เปิดโปงกลวิธีที่ IMF และธนาคารโลก ใช้กดขี่ประเทศยากจน และผ่องถ่ายทรัพยากรสู่ประเทศร่ำรวย (ตอนที่ 02)
2. ส่องไส้ในธนาคารโลกและ IMF
“ขอให้พวกเราอย่าลืมว่าจุดประสงค์หลักของการให้ความช่วยเหลือนั้น ไม่ใช่เพื่อช่วยประเทศอื่น แต่เป็นไปเพื่อช่วยพวกเราเอง”
–Richard Nixon
หมายเหตุผู้แปล : ริชาร์ด นิกสัน (Richard Nixon) ประธานาธิบดีคนที่ 37 แห่งสหรัฐ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ ค.ศ. 1969 จนถึง ค.ศ. 1974
IMF นั้นถือเป็นผู้ให้กู้ยืมแหล่งสุดท้าย (Lender of Last Resort) และธนาคารโลกก็คือธนาคารเพื่อการพัฒนาที่ใหญ่ที่สุดในโลก ทั้งสององค์กรนี้ทำหน้าที่ภายใต้นามของบรรดาเจ้าหนี้รายใหญ่ของพวกเขา ซึ่งตามประวัติศาสตร์แล้วเจ้าหนี้พวกนี้ก็คือสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เยอรมนี และญี่ปุ่น
สำนักงานของ IMF และธนาคารโลก ณ กรุงวอชิงตัน ดีซี
องค์กรพี่น้องเหล่านี้ (ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วพวกเขาทำงานด้วยกัน และใช้สำนักงานใหญ่ร่วมกันที่กรุงวอชิงตัน ดีซี) ถือกำเนิดขึ้นจากการประชุมเบรนตันวูด ในรัฐนิวแฮมป์เชียร์ เมื่อปี 1944 ในฐานะ “สองเสาหลัก” ของระเบียบการเงินโลกใหม่ที่นำโดยสหรัฐอเมริกา ซึ่งโดยตามธรรมเนียมแล้วธนาคารโลกจะนำโดยชาวอเมริกัน ส่วน IMF นั้นจะนำโดยชาวยุโรป
จุดประสงค์แรกในการก่อตั้ง 2 องค์กรนี้ขึ้นมาก็เพื่อช่วยฟื้นฟูกลุ่มประเทศในยุโรปและญี่ปุ่นที่เสียหายจากสงคราม
- ธนาคารโลกจะมุ่งเน้นในการปล่อยกู้โครงการที่เกี่ยวกับการฟื้นฟูและพัฒนาเป็นรายโครงการไป
- กองทุน IMF จะรับมือในส่วนของปัญหาด้านดุลการชำระเงิน (บัญชีรายรับรายจ่าย) ของประเทศต่าง ๆ ผ่าน “เงินให้กู้เพื่อการช่วยเหลือ” เพื่อให้การค้าขายยังสามารถดำเนินต่อไปได้ถึงแม้ว่าบางประเทศจะไม่มีเงินเพื่อนำเข้าสินค้าก็ตาม
ชาติต่าง ๆ จำเป็นที่จะต้องเข้าร่วมกับ IMF เพื่อเข้าถึงสิ่งที่พวกเขาเรียกว่า “สิทธิพิเศษ” จากธนาคารโลก ซึ่งทุกวันนี้มีชาติสมาชิกกว่า 190 ประเทศ เมื่อแต่ละประเทศเข้าร่วมเป็นสมาชิกแล้วก็จะต้องทำการฝากเงินสกุลท้องถิ่นของตนและสกุลเงินที่มีความมั่นคงที่สูงไว้ (โดยปกติก็จะเป็นดอลลาร์สหรัฐ เงินสกุลประเทศในยุโรป หรือทองคำ) ซึ่งจะกลายเป็นแหล่งเงินทุนสำรองของเหล่าบรรดาประเทศสมาชิก
เมื่อมีประเทศสมาชิกเผชิญปัญหาด้านดุลการชำระเงินอย่างต่อเนื่องจนไม่สามารถจ่ายหนี้คืนได้ กองทุน IMF จะมอบวงเงินให้กู้ที่มาจากแหล่งเงินทุนสำรอง โดยคำนวณปริมาณจากเงินที่พวกเขาฝากเข้ามาในตอนต้น และคูณตัวเลขเพื่อให้ทวีคูณขึ้นไป บนเงื่อนไขที่มีต้นทุนที่แพงมากขึ้นเรื่อย ๆ
ในทางปฏิบัติแล้ว กองทุน IMF ทำหน้าที่เป็นเสมือนธนาคารกลางของโลกที่มีอำนาจอยู่เหนือทุกประเทศ เพราะนับตั้งแต่ปี 1969 กองทุน IMF ได้ออกเงินสกุลของตัวเองที่เรียกว่า “สิทธิพิเศษถอนเงิน” (Special Drawing Rights: SDR) โดยคำนวณมูลค่าจากตะกร้าเงินที่มีสกุลเงินชั้นนำของโลกสำรองอยู่ โดยทุกวันนี้สกุลเงิน SDR ถูกหนุนหลังด้วย :
- เงินดอลลาร์สหรัฐ ร้อยละ 45
- เงินยูโร ร้อยละ 29
- เงินหยวน ร้อยละ 12
- เงินเยน ร้อยละ 7
- เงินปอนด์ ร้อยละ 7
โดยในปัจจุบัน IMF มีความสามารถในการปล่อยกู้ได้ทั้งหมด 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (หรือเป็นตัวเลข 1,000,000,000,000 ดอลลาร์ฯ)
ในช่วงระหว่างปี 1960 - 2008 กองทุน IMF ให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาเป็นหลัก ด้วยเงินกู้ยืมระยะสั้นดอกเบี้ยสูง และด้วยความที่สกุลเงินของประเทศที่กำลังพัฒนาเหล่านี้ไม่ได้เป็นที่ต้องการในตลาดโลก ทำให้ไม่สามารถใช้สกุลเงินประจำชาติซื้อสินค้าและบริการจากต่างประเทศได้ ประเทศกำลังพัฒนาจึงจำเป็นต้องหาเงินสกุลต่างประเทศที่แข็งแกร่งผ่านการส่งออกสินค้า
โดยมีหลายประเทศ (เช่น ศรีลังกา และโมซัมบิค) ที่มักประสบปัญหาในการหาเงินไม่ทัน ส่งผลให้เงินหมดคลังบ่อยครั้ง แตกต่างจากสหรัฐอเมริกาที่สามารถเสกเงินสกุลของตัวเองมาใช้เป็นสกุลเงินสำรองหลักของโลกได้ โดยเมื่อถึงจุดที่เงินหมดคลังนั้น รัฐบาลส่วนใหญ่ โดยเฉพาะรัฐบาลเผด็จการ มักจะใช้วิธีแก้ปัญหาแบบง่าย ๆ ที่ต้องแลกมากับอนาคตของประเทศตัวเอง นั่นก็คือการเลือกที่จะกู้เงินจากกองทุน IMF
ในส่วนของธนาคารโลกนั้น ทางธนาคารได้แถลงไว้ว่างานของพวกเขาคือการมอบวงเงินกู้ให้แก่ประเทศกำลังพัฒนาเพื่อ “ลดความยากจน เพิ่มความเจริญรุ่งเรือง และส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน” โดยมีการแบ่งโครงสร้างธนาคารออกเป็นหลายส่วน ตั้งแต่ :
- ธนาคารระหว่างประเทศเพื่อการบูรณะและพัฒนา (International Bank for Reconstruction and Development: IBRD) ที่มุ่งเน้นการปล่อยเงินกู้ก้อนใหญ่แบบดอกเบี้ยสูงให้กับประเทศกำลังพัฒนา เช่น บราซิล หรือ อินเดีย
- สมาคมการพัฒนาระหว่างประเทศ (International Development Association: IDA) ที่มุ่งเน้นการปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำและมีระยะเวลาปลอดดอกเบี้ยระยะยาวให้กับกลุ่มประเทศที่ยากจน
โดยวิธีที่ IBRD ใช้กอบโกยเงินให้ตนเองและพวกพ้องนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะปรากฏการณ์แคนทิลอน (Cantillon Effect) จากการที่ IBRD สามารถได้รับวงเงินกู้ยืมที่มีเงื่อนไขแสนเป็นมิตรจากเจ้าหนี้ของพวกเขา และจากนักลงทุนในตลาดเอกชนที่สามารถเข้าถึงเงินกู้ต้นทุนต่ำได้ จากนั้น IBRD จะนำเงินเหล่านี้ไปปล่อยกู้ต่อ ในอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ให้กับกลุ่มประเทศยากจนที่ไม่มีช่องทางเข้าถึงเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำดังกล่าว
โดยปกติธนาคารโลกจะปล่อยกู้เป็นเฉพาะโครงการหรือเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรม และมุ่งเน้นไปยังการอำนวยความสะดวกในการส่งออกทรัพยากร (เช่น การให้เงินทุนสนับสนุนการสร้างถนน อุโมงค์ เขื่อน และท่าเรือที่จำเป็นสำหรับการขุดแร่ เพื่อส่งออกไปยังตลาดระหว่างประเทศ) และมีการปรับเปลี่ยนการทำการเกษตรเพื่อการบริโภคแบบดั้งเดิม ไปสู่การเกษตรเชิงอุตสาหกรรม หรือไม่ก็อุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เพื่อให้ประเทศเหล่านั้นสามารถส่งออกสินค้าและอาหารให้กับประเทศทางตะวันตกได้มากขึ้น
สิทธิในการโหวตของเหล่าสมาชิกธนาคารโลกและกองทุน IMF นั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนประชากรของแต่ละประเทศ แต่กลับมีอิทธิพลมาจากสิ่งที่ถูกกำหนดขึ้นตั้งแต่เมื่อ 7 ทศวรรษก่อน เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับสหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่นได้มีสิทธิ์เหนือประเทศอื่น ๆ ในโลก ซึ่งการครอบงำเหล่านี้เพิ่งจะเริ่มเสื่อมถอยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี่เอง
ทุกวันนี้สหรัฐอเมริกามีสัดส่วนคะแนนโหวตในธนาคารโลกร้อยละ 15.6 และร้อยละ 16.5 ในกองทุน IMF ซึ่งถือว่าเยอะกว่าหลายประเทศเป็นอย่างมาก..
มันมากพอที่จะใช้ลงมติยับยั้งการตัดสินใจในเรื่องใด ๆ ที่สำคัญมาก ๆ ได้โดยไม่ต้องพึ่งพาเสียงจากประเทศอื่นแต่อย่างใด เพราะการตัดสินใจในระดับใหญ่ ๆ ได้ถูกกำหนดทั้งในธนาคารและในกองทุนเอาไว้แล้วว่าจะต้องได้รับคะแนนเสียงร้อยละ 85 โดยในกลุ่มประเทศชั้นนำนั้น :
- ญี่ปุ่นมีสัดส่วนคะแนนโหวตในธนาคารโลกร้อยละ 7.35 และร้อยละ 6.14 ในกองทุน IMF
- เยอรมนีนั้นมีสัดส่วนคะแนนโหวตในธนาคารโลกร้อยละ 4.21 และร้อยละ 5.31 ในกองทุน IMF
- ฝรั่งเศสและสหราชอาณาจักรนั้นมีสัดส่วนคะแนนโหวตของในธนาคารโลกประเทศร้อยละ 4.21 และร้อยละ 5.31 ในกองทุน IMF เท่ากัน
แต่ในอีกด้านหนึ่ง ประเทศอินเดียซี่งมีประชากรกว่า 1.4 พันล้านคน กลับมีสัดส่วนคะแนนโหวตในธนาคารโลกเพียงร้อยละ 3.04 และร้อยละ 2.63 ในกองทุน IMF ซึ่งน้อยกว่าประเทศที่เคยเป็นเจ้าอาณานิคมของพวกเขาด้วยซ้ำ ทั้งที่อินเดียมีประชากรมากกว่าถึง 20 เท่าก็ตาม
ในขณะที่ประเทศจีนที่มีประชากรถึง 1.4 พันล้านคนนั้น มีสัดส่วนคะแนนโหวตในธนาคารโลกร้อยละ 5.70 และร้อยละ 6.08 ในกองทุน IMF ซึ่งมีสัดส่วนใกล้เคียงกับเนเธอร์แลนด์ แคนาดา และออสเตรเลียรวมกัน
ประเทศที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคลาตินอเมริกาและภูมิภาคแอฟริกา เช่น บราซิลและไนจีเรีย กลับมีสัดส่วนคะแนนโหวตพอ ๆ กับอดีตจักรวรรดิที่เข้าสู่ยุคเสื่อมถอยเต็มตัวอย่างประเทศอิตาลี
ส่วนประเทศเล็กจิ๋วอย่างสวิตเซอร์แลนด์ที่มีประชากรเพียง 8.6 ล้านคนนั้น มีสัดส่วนคะแนนโหวตในธนาคารโลกร้อยละ 1.47 และร้อยละ 1.17 ในกองทุน IMF ซึ่งใกล้เคียง กับประเทศปากีสถาน อินโดนีเซีย บังกลาเทศ และเอธิโอเปียรวมกัน ถึงแม้ว่าสวิตเซอร์แลนด์จะมีประชากรน้อยกว่าถึง 90 เท่าก็ตาม
คำอธิบายชาร์ต : จำนวนประชากรเมื่อเทียบกับสัดส่วนคะแนนโหวตในกองทุนการเงินระหว่างประเทศ
- แถวซ้ายสีดำ : จำนวนประชากรในปี 2022 หน่วยหลักล้านคน
- แถวขวาสีส้ม : สัดส่วนคะแนนโหวตใน IMF เป็นหน่วยร้อยละ
- แหล่งที่มาของข้อมูล : IMF ———–
สัดส่วนคะแนนโหวตเหล่านี้สมควรที่จะใกล้เคียงกับสัดส่วนของประชากรบนโลกที่แต่ละประเทศมีกัน แต่ด้วยโครงสร้างที่เหมือนยกมาจากยุคระบอบจักรวรรดิ ทำให้เห็นได้ชัดว่าการตัดสินใจต่าง ๆ นั้นกระทำกันอย่างไร ซึ่งถึงแม้การยกเลิกอาณานิคมจะผ่านมานานกว่า 65 ปีแล้วก็ตาม
แต่ชาติอุตสาหกรรมที่ทรงพลัง ซึ่งนำโดยสหรัฐอเมริกา ก็ยังสามารถควบคุมการค้าและการปล่อยกู้ของโลกได้เกือบจะเบ็ดเสร็จ ในขณะที่ประเทศยากจนแทบจะไม่มีสิทธิ์มีเสียงอะไรเลย
นอกจากนี้กลุ่มจี 5 (สหรัฐฯ ญี่ปุ่น เยอรมนี สหราชอาณาจักร และฝรั่งเศส) ได้ควบคุมคณะกรรมการบริหารของ IMF ไว้ทั้งหมด แม้ว่าสัดส่วนประชากรประเทศเหล่านี้จะถือเป็นส่วนน้อยของประชากรโลกก็ตาม ส่วนกลุ่มจี 10 รวมกับประเทศไอร์แลนด์ ออสเตรเลีย และเกาหลีนั้น มีสัดส่วนคะแนนโหวตรวมกันมากกว่าร้อยละ 50 ซึ่งหมายความว่าเพียงสหรัฐอเมริกากดดันชาติพันธมิตรแค่นิดเดียวก็สามารถกำหนดผลการตัดสินใจได้ แม้กระทั่งเรื่องการอนุมัติปล่อยเงินกู้เป็นราย ๆ ที่ซึ่งต้องใช้เสียงข้างมากในการตัดสินใจ
และเพื่อเป็นการเสริมอำนาจของ IMF ที่มีวงเงินในการปล่อยกู้กว่าหนึ่งล้านล้านดอลลาร์สหรัฐอยู่แล้วนั้น ทางธนาคารโลกเองก็อ้างอีกว่าได้ให้เงินกู้มากกว่า 350,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐแก่ประเทศมากกว่า 150 ประเทศ ซึ่งมูลค่าการปล่อยกู้เหล่านี้ได้พุ่งขึ้นสูงมากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากองค์กรในเครือได้ปล่อยเงินกู้มูลค่านับแสนล้านดอลลาร์สหรัฐให้แก่รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ที่ทำการล็อกดาวน์เศรษฐกิจของตัวเองเพื่อรับมือกับโรคระบาด COVID-19
ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ธนาคารและกองทุน IMF ได้วางแผนและเตรียมการทำข้อตกลงเพื่อที่จะให้ “ความช่วยเหลือ” แก่รัฐบาลที่ตกอยู่ในความเสี่ยงจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างดุดันและต่อเนื่อง โดยบรรดาลูกหนี้เหล่านี้มักจะเป็นพวกละเมิดสิทธิมนุษยชนที่กู้เงินตามอำเภอใจและไม่ฟังเสียงของประชาชน..ประชาชนซึ่งสุดท้ายจะกลายเป็นผู้ที่ต้องรับภาระในการใช้คืนเงินกู้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย
ตัวอย่างเช่น ณ ตอนนี้ IMF กำลังให้ความช่วยเหลือทางการเงินต่อผู้นำเผด็จการของประเทศอียิปต์อย่าง อับเดล ฟัตตอห์ เอล-ซิซี (ซึ่งเป็นผู้สั่งการสังหารหมู่ผู้ประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่จัตุรัสเทียนอันเหมิน) เป็นมูลค่า 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และในช่วงปีที่ผ่านมาทางธนาคารโลกก็ได้ปล่อยเงินกู้มูลค่า 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐให้แก่รัฐบาลประเทศเอธิโอเปียที่กำลังทำการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในเขต Tigray
หมายเหตุผู้แปล : อับเดล ฟัตตอห์ เอล-ซิซี (Abdel Fattah El-Sisi) เป็นประธานาธิบดีคนที่ 6 และคนปัจจุบันของสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ โดยดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2014
ผลกระทบสะสมที่เพิ่มขึ้นมาจากการปล่อยกู้ของทั้งธนาคารโลกและกองทุน IMF นั้นมหาศาลกว่าตัวเลขที่ระบุอยู่ในเอกสารการกู้เงินมาก เนื่องจากการปล่อยกู้ขององค์กรเหล่านี้จะผลักดันให้เกิดความช่วยเหลือแบบทวิภาคี (ความช่วยเหลือจากทั้งภาครัฐและเอกชน) โดยมีการประมาณการว่า “จากเงินทุก ๆ 1 ดอลลาร์ที่ IMF ได้ปล่อยกู้ให้กับประเทศโลกที่สามนั้น จะช่วยให้ประเทศเหล่านี้สามารถกู้เงินได้เพิ่มและสามารถปรับเงื่อนไขโครงสร้างของเงินกู้เดิมได้รวมกันอีก 4-7 ดอลลาร์จากธนาคารพาณิชย์และจากรัฐบาลของประเทศที่ร่ำรวย”
และเช่นเดียวกัน หากธนาคารโลกและกองทุน IMF ปฏิเสธที่จะให้บางประเทศกู้เงิน ทั้งโลกก็จะปฏิบัติตามทันที
มันเป็นการยากที่จะพูดให้เกินจริงถึงผลกระทบในวงกว้างที่ธนาคารโลกและกองทุน IMF กระทำต่อเหล่าประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะในช่วงเวลาหลายทศวรรษนับตั้งแต่การก่อตั้งองค์กรขึ้นมาหลังช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งพอถึงช่วงปี 1990 และหลังจากสงครามเย็นยุติลง IMF ก็ได้ปล่อยเงินกู้ให้ประเทศในทวีปแอฟริกาไปถึง 41 ประเทศ ในแถบลาตินอเมริกา 28 ประเทศ ในเอเชีย 20 ประเทศ ในภูมิภาคตะวันออกกลาง 8 ประเทศ และในยุโรปอีก 5 ประเทศ ซึ่งกระทบต่อผู้คนมากกว่า 3 พันล้านคน หรือประชากรถึง 2 ใน 3 ของทั้งโลก ส่วนธนาคารโลกนั้นปล่อยเงินกู้ให้แก่ประเทศมากกว่า 160 ประเทศ
และน่าเศร้าที่องค์กรเหล่านี้ยังคงสถานะเป็นสถาบันการเงินระหว่างประเทศที่มีความสำคัญที่สุดในโลกอีกด้วย..
⚡️ กด Zap ที่ลิงก์นี้ เพื่อเป็นกำลังใจทีมงานผู้เรียบเรียงบทความ
(ทุกยอด zap จะถูกแบ่งอัตโนมัติเข้าวอลเล็ทของผู้เขียนบทความต้นฉบับภาษาอังกฤษ, ผู้แปลดราฟต์ 1, ผู้เรียบเรียงดราฟต์ 2-3, กองบรรณาธิการและพิสูจน์อักษรจากไรท์ชิฟต์ พร้อมกันบางส่วนไว้เพื่อเป็นค่าธรรมเนียมธุรกรรม)