเคยกับการโพสต์อัปเดตสั้นๆ ไวไว บน Twitter ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่ออกแบบมาเพื่อความกระชับในการสื่อสาร

วันหนึ่ง.. คุณตัดสินใจเปลี่ยนมาใช้ Nostr และโพสต์เรียงความที่ยาวมากอย่างรอบคอบ มันนับว่าเป็นความเสี่ยง

คุณ (ผม) ไม่แน่ใจว่าจะมีใครยอมสละเวลาในการอ่านมันหรือไม่ แต่คุณก็โพสต์มันต่อไปเพราะมันมีความหมายสำคัญกับคุณ

จากนั้น.. คุณเริ่มสังเกตเห็นว่าผู้คนไม่เพียงแต่อ่านเรียงความยาวๆ ของคุณเท่านั้น แต่ยังเริ่มโพสต์เนื้อหาแบบยาวๆ ของตนเองกันด้วย

การกระทำส่วนบุคคลของคุณซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากความปรารถนาในการแสดงออกที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ได้ก่อให้เกิดปฏิกิริยาแบบลูกโซ่ มันเหมือนกับว่าคุณได้แนะนำ “ผลิตภัณฑ์” ใหม่เข้าสู่ “ตลาด” และปรากฎว่ามีความต้องการผลิตภัณฑ์นั้นจริงๆ

ทางเลือกของคุณในการโพสต์เนื้อหายาวๆ ซึ่งขับเคลื่อนโดยคุณค่าและความสนใจส่วนตัวของคุณ มีส่วนทำให้เกิดกระแสของชุมชนในวงกว้างขึ้น มันเหมือนกับว่า.. คุณได้เปิดร้านกาแฟรูปแบบใหม่ในเมืองที่เต็มไปด้วยร้านอาหารฟาสต์ฟู้ด

ในตอนแรก.. ผู้คนมักไม่ค่อยเชื่อ แต่แล้วพวกเขาก็ลองดื่มกาแฟสูตรพิเศษของคุณ และพบว่าพวกเขาชอบดื่มมันมากกว่าอาหารจานด่วน ในไม่ช้าร้านกาแฟอื่นๆ ก็เปิดขึ้นและนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่คล้ายกัน ตลาด—ชุมชนของเราในกรณีนี้—ได้เปลี่ยนแปลงไปตามธรรมชาติเพื่อตอบสนองต่อทางเลือกของแต่ละบุคคล

แต่นี่คือที่มาของคำถามเชิงปรัชญา.. แนวโน้มของเนื้อหารูปแบบยาวนี้ถือเป็นสัญญาณของการรู้แจ้งร่วมกันหรือเป็นแค่เพียงแฟชั่นเท่านั้น?

หากเป็นแฟชั่น.. จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อมีวัตถุแวววาวชิ้นต่อไปถูกแนะนำเข้ามา?

ชุมชนจะละทิ้งเนื้อหาแบบยาวๆ ทันทีที่พวกเขายอมรับของเล่นใหม่หรือไม่ และสิ่งนี้บอกอะไรเกี่ยวกับความยั่งยืนและความลึกในการโต้ตอบของพวกเราใน Nostr?

โดยพื้นฐานแล้ว.. แม้ว่าเสรีภาพในการโพสต์สิ่งที่เราต้องการคือการปลดปล่อย แต่ก็ยังแบกความรับผิดชอบทางศีลธรรมไว้บนบ่าของเราด้วย มันทำให้เกิดคำถามตามมา..

ในโลกที่มีการกระจายศูนย์ เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าเสรีภาพของเราจะนำไปสู่การเติบโตของชุมชนที่มีคุณค่าและยั่งยืน แทนที่จะเป็นกระแสที่หายวับไปหรือแม้กระทั่งความสับสนวุ่นวายที่อาจจะเกิดขึ้นตามมา

มันเป็นคำถาม ที่ยังไม่มีคำตอบง่ายๆ ในตอนนี้ แต่เป็นคำถามที่เราต้องใช้เวลาในการค้นหาคำตอบกันต่อไป..

image

The Invisible Hand at Work?

เพื่อให้จับต้องกันได้มากขึ้น ลองพิจารณาตัวอย่างแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียยอดนิยมอย่าง Instagram ลองนึกภาพว่าจู่ๆ Instagram ก็ลบอัลกอริธึม โฆษณา และ “โพสต์แนะนำ” ทั้งหมดออก ทำให้ผู้ใช้สามารถสำรวจเนื้อหาได้อย่างอิสระโดยไม่มีคำแนะนำใดๆ

อะไรจะเกิดขึ้น?

ผู้คนจะยังคงแห่กันไปที่โพสต์ของคนดัง หรือพวกเขาจะเริ่มค้นพบอัญมณี ศิลปิน และนักคิดที่ซ่อนอยู่ ซึ่งก่อนหน้านี้ถูกฝังไว้ภายใต้การตั้งค่าของอัลกอริทึม

ชุมชนจะพัฒนาไปสู่สิ่งที่น่าเชื่อถือมากขึ้น และสอดคล้องกับความต้องการของแต่ละบุคคลมากกว่าอัลกอริธึมที่ขับเคลื่อนด้วยตลาดหรือไม่?

นี่เป็นการทดลองที่ Nostr ได้ดำเนินการไปแล้ว และผลลัพธ์ที่ออกมาก็น่าทึ่งไม่แพ้กัน

มันเหมือนกับการเดินเข้าไปในตลาดสดยามเช้า ซึ่งไม่มีใครมาตะโกนเรียกร้องความสนใจจากคุณ ไม่มีป้ายโฆษณาใดๆ มากำหนดว่าคุณควรซื้ออะไร แต่คุณจะพบกับสิ่งที่คุณไม่รู้ว่ากำลังมองหาอยู่

“มือที่มองไม่เห็น” ที่ อดัม สมิธ พูดถึง จะนำทางพวกเราแต่ละคนไปสู่ทางเลือกที่แม้จะสร้างความพึงพอใจเป็นรายบุคคล แต่ก็ทำให้ชุมชนมั่งคั่งไปด้วยคุณค่าร่วมกันได้

ในโลกที่เราคุ้นเคยกับการถูกบอกว่าชอบอะไร อ่านอะไร และแม้แต่ต้องคิดอย่างไร ชุมชนใน Nostr ถือเป็นข้อพิสูจน์ถึงพลังของการตัดสินใจของแต่ละบุคคลและความงดงามของการเติบโตแบบออร์แกนิก

นี่เป็นตัวอย่างที่มีชีวิตและน่าทึ่งของทฤษฎีคุณค่าเชิงอัตวิสัยของเศรษฐศาสตร์ออสเตรียน โดยที่ความชอบเฉพาะตัวของแต่ละคนมีส่วนทำให้ตลาดมีความหลากหลายพอๆ กับผู้คนในตลาด

ดังนั้น.. ขณะที่เราไตร่ตรองถึงอนาคตของโซเชียลมีเดีย กรณีศึกษาของ Nostr มีทั้งความหวังและความท้าทาย

มันเป็นความหวัง เพราะมันแสดงให้เห็นว่าเมื่อได้รับอิสระในการเลือก ผู้คนสามารถสร้างชุมชนที่สะท้อนประสบการณ์และความคิดที่หลากหลายของมนุษย์ได้

และเป็นความท้าทาย เพราะมันขอให้เราพิจารณาบทบาทของเราในระบบนิเวศดิจิทัลเหล่านี้กันอีกครั้ง ว่าตกลงแล้วเราจะเป็นผู้บริโภคที่ไม่ค่อยโต้ตอบหรือเป็นผู้เข้าร่วมที่มีความกระตือรือร้นภายในชุมชนที่เราเข้ามีส่วนร่วมด้วย?

ในท้ายที่สุด.. ไม่ว่า Nostr จะเป็นกระแสที่เกิดขึ้นเพียงชั่วคราวหรือเป็นลางสังหรณ์ของสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น เรื่องราวของมันคือบทที่น่าสนใจในการเล่าเรื่องของการมีปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์ในยุคดิจิทัล

มันจะคอยทำหน้าที่เป็นกระจกเงา สะท้อนไม่เพียงแค่สิ่งที่เราเป็น แต่ยังสะท้อนถึงสิ่งที่เราจะเป็นได้อีกด้วย และนั่นคือเรื่องราวที่ควรค่าแก่การบอกเล่าในตัวมันเอง

image

ความคิดเห็นส่วนตัว

ในความคิดของผม.. การเพิ่มขึ้นของเนื้อหาแบบยาวๆ ในชุมชน Thai Nostr (Siamstr) ถือเป็นปรากฏการณ์อันน่าทึ่ง ส่วนทางกับเนื้อหายาวๆ ในแพลตฟอร์มดั้งเดิมที่ไม่ค่อยมีคนอยากอ่าน

ซึ่งอาจเกิดจากปัจจัยหลายประการที่ต่างก็เชื่อมโยงถึงกัน หนึ่งในนั้นอาจอิทธิพลของบุคคลสำคัญภายในชุมชน เช่น Jakk Goodday ผู้ชื่นชอบงานเขียนแบบยาวๆ (ก็ผมนี่แหละ)

เมื่อมีคนที่ได้รับความเคารพในชุมชนสร้างกระแสบางอย่าง มักจะทำหน้าที่เป็นตัวเร่งและสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้อื่นอยากทำตาม คล้ายกับศิลปินผู้เป็นที่นับถือในหมู่บ้านที่ตัดสินใจวาดภาพจิตรกรรมฝาผนัง ในไม่ช้าคุณอาจพบหมู่บ้านที่เต็มไปด้วยศิลปินผู้ทะเยอทะยานและกำแพงที่งดงาม

แต่ทำไมจึงต้องมีเฉพาะเนื้อหาแบบยาวที่กลับมาได้รับความสนใจ?

การเขียนแบบยาวช่วยให้มีความคิดที่ลึกซึ้ง และเพิ่มความแตกต่างเล็กๆ น้อยๆ ที่มักจะขาดหายไปในเนื้อหาขนาดพอดีคำเราคุ้นเคย (ที่ขับเคลื่อนโดยอัลกอริธึม)

ในอีกทางหนึ่ง.. มันเป็นการกบฏต่อสภาพที่เป็นอยู่ เหมือนเลือกทำอาหารทานเองที่บ้านในยุคฟาสต์ฟู้ด ต้องใช้เวลาและความพยายามมากกว่า แต่ผลลัพธ์ที่ได้กลับน่าพึงพอใจมากกว่า

กลไกที่เกิดขึ้นที่นี่.. อาจเป็นรูปแบบหนึ่งของการพิสูจน์ทางสังคม หากผมและคนอื่นๆ ทุ่มเทเวลาในการสร้างสรรค์เนื้อหาที่มีความยาวและละเมียดละไม ก็จะเป็นการส่งสัญญาณไปยังชุมชนว่าการแสดงออกในรูปแบบนี้มีคุณค่า

มันเหมือนกับการเห็นแถวยาวที่ร้านอาหาร คุณจะถือว่าอาหารคงต้องดี สิ่งนี้ทำให้เกิดวงจรเชิงบวก โดยที่คุณค่าของเนื้อหาแบบยาวจะได้รับการเสริมความแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง และกระตุ้นให้ผู้คนมีส่วนร่วมกับเนื้อหานั้นมากขึ้น

ยิ่งไปกว่านั้น การไม่มีอัลกอริธึมและโฆษณาใน Nostr ช่วยให้สามารถค้นพบเนื้อหาได้อย่างเป็นธรรมชาติมากขึ้น

นี่เป็นสิ่งสำคัญ.. เพราะในแพลตฟอร์มแบบรวมศูนย์ บทความยาวๆ ของคุณอาจถูกฝังอยู่ใต้กองแฮชแท็กที่กำลังมาแรงและวิดีโอไวรัล

แต่ในสภาพแวดล้อมที่มีการกระจายศูนย์ แต่ละเนื้อหาจะยืนหยัดอยู่บนข้อดีของตัวเอง และผู้คนจะพบมันผ่านการโต้ตอบอย่างแท้จริงมากกว่าข้อเสนอแนะแบบอัลกอริธึม

มันเหมือนกับชมรมหนังสือที่ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันในการเลือกหนังสือเล่มถัดไป แทนที่จะมีคนมากำหนดรายการสำหรับรออ่าน

นี่เป็นรูปแบบหนึ่งของการรู้แจ้งร่วมกันหรือเป็นกระแสที่จะผ่านไป?

บางทีอาจเร็วเกินไปที่จะบอก.. แต่สิ่งที่ชัดเจนก็คือชุมชนชาวไทยบน Nostr ได้เข้าถึงบางสิ่งบางอย่างของมนุษย์อย่างลึกซึ้ง นั่นคือความปรารถนาในการเชื่อมโยงที่มีคุณค่าและการแสดงออกที่แท้จริง ซึ่งอำนวยความสะดวกโดยเสรีภาพที่มีเพียงแพลตฟอร์มแบบกระจายศูนย์เท่านั้นที่จะสามารถให้ได้

และในอิสรภาพนั้น.. เราไม่ได้พบกับความวุ่นวายอย่างที่เคยอาจคาดไว้ แต่เป็นระเบียบรูปแบบใหม่ ซึ่งสร้างขึ้นจากค่านิยมที่มีร่วมกันและการเคารพซึ่งกันและกันของชุมชนที่เรียนรู้ที่จะนำทางบนโลกดิจิทัลร่วมกัน

image

มือที่มองไม่เห็นของ อดัม สมิธ

ทฤษฎี “มือที่มองไม่เห็น” ของอดัม สมิธตั้งข้อสังเกตว่า บุคคลที่แสวงหาประโยชน์ส่วนตนของตนเอง มีส่วนทำให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมโดยรวมโดยไม่ได้ตั้งใจ

ในตลาดเสรี มือที่มองไม่เห็นจะนำทางผู้ผลิตและผู้บริโภคในการตัดสินใจ ซึ่งแม้จะเห็นแก่ตัวโดยธรรมชาติ แต่สุดท้ายกลับเป็นประโยชน์ต่อทุกคน เป็นรากฐานสำคัญของเศรษฐศาสตร์คลาสสิกและเป็นเลนส์ที่น่าสนใจในการมองพฤติกรรมของมนุษย์

ลองจินตนาการถึง “ตลาด” ดิจิทัลที่คึกคัก ซึ่งในตลาดนี้ สกุลเงินไม่ใช่เงิน แต่เป็น “ความสนใจ” (Interests) ในตลาดนี้ คุณมีอินฟลูเอนเซอร์ ผู้ใช้งาน ผู้ลงโฆษณา ซึ่งล้วนแต่แสวงหาผลประโยชน์ของตนเอง อินฟลูเอนเซอร์ต้องการผู้ติดตามมากขึ้น ผู้ใช้ก็แสวงหาความบันเทิงหรือข้อมูล ผู้ลงโฆษณามีเป้าหมายเพื่อเพิ่มยอดขาย

ตอนนี้ สมมติว่าอินฟลูเอนเซอร์เริ่มโพสต์เนื้อหาเกี่ยวกับความตระหนักรู้ด้านสุขภาพจิต ซึ่งเป็นหัวข้อที่เป็นส่วนตัวสำหรับพวกเขาแต่ก็มีความสำคัญต่อสังคมด้วย พวกเขาไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต พวกเขากำลังทำเพื่อดึงดูดความสนใจเป็นหลักและอาจได้รับผู้ติดตามมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบระลอกคลื่นมีความสำคัญ ผู้คนเริ่มพูดถึงสุขภาพจิต แบ่งปันแหล่งข้อมูล แน่นอนว่าอินฟลูเอนเซอร์จะมีผู้ติดตามเพิ่มขึ้น แต่สังคมก็มีบทสนทนาที่เปิดกว้างมากขึ้นเกี่ยวกับสุขภาพจิต

ในสถานการณ์ดังกล่าวนี้ ผู้มีอิทธิพลได้รับคำแนะนำจาก “มือที่มองไม่เห็น” เพื่อช่วยเหลือสังคมไปพร้อมๆ กับการแสวงหาผลประโยชน์ของตนเอง

เช่นเดียวกับในชุมชน Nostr ที่บุคคลที่เลือกเนื้อหาแบบยาวๆ ลงเอยด้วยการเพิ่มคุณค่าให้กับการถูกพูดถึงของตัวแพลตฟอร์ม ทำให้มันกลายเป็นพื้นที่ที่มีความหมายมากยิ่งขึ้นสำหรับทุกคน

มันน่าสนใจใช่ไหมที่ทฤษฎีจากศตวรรษที่ 18 สามารถอธิบายพฤติกรรมในภูมิทัศน์ดิจิทัลแห่งศตวรรษที่ 21 ของเราได้อย่างเหมาะสมขนาดนี้

ราวกับว่า อดัม สมิธ มีกล้องโทรทรรศน์ที่สามารถมองเห็นอนาคตได้ไกลมาก โดยเข้าใจปัจจัยพื้นฐานในการกระทำของมนุษย์ที่คงที่ ไม่ว่าสภาพแวดล้อมจะเป็นอย่างไร..

Author Public Key
npub1mqcwu7muxz3kfvfyfdme47a579t8x0lm3jrjx5yxuf4sknnpe43q7rnz85